- บทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary)
- เนเธอร์แลนด์มีประชากรจำนวนประมาณ 18.23 ล้านคน ณ สิ้นปี 2567 โดยประชากรของเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 136,218 คน ระหว่างปี 2566 – 2567 มีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตถึง 17.47 ล้านคน ณ เดือนมกราคมปี 2567 จำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้น 53,000 คน (+ร้อยละ 0.3) ในระหว่างปี 2566 และ 2567 การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ร้อยละ 99 ของประชากรทั้งหมด ณ ต้นปี 2567 โดยผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตประมาณร้อยละ 94 ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ และประมาณร้อยละ 46.4 ใช้งานผ่าน Tablet
- ในปี 2567 รายได้ต่อหัวของประชากรชาวเนเธอร์แลนด์อยู่ในอันดับที่ 4 ของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป รองจากลักเซมเบิร์ก ไอร์แลนด์ และเดนมาร์ค จึงเป็นประเทศที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ปัจจุบันการค้าออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ตลาด E-Commerce ของเนเธอร์แลนด์มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 35 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนเธอร์แลนด์เป็นตลาด E-commerce ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ในยุโรป และการซื้อสินค้าออนไลน์คิดเป็นมูลค่ามากกว่าร้อยละ 3 ของ GDP และผู้บริโภคชาวเนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายสินค้าออฟไลน์จะมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ร้อยละ 37 ในปี 2568 และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 และร้อยละ 41 ในปี 2569 และปี 2570 ตามลำดับ
- 3 ผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาด E-commerce เนเธอร์แลนด์ในปี 2567 คือ
(1) Bol.com มีมูลค่าซื้อขาย 4.30 พันล้านยูโร
(2) Albert Heijn มีมูลค่าซื้อขาย 80 พันล้านยูโร
(3) Coolblue มีมูลค่าซื้อขาย 1.55 พันล้านยูโร
- การสั่งซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ของชาวดัตช์โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งซื้อจากเว็บไซต์ที่จดทะเบียน domain name ในประเทศเนเธอร์แลนด์ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมถึงร้อยละ 96 ของมูลค่าการค้าออนไลน์ เนื่องจากเป็นภาษาดัตช์ วิธีการชำระเงินโดยระบบ iDEAL การส่งสินค้าที่รวดเร็ว และความสะดวกของผู้ซื้อในการคืนสินค้า
- ชาวดัตช์เป็นชนชาติที่ประหยัด ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าทางด้านคุณภาพและราคามากเป็นพิเศษ ผู้บริโภคจึงมักใช้ Social Media, Google review และฟังก์ชั่นรีวิวสินค้าใน Webshop หรือแอพพลิเคชั่นสินค้าในการหาข้อมูลสินค้า/บริการ รวมถึงเปรียบเทียบราคาจากผู้ขายรายอื่นทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้า
- การขยายตัวของ E-Commerce ในเนเธอร์แลนด์เป็นโอกาสสำหรับสินค้าไทยหลายชนิด ทั้งสินค้าที่มีการส่งออกไปเนเธอร์แลนด์แล้ว และสินค้าที่ยังไม่มีการส่งออกโดยเฉพาะกลุ่ม Niche Products อีกทั้งในปัจจุบันสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสินค้าที่มีความยั่งยืนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นและกำลังเข้ามาแทนที่สินค้าทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ E-Commerce กับเนเธอร์แลนด์ รวมถึงต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจ E-Commerce สามารถประสบความสำเร็จได้ในตลาดนี้
- ข้อมูลทั่วไป (Country Overview)
ข้อมูลขนาดเศรษฐกิจของประเทศ (GDP)
- GDP 1.27 trillion US$ (nominal) (คาดการณ์ปี 2568)
ข้อมูลสถิติเชิงภูมิศาสตร์ประชากร (Age/Gender/Education/Etc.)
- จำนวนประชากร 18.04 ล้านคน แบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 49.71 เพศหญิงร้อยละ 50.29
- การศึกษาขั้นต่ำ : กำหนดให้ประชาชนต้องได้รับการศึกษาจนถึงอายุ 16 ปี เป็นอย่างน้อย
- ภาษา : ดัตช์ และฟรีเซียน โดยในกลุ่มนักธุรกิจสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับดีมาก
ข้อมูลระดับรายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per Capita)
- GDP Per Capita 70,610 US$ (nominal) (คาดการณ์ปี 2568)
ข้อมูลผู้ใช้งาน (Population/Internet Users/Mobile User/Online Shoppers)
- ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมีจำนวน 17.47 ล้านคน
- ผู้ใช้งานและการเชื่อมต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่มีจำนวน 23.31 ล้านเครื่อง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 132.1 ของจำนวนประชากร
- ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มีจำนวน 16.42 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 94 ของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต
- ผู้ซื้อสินค้าผ่าน E-commerce มีจำนวน 13.80 ล้านคน
- ผู้ใช้ Social Media มีจำนวน 15.0 ล้านคน โดยร้อยละ 85.9 ใช้ Social Media อย่างน้อย 1 แพลตฟอร์ม
ข้อมูลด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลที่เกี่ยวข้อง (Digital Infrastructure)
- เนเธอร์แลนด์ได้รับการจัดอันดับความเร็วอินเตอร์เน็ตอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลกจากความเร็วในการดาวน์โหลดด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile) และอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลกจากความเร็วในการดาวน์โหลดด้วยบรอดแบนด์แบบคงที่ (Fixed Broadband) ค่าเฉลี่ยความเร็วอินเตอร์เน็ตสำหรับการดาวน์โหลดด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile) คือ 170.70 Mbps เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยความเร็วสำหรับการดาวน์โหลดด้วยบรอดแบนด์แบบคงที่ (Fixed Broadband) คือ 201.73 Mbps
- เนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำด้านดิจิทัลด้วยอัตราการนำเทคโนโลยีมาใช้ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปและสหรัฐอเมริกาสำหรับแพลตฟอร์ม Internet of Thing (IoT) และ Big Data
- เนเธอร์แลนด์ได้รับการจัดอันดับเป็นที่หนึ่งในด้าน Digital Intensity จาก European Investment Bank โดยมีภาคบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่ยินดีและพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี
- เนเธอร์แลนด์จัดเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของสมาชิกสหภาพยุโรปเรื่องความครอบคลุมของ Broadband และมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของยุโรปที่ให้บริการการเชื่อมต่อคุณภาพสูงที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและมีราคาที่สามารถแข่งขันได้ทุกที่ทุกเวลา
- ไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ครัวเรือนในเนเธอร์แลนด์ที่มีการติดตั้งการเชื่อมต่อ Fiber Optic แล้ว มีจำนวน 7.94 ล้านครัวเรือน
- บริษัทโทรคมนาคมที่ให้บริการ Broadband Internet ขนาดใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ VodafoneZiggo และ KPN ซึ่งทั้งสองบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดใกล้เคียงกันอยู่ระหว่างร้อยละ 35-45 ทั้งนี้ บริษัท VodafoneZiggo มีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาซึ่งเคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ระหว่างร้อยละ 40-45 ตามด้วย Odido เดิมชื่อ T-Mobile Netherlands มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ระหว่างร้อยละ 10-15 ส่วนบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์ คือ KPN มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ระหว่างร้อยละ 30-35
ข้อมูลความเป็นอยู่และค่านิยมพฤติกรรมการกินอยู่ใช้ในภาพรวมของคนในประเทศ (Consumer Behaviors)
- ชาวดัตช์เป็นชนชาติที่ประหยัดมัธยัสถ์ ไม่นิยมซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เสื้อผ้าเครื่องประดับราคาแพง แต่จะให้ความสำคัญกับการตกแต่งบ้าน การท่องเที่ยว นิยมออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และนิยมสั่งอาหารจากร้านอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นมารับประทานที่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แม้ว่าหลังจากสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ชาวดัตช์เริ่มมีการใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภท Fast Fashion แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลให้เกิดวิกฤตพลังงานและวิกฤตเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป แม้ว่าอัตราค่าจ้างแรงงานในเนเธอร์แลนด์จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง แต่ประชาชนยังคงเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพ ทำให้ชาวดัตช์ยังคงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัดและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจใช้จ่าย
- ชาวดัตช์นิยมจ่ายเงินโดยใช้ Debit Card และระบบ iDEAL ซึ่งตัดเงินสดจากบัญชีทันที
- รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีนโยบายสนับสนุนการใช้เงินในลักษณะ Cashless เพื่อป้องกันการฟอกเงิน และการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้ประกอบการ แต่ผู้บริโภคกลุ่ม Baby Boomer หรือผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี จะยังนิยมการใช้เงินสดมากกว่า
- ข้อมูลตลาดออนไลน์ (E-Commerce Market)
ภาพรวมและแนวโน้มการค้าออนไลน์ของประเทศ (E-Commerce Ecosystem Overview)
- ตลาด E-Commerce ของเนเธอร์แลนด์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ในยุโรป กว่าร้อยละ 3 ของ GDP มาจากการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์
- ในปี 2567 เนเธอร์แลนด์มีผู้บริโภคที่ใช้บริการร้านค้าออนไลน์ร้อยละ 92 โดยผู้บริโภคเพศหญิงกว่าร้อยละ 91.5 ใช้บริการร้านค้าออนไลน์ในการซื้อสินค้าและบริการ และผู้บริโภคเพศชายประมาณร้อยละ 93.5 ใช้บริการร้านค้าออนไลน์ในการซื้อสินค้าและบริการ
- ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ร้อยละ 81 ของผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป คิดเป็นจำนวนกว่า 12.6 ล้านคนมีการซื้อสินค้าหรือบริการออนไลน์ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ร้อยละ 94 ของผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์ที่มีอายุระหว่าง 25-44 ปีมีการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์บ่อยครั้ง ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากที่สุด ร้อยละ 41 ของผู้บริโภคเนเธอร์แลนด์ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปมีการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ แต่ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 65-74 ปี มีการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ร้อยละ 73 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ64 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของผู้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากที่สุด
- ปี 2566 ตลาด E-commerce ของเนเธอร์แลนด์มีมูลค่า 35 พันล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ร้อยละ 3 และมีคำสั่งซื้อออนไลน์มากกว่า 365 ล้านคำสั่งซื้อ ในปี 2567 คาดว่าตลาด E-commerce เนเธอร์แลนด์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากปี 2566
- ในปี 2567 เนเธอร์แลนด์มีเว็ปไซต์ E-commerce, Online Stores / Webshops และบริษัท Mail Order จำนวน 95,405 ราย
- สินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงในเนเธอร์แลนด์ คือ สินค้าเสื้อผ้าและแฟชั่น สินค้าอาหาร และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบันเทิง อาทิ แพคเกจการเดินทางท่องเที่ยว ตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก บัตรเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว บัตรคอนเสิร์ต และบัตรเข้าชมงานนิทรรศการ งานเทศกาลหรือ Festival เป็นต้น
สถิติมูลค่าการซื้อขาย Online vs. Offline ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (Historical E-Commerce Statistics)
- ยอดขายออนไลน์ในปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 35 พันล้านยูโร แสดงให้เห็นว่าหน้าร้านในลักษณะ Brick & Mortar ยังมีความสำคัญสำหรับธุรกิจ ผู้บริโภคยังนิยมเลือกชมสินค้าที่หน้าร้านเพื่อได้เห็นและลองสัมผัสสินค้าจริง โดยอาจกลับไปสั่งซื้อทางออนไลน์ในภายหลังหากไม่มีขนาดที่ต้องการในร้านค้า และเพื่อความสะดวกสบายจากบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน
- ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาด E-Commerce ของเนเธอร์แลนด์มีการเติบโตกว่า 2 หมื่นล้านยูโร และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง
มูลค่าการซื้อขายบนตลาดออนไลน์แบบ B2B / C2C / (Domestic vs. Cross-Border)
- Business to Consumer (B2C) เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ com รองลงมาคือ Albert Heijn, Coolblue, Amazon และ Zalando
- Consumer to Consumer (C2C) เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ nl ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้ผู้ลงทะเบียนที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงประกาศขายสินค้าได้ในลักษณะคล้าย Ebay รองลงมา คือ E-bay.nl และ Speurders.nl ทั้ง 3 เว็บไซต์นี้มีจำนวนคำสั่งซื้อรวมกันมากกว่าร้อยละ 85 ของจำนวนคำสั่งซื้อจาก C2C E-commerce แพลตฟอร์มในเนเธอร์แลนด์
- Business to Business (B2B) มีมูลค่าการซื้อขายกว่า 34 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า แต่มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายบน B2B E-commerce แพลตฟอร์มจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 40.47 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2569
- ชาวดัตช์ร้อยละ 96 นิยมซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ที่มี Domain Name ในเนเธอร์แลนด์ มีเพียงร้อยละ 40 ของผู้บริโภคชาวดัตช์ที่สั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ต่างประเทศ Cross-border Webshop และเว็บไซต์จากสหรัฐอเมริกาและจีนเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยมและมีมูลค่าซื้อขายมากที่สุด โดยประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ สื่อและความบันเทิง (Media and Entertainment)
- การซื้อขายข้ามพรมแดนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จำนวนคำสั่งซื้อออนไลน์จากร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เป็น 20.3 ล้านคำสั่งซื้อ ซึ่งร้านค้าออนไลน์ของจีนได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ผู้บริโภคชาวดัตช์ซื้อสินค้าจากจีน 6 ล้านครั้ง โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ย 41 ยูโรต่อการสั่งซื้อหนึ่งครั้ง ซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการสั่งซื้อหนึ่งครั้งจากร้านค้าออนไลน์ในเนเธอร์แลนด์ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 101 ยูโร หรือมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการสั่งซื้อหนึ่งครั้งจากร้านค้าออนไลน์ในประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น เยอรมนี ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 110 ยูโร
ข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ (Online Consumer Behaviors)
- นอกจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แล้ว ชาวดัตช์นิยมสั่งซื้อบริการต่างๆ ผ่านทางออนไลน์ อาทิ แพคเก็จการเดินทางท่องเที่ยว บัตรคอนเสิร์ต บัตรผ่านประตูเข้างานนิทรรศการ งานเทศกาลหรือ Festival บัตรผ่านประตูสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ
- หนึ่งในปัจจัยหลักที่สำคัญที่ผู้บริโภคชาวดัตช์พิจารณาก่อนที่จะทำการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ คือ เรื่องค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคชาวดัตช์ส่วนใหญ่ไม่นิยมจ่ายค่าขนส่งเมื่อสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และผู้บริโภคชาวดัตช์มากกว่าครึ่งจะเลือกใช้การจัดส่งสินค้าถึงบ้านแบบมาตรฐาน และควรใช้เวลาในการจัดส่งสินค้าภายใน 2-3 วันหรือใช้เวลาจัดส่งสูงสุดไม่ควรเกิน 5 วัน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวดัตช์ให้ความสำคัญ ได้แก่ กระบวนการทำงานของเว็บไซต์ออนไลน์ ความยั่งยืนและความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของบรรจุภัณฑ์และการขนส่งที่ลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
- หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง และมีการยกเลิกมาตรการต่างๆ แล้ว ผู้บริโภคชาวดัตช์ก็เริ่มกลับออกมาเลือกซื้อสินค้าที่ร้านค้าและแหล่งช้อปปิ้งมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้าและรองเท้า เนื่องจากสามารถได้สัมผัสและลองสวมใส่ก่อนตัดสินใจซื้อ แต่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยนิยมไปเลือกหรือลองสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าที่ร้าน แต่สั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์
- ผู้บริโภคชาวดัตช์ประมาณร้อยละ 20 เลือกใช้บริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later : BNPL) ในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ผู้ให้บริการการชำระเงินแบบ BNPL ที่เป็นที่นิยมในเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ Klarna, Riverty (AfterPay) และ Billink
ความถี่และค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ (Shopping Frequency / Spending)
- กว่า 1 ใน 3 ของผู้บริโภคชาวดัตช์ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์
- มูลค่าการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ของผู้บริโภคชาวดัตช์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 อยู่ที่ 7.8 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของภาคบริการที่เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 8 โดยมูลค่าของการซื้อประกันออนไลน์มีการเติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 32 มูลค่าการซื้อตั๋วเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ ออนไลน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายออนไลน์ของภาคสินค้าและผลิตภัณฑ์มีการเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3 โดยมูลค่าการซื้อสินค้าออนไลน์ที่เกี่ยวกับโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 มูลค่าการซื้อสินค้าออนไลน์ที่เกี่ยวกับงาน DIY/สวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ขณะที่มูลค่าการซื้อสินค้าออนไลน์ที่เกี่ยวกับสื่อและความบันเทิงลดลงมากที่สุดที่ร้อยละ 16 ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความต้องการเกมและอุปกรณ์เสริมของ PlayStation 5 ลดลงอย่างมากจากปีก่อนหน้า
5 อันดับร้านค้าออนไลน์ / แฟลตฟอร์ม / Social Media / ช่องทางที่นิยมใช้ซื้อขายสินค้าออนไลน์
(Top 5 Online Stores in the Netherlands)
5 อันดับสินค้าและบริการที่นิยมซื้อออนไลน์ (Top 5 – Most sold online products and services)
ช่องทางการชำระเงินออนไลน์ (e-Payment) เรียงตามความนิยม
- ช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่ชาวดัตช์นิยมมากที่สุด 6 ช่องทาง ได้แก่
1) iDEAL ชาวดัตช์นิยมชำระเงินสำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยระบบ iDEAL คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินที่มีความปลอดภัยสูง เป็นการตัดเงินจากบัญชีธนาคารของผู้ใช้ โดยจะต้องใช้บัตรเดบิตกับเครื่อง e.dentifier ซึ่งเป็นเครื่องพกพาขนาดเล็กเท่าบัตรเครดิต เพื่อใส่รหัสยืนยันการจ่ายเงิน ปัจจุบันสามารถเลือกการสแกน QR code และใส่รหัสยืนยันการจ่ายเงินได้ หรือสามารถใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นทางสมาร์ทโฟนได้
2) Debit Cards การชำระเงินด้วยบัตรเดบิตคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของการซื้อสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ บัตรเดบิตที่นิยมในเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ Maestro และ Vpay
3) SEPA (Single Euro Payment Area) Direct Debit ซึ่งจะคล้ายกับ iDEAL ที่เป็นการตัดบัญชีโดยตรง แต่ SEPA จะใช้ International Bank Account Number (IBAN) ในกระบวนการชำระเงินระหว่างธนาคาร โดย SEPA ใช้ในทุกประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
4) Digital Wallets หรือ E-Wallets เป็นช่องทางการชำระเงินที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในเนเธอร์แลนด์ Digital Wallets ที่นิยมในเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ PayPal, Apple Pay และ Google Pay
5) Cash การชำระด้วยเงินสดยังคงเป็นที่ยอมรับแต่ได้รับความนิยมลดลงอย่างมาก คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 และแม้ว่าร้านค้ายังคงรับเงินสดในการชำระเงิน แต่ร้านค้าจำนวนมากกำลังพยายามปรับเปลี่ยนไปสู่ Cashless Payment แต่อย่างไรก็ตาม การชำระด้วยเงินสดยังคงเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ไม่มีบัญชีธนาคาร นักท่องเที่ยว และผู้สูงอายุ
6) Buy Now Pay Later (BNPL) Services เป็นช่องทางการชำระเงินที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่ง BNPL ให้โอกาสผู้บริโภคในการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง และการแบ่งชำระเป็นงวดๆ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 4-6 งวด ผู้ให้บริการ BNPL ที่ได้รับความนิยมในเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ Klarna, Riverty (AfterPay) และ Billink
- ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์มีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ผู้บริโภคไม่นิยมใช้บัตรเครดิต อีกทั้งมีร้านค้าบางร้านที่ไม่รับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต
ช่องทางการขนส่งสินค้า (e-Logistics)
- 5 อันดับบริษัทขนส่งพัสดุชั้นนำในเนเธอร์แลนด์ มีดังนี้
1) PostNL: เดิมชื่อ TNT NV เป็นบริษัทที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มอบหมายให้บริการไปรษณีย์สากล มีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 2 ใน 3 สำหรับการจัดส่งพัสดุภายในประเทศในตลาด B2C จุดเด่นคือการจัดส่งพัสดุภายในประเทศที่รวดเร็ว โดยร้อยละ 98 ของพัสดุถูกจัดส่งถึงลูกค้าภายใน 24 ชั่วโมง มีพนักงานกว่า 33,000 คน และตู้ล็อคเกอร์พัสดุกว่า 900 ตู้ทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์
2) DHL: เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่จากเยอรมนี มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดส่งพัสดุระหว่างประเทศ มีจุดบริการมากมายทั่วโลก มีพนักงานประมาณ 3,000 คนในเนเธอร์แลนด์ และมีจุดให้บริการ (DHL ServicePoints) ประมาณ 4,000 แห่งทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ ข้อเสียคือไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการจัดส่งภายในประเทศเนเธอร์แลนด์
3) UPS: เป็นบริษัทผู้ให้บริการขนส่งพัสดุจากสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์สูงในอุตสาหกรรมเฉพาะ มีพนักงานประมาณ 2,700 คนในเนเธอร์แลนด์ และมีจุดให้บริการประมาณ 1,450 แห่งทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ จุดเด่นคือมีชื่อเสียงในการจัดส่งที่รวดเร็ว ข้อเสียคือมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง
4) DPD: เป็นบริษัทผู้ให้บริการขนส่งพัสดุจากฝรั่งเศส มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดส่งพัสดุภายในทวีปยุโรป บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายจำนวนจุดบริการและตู้ล็อคเกอร์ให้ถึง 2,500 แห่งทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ จุดเด่นคือมีจุดให้บริการทั่วยุโรป
5) FedEx: เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ให้บริการขนส่งพัสดุทั่วโลก เป็นผู้บุกเบิกระบบการติดตามพัสดุแบบเรียลไทม์ (Real-Time Tracking) มีจุดให้บริการประมาณ 507 แห่งในเนเธอร์แลนด์ จุดเด่นคือการบริการจัดส่งพัสดุในวันเสาร์ ข้อเสียคือมุ่งเน้นธุรกิจที่สหรัฐอเมริกามากกว่ายุโรปและไม่เน้นธุรกิจที่เนเธอร์แลนด์มากนัก
ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าแบบ Cross-Border E-Commerce (Flowchart)
ข้อสังเกต/ข้อควรระวังในการทำการค้าออนไลน์ (Things to Know)
- การโฆษณาจะต้องไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด (Misleading) การให้ข้อมูลผิด เช่นประโยชน์ต่อสินค้าที่มีต่อสุขภาพโดยไม่มีข้อมูลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือรับรอง หรือให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนถือว่าเป็นการทำให้เข้าใจผิดเช่นกัน นอกจากนี้ การโฆษณาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทอื่นเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง
- การประชาสัมพันธ์ใน Social Media หากเป็นการจ้างประชาสัมพันธ์ใน Social Media จะต้องมีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ โดยอาจใช้ Hashtag เช่น #ad (Advertisement) หรือ #spon (Sponsor Post)
- ผู้ขายควรทราบพิกัดศุลกากรของสินค้าตนเอง รวมถึงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของตนในสหภาพยุโรป และแจ้งให้ผู้ซื้อทราบราคาหลังจากเสียภาษี
- ผู้ขายสินค้าออนไลน์ควรตรวจสอบกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้ามายังสหภาพยุโรปด้วย โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร และสินค้าที่มีการสัมผัสผิว โดยสามารถดูข้อมูลเบื้องต้นได้จาก https://trade.ec.europa.eu/tradehelp รวมถึงข้อกำหนดในเรื่องบรรจุภัณฑ์ https://business.gov.nl/regulation/packaging และการติดฉลากสินค้า https://business.gov.nl/regulation/labelling/
- ข้อมูลประกอบ
กฎหมาย กฎระเบียบและภาษีการประกอบธุรกิจออนไลน์ (Legal Framework, Regulations, Tax)
- กฎหมายเนเธอร์แลนด์มีผลครอบคลุมกับบุคคลและนิติบุคคลทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ทำธุรกิจโดยมีลูกค้าเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์ โดยกฎหมาย Dutch Civil Law เล่ม 7 ดังนี้
- จะต้องมีข้อมูลของผู้ขายในเว็บไซต์
- ผู้ซื้อได้รับการคุ้มครองสิทธิที่จะสามารถคืนสินค้าได้ภายใน 14 วัน (เป็นอย่างต่ำ) นับจากวันที่สินค้าส่งถึงมือผู้ซื้อ โดยไม่ต้องระบุเหตุผลในการคืนสินค้า และผู้ซื้อจะได้รับการคืนเงินค่าสินค้าเต็มจำนวน แต่จะต้องรับผิดชอบค่าส่งสินค้าคืนผู้ขายเอง
- ข้อตกลงการซื้อขาย (Purchase Agreement) เมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์จะถือว่าผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อผูกพันในข้อตกลงการซื้อขายตามกฎหมายเนเธอร์แลนด์เล่ม 6 และเล่ม 7 ทั้งนี้ตามปกติแล้วการซื้อสินค้าออนไลน์ เว็บไซต์จะมีข้อความ Terms and Conditions ให้ผู้ซื้อเลือกยินยอมก่อนถึงจะสามารถเข้าสู่หน้าต่างการชำระเงินได้ ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลการจัดทำ General Terms and Conditions ได้จาก https://business.gov.nl/regulation/general-terms-conditions/
- การรับประกันสินค้าว่าสินค้าเป็นไปตามข้อมูลในเว็บไซต์ และไม่มีการชำรุดเสียหายเมื่อส่งถึงมือลูกค้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง ในกรณีที่สินค้าชำรุดหรือเสียหายหลังจากใช้งานได้ไม่เกิน 6 เดือน ผู้ขายต้องทำการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าให้กับผู้ซื้อหากผู้ขายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้าชำรุดเสียหายจากการใช้งานผิดวิธีของผู้ซื้อ
- The EU General Data Protection Regulations หรือ GDPR มีผลบังคับใช้กับการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่อาศัยอยู่ในสหภาพยุโรป โดยการเข้าถึงข้อมูล เช่น รูปภาพ บัตรประจำตัว ข้อความที่โพสต์ลงใน Social Media หมายเลข IP ฯลฯ และการนำข้อมูลข้างต้นไปใช้จะต้องได้รับการอนุญาตจากบุคคลนั้นก่อน
- ภาษีมูลค่าเพิ่มเนเธอร์แลนด์ (BTW) สำหรับสินค้าทั่วไปมีอัตราร้อยละ 21 และร้อยละ 9 สำหรับสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เกษตรกรรม ยา และสิ่งพิมพ์
- ความเห็นของสำนักงานฯ
สินค้าที่มีศักยภาพหรือตัวอย่างกรณีศึกษาสินค้าไทย (Potential Products and / or Success Cases)
- สินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าอาหารมีการนำเข้ามาจำหน่ายในเนเธอร์แลนด์เป็นเวลานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการวางจำหน่ายในร้านค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตสินค้าเอเชีย แม้จะมีการขยายตลาดไปยังซุปเปอร์มาร์เก็ต Mainstream แล้วแต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากเท่าที่ควร ด้วยข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง อาทิ ค่าแรกเข้า ค่ากระจายสินค้า ค่าจัดเรียงสินค้า ค่า Rebate ค่าโปรโมชั่น และอื่นๆ และข้อจำกัดเรื่องพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าที่มีจำกัดของซุปเปอร์มาร์เก็ต ทำให้มีการแข่งขันกันสูงระหว่าง Suppliers ของซุปเปอร์มาร์เก็ตที่จะต้องทำยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายของซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อที่จะรักษาพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตไว้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่จำหน่ายสินค้าอาหารเอเชียเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับสินค้าไทย
- สินค้าประเภท Custom Made หรือสินค้าที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นน่าสนใจ เช่น เครื่องประดับแฟชั่น ของใช้ของตกแต่งบ้านและสวน สินค้าหัตถกรรมไทย
การเตรียมตัวผู้ประกอบการไทย (Preparation)
ผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจ E-Commerce ควรต้องเตรียมความพร้อม ดังนี้
- ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงสินค้าของคู่แข่งในตลาด เพื่อที่จะสามารถพัฒนาและนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาด และมีราคาที่เหมาะสมสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งควรศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ E-Commerce กับเนเธอร์แลนด์ด้วย
- ผู้ประกอบการควรสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า เพื่อให้สินค้ามีความโดดเด่น น่าสนใจ และทันสมัย เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าของคู่แข่งในตลาด อาทิ บรรจุภัณฑ์ที่มีความสวยงาม ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือสร้างความแตกต่างด้วย Content วิธีการสื่อสารและการนำเสนอสินค้าที่มีความน่าสนใจและเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หรือการกำหนดภาพลักษณ์สินค้าหรือแบรนด์ให้มีจุดเด่นและแตกต่าง สามารถสร้างการจดจำสินค้าหรือแบรนด์และดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้
- ผู้ประกอบการควรเลือกใช้แพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือ และมีการให้บริการที่ดี โดยเฉพาะระบบการชำระเงินที่มีความปลอดภัย และการบริการจัดส่งสินค้าที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์แนะนำสำหรับผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดออนไลน์ (Strategy recommendation for Thai Exporters)
ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ E-Commerce ในเนเธอร์แลนด์ ดังนี้
- มีวิธีการชำระเงินที่สะดวกต่อผู้ซื้อ โดยเฉพาะระบบ iDEAL ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด อย่างไรก็ตามการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต และ Digital Wallets ยังคงเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับการยอมรับสำหรับการซื้อในลักษณะ Cross-Border
- การจัดส่งสินค้าถึงผู้ซื้อ ค่าส่งสินค้า และความรวดเร็วในการส่งสินค้าถึงผู้ซื้อ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค โดยผู้บริโภคคาดหวังว่าจะไม่มีค่าส่งสินค้าและสินค้าจะถึงมือผู้ซื้อภายใน 3 วัน ในกรณีที่ซื้อจากเว็บไซต์ในเนเธอร์แลนด์ และไม่ควรเกิน 1 สัปดาห์ หากซื้อจากต่างประเทศ
- การคืนสินค้า ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิในการคืนสินค้าให้กับผู้ขายภายในระยะเวลา 14 วัน นับจากที่ได้รับสินค้าโดยไม่ต้องแจ้งเหตุผลในการคืนสินค้า ทั้งนี้ ชาวดัตช์เป็นผู้บริโภคที่มีการคืนสินค้ามากกว่า ร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เป็นการสั่งทำเป็นพิเศษ หรือ Custom Made จะไม่สามารถคืนได้
- ศูนย์กระจายสินค้า เนเธอร์แลนด์มีชื่อเสียงในเรื่องการเป็น Logistics Center ของยุโรป มีศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในยุโรปตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้สามารถจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่เนื่องจากการส่งสินค้าจากไทยถึงลูกค้าในเนเธอร์แลนด์มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลายขั้นตอนก่อนที่สินค้าจะถึงมือผู้ซื้อ ทำให้มีระยะเวลาการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น หากผู้ประกอบการสามารถจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในเนเธอร์แลนด์ได้ นอกจากจะช่วยเรื่องความรวดเร็วในการส่งสินค้าแล้ว ยังทำให้สามารถคำนวณราคาสินค้าที่รวมค่าขนส่ง ภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย
- ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ในเนเธอร์แลนด์ เช่น com, Coolblue, Amazon และ Zalando ซึ่งเป็นช่องทางการเจาะตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างมากและมีจำนวนผู้ซื้อและยอดจำหน่ายสินค้าออนไลน์สูงในธุรกิจ E-commerce เนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ ข้อดีของการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่นิยม ได้แก่ การบริการแบบครบวงจร การบริการจัดการด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบบการจัดส่งสินค้าที่เชื่อถือได้ ระบบการชำระเงินที่ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ส่งผลให้สามารถเจาะและขยายตลาดได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการควรต้องคำนึงถึงคือค่าใช้จ่ายสำหรับบริการต่างๆ เหล่านี้ เพื่อที่จะพิจารณาต้นทุนทางธุรกิจและสามารถกำหนดราคาได้อย่างเหมาะสม
กลยุทธ์แนะนำภาครัฐในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดออนไลน์ (Strategy recommendation for Government)
- ภาครัฐควรส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย เช่น การจัดหลักสูตรฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ความรู้ด้านการตลาดดิจิทัล การจัดการธุรกิจ E-commerce การจัดการระบบโลจิสติกส์ และทักษะอื่นๆ รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทยในการทำธุรกิจ E-commerce
- ภาครัฐควรเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อาทิ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบการชำระเงินออนไลน์ที่มีความปลอดภัย และระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการลดต้นทุนทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ E-commerce
- ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ E-commerce
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก