รายงานสถานการณ์การส่งออกของบังกลาเทศ เดือนเมษายน 2568

ภาพรวมการส่งออก

สื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบังกลาเทศ รายงานว่า ในเดือนเมษายน 2568 บังกลาเทศเผชิญระดับการส่งออกต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นภาคการส่งออกหลักของประเทศ การชะลอตัวดังกล่าวเกิดจากวิกฤตพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของโรงงาน ส่งผลให้ผู้ส่งออกมีรายได้รวม 3.01 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.86 จากปีก่อน

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกกว่าร้อยละ 75 ของประเทศ พบว่าการส่งออกในเดือนเมษายนเติบโตเพียงร้อยละ 0.44 เมื่อเทียบรายปี แม้ว่าผลิตภัณฑ์จากการถัก (Knitting) จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์เครื่องทอกลับลดลง โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมรอบกรุงธากา ซึ่งได้รับผลกระทบจากแรงดันก๊าซที่ลดลง (โรงงานอุตสาหกรรมบังกลาเทศใช้พลังงงานจากก๊าซ)

โรงงานสิ่งทอหลายแห่งต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือเพียงร้อยละ 30-40 ของความสามารถในการผลิตตามปกติ เนื่องจากการจัดสรรก๊าซไปยังโรงงานผลิตไฟฟ้ามีความจำเป็นสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพลังงานในภาคอุตสาหกรรม

นายชามส์ มาห์มูด กรรมการผู้จัดการของบริษัท Shasha Denims และเป็นประธานของ BTCCI (Bangladesh Thailand Chamber of Commerce and Industry) ระบุว่าความไม่แน่นอนด้านพลังงานส่งผลให้บริษัทรับคำสั่งซื้อน้อยลง และหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข การเติบโตของการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวลง

ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และผลกระทบต่อการค้า

นอกจากปัญหาด้านพลังงานแล้ว บังกลาเทศยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากมาตรการทางภาษีใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลทรัมป์ได้ประกาศภาษีตอบโต้ร้อยละ 37 จากอัตราภาษีเดิมร้อยละ 16 ส่งผลให้ผู้ส่งออกเกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบังกลาเทศกำลังใช้ช่วงเวลาเจรจา 90 วันเพื่อหาทางลดอัตราภาษี โดยผู้ส่งออกบางรายรายงานว่ามีผู้ซื้อในสหรัฐฯ ที่เร่งสั่งซื้อสินค้าเพื่อใช้ประโยชน์จากระยะเวลาผ่อนปรน

บังกลาเทศเป็นผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่อันดับสามไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ารวม 90,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2567 ประเทศส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 7.34 พันล้านเหรียญ เติบโตร้อยละ 35.95 เมื่อเทียบรายปี

แนวโน้มเศรษฐกิจและดุลการชำระเงิน

แม้ว่าการส่งออกเดือนเมษายนจะมีการเติบโตที่ต่ำ แต่การส่งออกโดยรวมในปีงบประมาณนี้เติบโตร้อยละ 9.83 มาอยู่ที่ 40.20 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าแนวโน้มดุลการชำระเงินของบังกลาเทศกำลังดีขึ้น โดยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงถึงร้อยละ 75 จาก 4.44 พันล้านเหรียญในปีก่อนเหลือเพียง 1.11 พันล้านเหรียญในปีนี้ ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 21.4 พันล้านเหรียญ ซึ่งเพียงพอต่อการนำเข้าสินค้ากว่า 4 เดือน

นายอชิคูร์ ราห์มาน นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันวิจัยนโยบายแห่งบังกลาเทศ กล่าวว่า การเติบโตของภาคส่งออกและการโอนเงินจากแรงงานในต่างประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างไม่มั่นคง

สรุปและข้อเสนอแนะ

การส่งออกของบังกลาเทศในเดือนเมษายนได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านพลังงานและภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ส่งผลให้ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มมีการขยายตัวต่ำ แม้ว่าการส่งออกโดยรวมจะยังคงเติบโต

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลควรเร่งหาทางแก้ไขวิกฤตพลังงาน โดยเฉพาะการจัดหาก๊าซให้มีแรงดันเพียงพอ รวมถึงใช้แนวทางการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากอัตราภาษีใหม่

หากสถานการณ์พลังงานสามารถฟื้นตัว และการเจรจาภาษีมีผลบวก การส่งออกของบังกลาเทศอาจกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

ที่มา www.tbsnews.net

thThai