เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรู (นาง Desilu Leon) ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตาหกรรมของอินเดีย (นาย Piyush Goyal) เข้าร่วมการประชุมทวิภาคีในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างเปรูกับอินเดีย ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการประกาศเร่งการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเปรูและอินเดีย ซึ่งเริ่มต้นการเจรจาตั้งแต่ปี 2561 และทั้ง 2 ฝ่ายมีการเจรจามาแล้ว 7 รอบ จากการประชุมดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวของเปรูได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของตลาดอินเดีย ปัจจุบันอินเดียเป็นพันธมิตรทางการค้ารายใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียรองจากจีนและเป็นรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 โดยเปรูส่งออกไปยังอินเดียถึง 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการเติบโตขึ้นมากกว่า 86%[1] ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดียก็ได้เผยถึงความสนใจของบรรดานักธุรกิจชาวอินเดียในการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนในภาคส่วนต่าง ๆ ของเปรู อาทิ การทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมต่อทางรถไฟ การทำเหมืองแร่ การแปรรูปโลหะ สินค้าเทคโนโลยี ยาและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ สินค้าทางการเกษตรและสินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
ปัจจุบัน การเจรจาจัดทำความตกลงดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนสรุปผลการเจรจาก่อนการลงนามความตกลงฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 นับเป็นก้าวสำคัญในขยายความสัมพันธ์ทางการค้าผ่านการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีของเปรูและอินเดีย ที่จะช่วยเสริมสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเปรูกับอินเดีย เป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าและบริการของทั้งสองประเทศ และเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาด รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือในภาคส่วนต่าง ๆ ที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของทั้งสองประเทศอีกด้วย
โดยในปี 2567 อินเดียเป็นคู่ค้ารายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของเปรูรองจากจีนและสหรัฐอเมริกา การค้าระหว่างเปรูและอินเดียแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่มีมูลค่ากว่า 5,813 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่เปรูส่งออกไปยังอินเดียมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.1 ของสินค้าที่ส่งออกไปอินเดียทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 4,369 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ เปรูยังมีความโดดเด่นในด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูง โดยได้กลายมาเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์ชั้นนำของโลกในสินค้าหลายชนิด เช่น ควินัว โกโก้ บลูเบอร์รี่ อะโวคาโด ถั่วอเมซอน และมะม่วง เป็นต้น
การค้าระหว่างไทยและเปรูในปี 2567 มีมูลค่ารวม 539 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่า 148 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่เปรูนำเข้าจากไทยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรกล (พิกัดศุลกากรที่ 84) รถยนต์ (พิกัดศุลกากรที่ 87) อาหารทะเล (พิกัดศุลกากรที่ 16) ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง (พิกัดศุลกากรที่ 40) และเส้นใยสังเคราะห์ (พิกัดศุลกากรที่ 55) ตามลำดับ
ในส่วนของการค้าระหว่างไทยและอินเดียในปี 2567 มีมูลค่ารวม 17,449 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามูลค่ากว่า 5,738 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าสำคัญที่อินเดียนำเข้าจากไทยสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องจักรกล (พิกัดศุลกากรที่ 84) เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า (พิกัดศุลกากรที่ 85) พลาสติกและของที่ทำจากพลาสติก (พิกัดศุลกากรที่ 39) อัญมณีและโลหะมีค่า (พิกัดศุลกากรที่ 71) และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ (พิกัดศุลกากรที่ 29) ตามลำดับ
ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่เปรูนำเข้าจากอินเดียสูงสุด 5 อันดับแรกมีจำนวน 2 อันดับที่เป็นกลุ่มสินค้าเดียวกันที่มีการนำเข้าจากไทยด้วย ได้แก่ รถยนต์ (พิกัดศุลกากรที่ 87) ซึ่งเปรูมีแนวโน้มและมูลค่าการนำเข้าลดลงจากทั้งอินเดียและไทย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ เครื่องจักรกล (พิกัดศุลกากรที่ 84) เปรูมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าจากทั้งสองประเทศ โดยมูลค่าการนำเข้าจากไทยมากกว่านำเข้าจากอินเดียที่ 91.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
สคต.ฯ เห็นว่า การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเปรูกับอินเดีย อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าเดียวกันที่อินเดียมีการส่งออกไปยังเปรูด้วย ปัจจุบันไทยและเปรูมีการจัดทำความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (Thailand-Peru Closer Economic Partnership: TPCEP) ทำให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกลุ่มสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปเปรู โดยในปี 2567 มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์และมูลค่าการขอใช้สิทธิประโยชน์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.06 และร้อยละ 78.47 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หากความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเปรูกับอินเดียมีผลใช้บังคับ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวของไทย
อินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ด้วยประชากรจำนวนกว่า 1.6 พันล้านคน ทำให้ความต้องการอุปโภคบริโภคสูงขึ้นตามไปด้วย กลุ่มสินค้าที่อินเดียนำเข้าจากทั้งเปรูและไทยใน 5 อันดับแรก แม้จะมีสินค้าเพียงกลุ่มเดียวที่เหมือนกันแต่พบว่ามีมูลค่าการนำเข้าสูงมาก โดยในปี 2567 อินเดียนำเข้าสินค้าในกลุ่มอัญมณีและโลหะมีค่า (พิกัดศุลกากรที่ 71) มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดโดยมีมูลค่ากว่า 90,519 ล้านเหรียญสหรัฐ ข้อมูลล่าสุดจาก World trade atlas พบว่าในเดือนมกราคม 2568 เพียงเดือนเดียวอินเดียนำเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวจากไทยมูลค่าสูงถึง 964 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2,010 โดยสคตฯ. คาดว่าหากความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเปรูกับอินเดียมีผลใช้บังคับ มีโอกาสสูงที่สินค้าไทยในกลุ่มนี้อาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกหลักในกลุ่มเดียวกันโดยเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 1 ของเปรูมากว่า 14 ปี
สภาพแวดล้อมการค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถึงแม้ว่าความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเปรูกับอินเดียอาจสร้างความท้าทายด้านการแข่งขันให้กับไทย แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีด้วยเช่นกัน โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างอินเดียและเปรูที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่การเติบโตโดยรวมของตลาด ซึ่งอาจสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ส่งออกของไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กระตุ้นให้ธุรกิจของไทยเรียนรู้ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ปรับตัวและสร้างความหลากหลายของตลาดส่งออกโดยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี[1] ที่ไทยมีกับประเทศอื่น ๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นได้ อันจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับไทยในระยะยาว
______________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
เมษายน 2568
[1] https://www.dtn.go.th/th/content/categories/detail/id/28/cid/826/iid/13152
[1] Peru and India resume negotiations to sign a Free Trade Agreement | AméricaEconomía