นาย Ralph G. Recto รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฟิลิปปินส์แถลงการณ์เกี่ยวกับการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศฟิลิปปินส์ในไตรมาสแรกของปี 2568 ว่า มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 6 ถึง 6.5 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดของเป้าหมายที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดไว้สำหรับทั้งปี 2568 ที่ร้อยละ 6 ถึง 8 ซึ่งอัตราการขยายตัวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวในไตรมาสแรกของปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ด้านภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (PSA) มีกำหนดจะเผยแพร่ข้อมูล GDP อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงต้นปี
นาย Arsenio M. Balisacan เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (NEDA) คาดว่าภาวะเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2568 อัตราการขยายตัวของ GDP จะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ
นาย Michael L. Ricafort หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Rizal Commercial Banking Corp.ได้ประเมินว่า GDP ในไตรมาสแรกของปี 2568 จะขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 6.3 สำหรับการบริโภคภาคครัวเรือนในช่วงสามเดือนแรกของปีดังกล่าว คาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และมีเสถึยรภาพ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2568 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ กำหนดที่ร้อยละ 2 ถึง 4 นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศยังได้รับแรงสนับสนุนจากสถานการณ์การจ้างงานที่อยู่ในระดับที่ดีในรอบเกือบ 20 ปี รวมทั้งได้รับปัจจัยเกื้อหนุนจากการขยายตัวของรายได้จากการส่งเงินกลับประเทศจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ รายได้จากธุรกิจ Business Process Outsourcing (BPO) และรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายมีความเห็นว่า อัตราการเติบโตของ GDP ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2568 อาจจะต่ำกว่าร้อยละ 6 โดยนางสาว Sarah Tan นักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics ประเมินว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาสแรกของปี 2568 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 5.5 ส่วนการบริโภคภายในประเทศคาดว่าจะขยายตัวอัตราร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง อันเป็นผลจากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งเริ่มส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ทั้งนี้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Pilipinas) ได้ระงับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงจากร้อยละ 5.75 เหลือร้อยละ 5.5
ในขณะเดียวกัน Ser Percival K. Peña-Reyes ผู้อำนวยการ Ateneo Center for Economic Research and Development ได้ให้ความเห็นว่า การก่อสร้าง การขนส่ง และการจัดเก็บ ตลอดจนบริการด้านที่พัก และบริการด้านอาหาร น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักให้ GDP ขยายตัวที่อัตราร้อยละ 5.4 ในไตรมาสแรกของปี 2568 ส่วนการบริโภคภายในประเทศในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2568 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 4.6 ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตที่ชะลอตัวลง ส่วนการเลือกตั้งในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญเช่นในอดีต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ GDP อยู่ในระดับต่ำกว่าคาดการณ์บางส่วน ตามที่นาย Balisacan เคยแสดงความคิดเห็นไว้ว่า การใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้งครั้งนี้มีแนวโน้มอยู่ในระดับจำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนมากได้หันไปใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการรณรงค์หาเสียง แทนการใช้จ่ายแบบดั้งเดิม
ความเสี่ยงจากการถูกขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า
ในขณะเดียวกัน แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองของปี 2568 อาจได้รับผลกระทบจาก
ความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศระงับการจัดเก็บภาษีตอบโต้ฉบับใหม่เป็นระยะเวลา 90 วัน แต่อัตราภาษีพื้นฐานร้อยละ 10 สำหรับสินค้านำเข้าเกือบทั้งหมดของสหรัฐฯ ยังคงมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราร้อยละ 17 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำเป็นอันดับสองเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นางสาว Tan ให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงในทันทีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ตลอดทั้งปี 2568 คือการชะลอตัวของภาคการส่งออก เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าของฟิลิปปินส์ที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้น และความสามารถในการแข่งขันลดลง ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากฟิลิปปินส์ลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคการผลิตภายในประเทศ สำหรับปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.8 อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวดังกล่าวอาจถูกปรับลดลง หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อเสถึยรภาพของเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์มีมูลค่าการส่งออกสินค้าสู่ตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งสิ้น 12.14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2568
นาย Ricafort ให้ความเห็นว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอัตราการเติบโตของ GDP ให้สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้การเติบโตของ GDP ชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2568 ได้แก่ มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีทรัมป์ การเก็บภาษีตอบโต้ และนโยบายกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากนโยบายภาษีดังกล่าว แต่คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองอาจขยายตัวได้ในอัตราประมาณร้อยละ 6 โดยได้รับการสนับสนุนจากการใช้จ่ายในช่วงการเลือกตั้ง
ขณะที่ นาย Percival K. Peña-Reyes คาดว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวร้อยละ 5.9 ทั้งในไตรมาสที่สอง และตลอดทั้งปี 2568 ทั้งนี้ นาย Balisacan ได้ให้ความเห็นว่า ยังอาจเร็วเกินไปที่จะปรับประมาณการเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปี ในการประชุมของคณะกรรมการประสานงานงบประมาณเพื่อการพัฒนา DBCC ที่จะจัดในเดือนพฤษภาคม 2568 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการเติบโตในช่วงร้อยละ 6 ถึง 8 ที่ได้ตั้งไว้น่าจะเป็นไปได้ยาก ภายใต้สภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อันเป็นผลจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ BusinessWorld
บทวิเคราะห์/ ข้อคิดเห็น
· ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฟิลิปปินส์ในไตรมาสแรกของปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 6 ถึง 6.5 ซึ่งอยู่ในระดับล่างของช่วงเป้าหมายการเติบโตที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดไว้ที่ร้อยละ 6 ถึง 8 ซึ่งอัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม PSA มีกำหนดจะเผยแพร่ข้อมูล GDP อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในช่วงต้นปี ทั้งนี้ การขยายตัวของ GDP ได้รับการสนับสนุนจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ และมีเสถียรภาพที่
ร้อยละ 2.2 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือร้อยละ 5.5 รายได้จากการส่งเงินกลับประเทศจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ รายได้จากธุรกิจ BPO และการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์อาจจะประสบภาวะความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ นโยบายภาษีนำเข้า และภาษีตอบโต้จากสหรัฐฯ ถึงแม้ว่า ฟิลิปปินส์ถูกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราร้อยละ 17 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำเป็นอันดับสองเมื่อเปรียบเที่ยบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็อาจส่งผลกระทบกับภาคการส่งออก และภาคการผลิตภายในประเทศ ทั้งนี้แม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤษภาคม 2568 แต่อาจไม่เพียงพอในการชดเชยผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพสภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม อันเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดไว้ · สำหรับผู้นำเข้า และส่งออกของไทย แนวโน้มเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในไตรมาสแรกของปี 2568 แม้จะอยู่ในระดับล่างของช่วงเป้าหมายการเติบโตที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดไว้ แต่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือน การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลดีต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารแปรรูป วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน ยา เวชภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้า และส่งออกไทยควรให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้า และมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออกของฟิลิปปินส์ และหากคำสั่งซื้อลดลงอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับสินค้าไทย เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และวัตถุดิบอาหาร อีกทั้งความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจในฟิลิปปินส์มีความระมัดระวังในการใช้จ่าย และลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรติดตามข้อมูลเศรษฐกิจฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด พร้อมปรับกลยุทธ์ทางการตลาด บริหารความเสี่ยงด้านต้นทุนและโลจิสติกส์ที่อาจปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงวางแผนบริหารความเสี่ยงทางการเงินจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขัน และกระจายความเสี่ยง ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ หรือสร้างเครือข่ายพันธมิตรในฟิลิปปินส์ เช่น ผู้จัดจำหน่ายในประเทศ บริษัทโลจิสติกส์ หรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงตลาด และรักษาความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจในระยะยาว
—————————————
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
เมษายน 2568