กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำตาลดิบของฟิลิปปินส์ในปี 2569 จะยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.85 ล้านตัน
แม้ว่าราคาน้ำตาลหน้าโรงงานจะมีแนวโน้มลดลงในฤดูการตลาดปี 2568 แต่เกษตรกรฟิลิปปินส์จะยังคงทำการเพาะปลูกอ้อยต่อไป โดยคาดหวังว่าราคาจะปรับตัวดีขึ้นในปีการเก็บเกี่ยวถัดไปโดยก่อนหน้านี้ USDA คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำตาลดิบในปี 2567 – 2568 จะลดลงจาก 1.92 ล้านตัน เหลือ 1.85 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของสำนักงานกำกับดูแลน้ำตาล (The Sugar Regulatory Administration: SRA) อยู่ที่ 1.78 ล้านตัน นอกจากนี้ USDA รายงานว่าปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือนตุลาคม – มีนาคม 2568 ได้เอื้อต่อการเพาะปลูกอ้อยในพื้นที่หลัก เช่น จังหวัด Negros Occidental จังหวัด Bukidnon จังหวัด Panay และจังหวัด Batangas นอกจากนี้ USDA ประเมินว่าพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโดยรวมจะยังคงทรงตัวในปี 2568 โดยไม่มีการขยายพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถูกแปลงเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่อุตสาหกรรม ทั้งนี้ เกษตรกรจะยังคงปลูกอ้อยต่อไป
โดยคาดการณ์ว่าราคาจะเพิ่มสูงขึ้น โดยการเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดในปี 2569 จะน้อยลง เนื่องจากราคาข้าวโพดที่ลดลง ซึ่ง USDA มีการคาดการณ์ว่า ในปีนี้ฟิลิปปินส์จะส่งออกน้ำตาลไปยังสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ปริมาณ 91,000 ตัน นอกจากนี้ ในเดือนมีนาคม SRA ยังได้ออกคำสั่งให้ส่งออกน้ำตาลดิบไปยังสหรัฐอเมริกาปริมาณ 66,000 ตัน โดยสมัครใจ ภายใต้โควตาการค้าตามความตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งผู้ส่งออกที่เข้าร่วมจะได้รับสิทธิ์โควตาในการนำเข้าน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ในอัตราส่วน 2.5 กิโลกรัมต่อการส่งออกน้ำตาลดิบ 1 กิโลกรัมโดยในปี 2569 USDA คาดว่าฟิลิปปินส์จะมีการนำเข้าน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 300,000 ตัน ขณะที่ปี 2568 คาดว่าจะมีการนำเข้า 221,000 ตัน ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณสต็อกคงเหลือสูงถึง 356,000 ตัน แม้สต็อกน้ำตาลในประเทศจะยังคงสูงในปี 2569 แต่จะลดลงเล็กน้อยจากปี 2568 โดยคาดว่าปริมาณน้ำตาลดิบจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงต้นฤดูการผลิต อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการระบายออกสู่ตลาดก็จะทำให้เกิดการสะสมของสต็อกน้ำตาลดิบเพิ่มเติมในระบบ
โดย ณ วันที่ 23 มีนาคม 2568 SRA รายงานว่าผลผลิตน้ำตาลดิบอยู่ที่ 1.40 ล้านตัน ขณะที่ราคาน้ำตาลหน้าโรงงานคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2568 แต่ราคาขายส่งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีสต็อกน้ำตาลจำนวนมากในประเทศก็ตาม ซึ่งราคาน้ำตาลดิบในประเทศกำหนดจากการประมูลประจำสัปดาห์โดยสมาคมชาวไร่อ้อย (Planters’ Association) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ภายในบริเวณโรงงานผลิตน้ำตาล โดยจะเป็นราคาประมูลจากจังหวัด Negros Occidental ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกหลักจะถูกใช้เป็นราคากลางอ้างอิงทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ราคาขายปลีกยังคงอยู่ในระดับสูง แม้จะเริ่มมีการปรับตัวลดลงจากปี 2566 โดยราคาเฉลี่ยยังสูงกว่า 80 เปโซต่อกิโลกรัม ในขณะที่น้ำตาลทรายนำเข้าจากภูมิภาคอาเซียนมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 60 – 65 เปโซต่อกิโลกรัม ซึ่งสำหรับความต้องการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศในปี 2569 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากราคาน้ำตาลและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลยังอยู่ในระดับสูง โดยกลุ่มผู้บริโภคหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมการผลิตผลไม้แปรรูป อุตสาหกรรมการผลิตขนมขบเคี้ยว คิดเป็นร้อยละ 50 ของความต้องการน้ำตาลทั้งหมด ตามมาด้วย การบริโภคในภาคครัวเรือน (ร้อยละ 32) และหน่วยงานต่างๆ (ร้อยละ 18)อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำน้ำตาลจากคลังสินค้าออกมาใช้งานยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สะท้อนถึงการบริโภคน้ำตาลที่ยังซบเซา ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะยังคงมีอยู่ต่อเนื่องเนื่องจากราคาขายปลีกยังอยู่ในระดับสูง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ BusinessWorld
บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็น
ประเทศฟิลิปปินส์มีฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรประมาณ 116 ล้านคน ในปัจจุบัน ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ชาวฟิลิปปินส์มีวัฒนธรรมที่โดดเด่นในด้านอาหารและมีนิสัยรักการบริโภคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน โดยฟิลิปปินส์ถือเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการส่งออกน้ำตาลและผลิตภัณฑ์น้ำตาลแปรรูปจากไทย โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ และพฤติกรรมการบริโภคของชาวฟิลิปปินส์ที่นิยมบริโภคอาหารรสหวาน โดยเฉพาะขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มประเภทชานมและกาแฟ ทำให้มีความต้องการน้ำตาลในแต่ละปีในระดับสูง ขณะที่การผลิตภายในประเทศยังไม่สามารถรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ หากฟิลิปปินส์มีการเปิดโควตาการนำเข้าน้ำตาลจะช่วยส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีต่อผู้ประกอบการส่งออกน้ำตาลของไทย อย่างไรก็ตาม น้ำตาลและน้ำตาลแปรรูปยังคงเป็นที่ต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและขนม รวมทั้งเครื่องดื่มในตลาดฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ น้ำตาลไทยยังได้รับความนิยมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของฟิลิปปินส์ด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในตลาดโลก ทั้งนี้ ในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้าน้ำตาลทรายไปยังตลาดฟิลิปปินส์ มีมูลค่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,429.37 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 67.02 จากปี 2566 รวมถึง สินค้าน้ำตาลอื่นๆ (นอกจากน้ำตาลที่ได้จากอ้อยหรือหัวบีต)ไปยังตลาดฟิลิปปินส์ มีมูลค่า 14.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 486.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.99 จากปี 2566
—————————————
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
เมษายน 2568