เศรษฐกิจฮ่องกงยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในไตรมาสแรกของปี 2568

 

Mr. Paul Chan Mo-po, Financial Secretary แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจฮ่องกงจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสแรกของปีนี้ พร้อมย้ำว่า รัฐบาลจะเดินหน้าควบคุมการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน

 

Mr. Chan เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกสะท้อนถึงการเติบโตที่ดี โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม แม้เศรษฐกิจฮ่องกงจะยังเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้ออยู่ในขณะนี้

 

เขากล่าวว่า “จากปัจจัยบวกที่กล่าวมา คาดว่าตัวเลขประมาณการล่วงหน้าของ GDP ไตรมาสแรก ซึ่งจะประกาศในสัปดาห์นี้ จะออกมาในเกณฑ์แข็งแกร่ง” พร้อมเตือนว่า “เมื่อมองไปข้างหน้า พฤติกรรมกีดกันทางการค้าและนโยบายปกป้องผลประโยชน์ฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก”

 

Mr. Chan เปิดเผยว่า ฮ่องกงมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 12.2 ล้านคน อันเป็นผลจากการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่และการประชุมนานาชาติ ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อภาคค้าปลีกและบริการอาหาร โดยในจำนวนนี้ เป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่จากจีนแผ่นดินใหญ่จำนวน 2.98 ล้านคน เพิ่มขึ้น18% ขณะที่นักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้น 6% เขายังคาดว่า ในช่วงวันหยุด “Golden Week” ระหว่าง วันที่ 1–5 พฤษภาคมนี้ ฮ่องกงจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมาเยือนราว 840,000 คน

 

ในส่วนภาคการส่งออก Mr. Chan ระบุว่า แม้สถานการณ์สงครามการค้าจะทวีความรุนแรง ฮ่องกงยังเห็นการเติบโตที่ดีในไตรมาสแรก โดยมีตัวเลขการเติบโตในหลายตลาด ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่าฮ่องกงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนในตลาดโลกได้ โดยชี้ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่งปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลง 0.5 จุด มาอยู่ที่ 2.8% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 20 ปีก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่อยู่ที่ 3.7% อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ IMF ยังเตือนว่า ความขัดแย้งทางการค้าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก บั่นทอนการบริโภคและการลงทุน และเพิ่มความผันผวนในตลาดการเงิน โดยฮ่องกงจะเฝ้าระวังความเสี่ยงและเร่งเดินหน้าส่งเสริมเศรษฐกิจ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมภายนอกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แม้ว่าฮ่องกงจะได้รับการสนับสนุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมกล่าวว่า “ขณะที่เร่งพัฒนาเศรษฐกิจ เราจำเป็นต้องเดินหน้าปรับโครงสร้างทางการคลังอย่างมั่นคง เพื่อรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ”

 

 

ทั้งนี้  ในงบประมาณเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Mr. Chan ได้ประกาศมาตรการควบคุมรายจ่ายอย่างเข้มงวดและเพิ่มรายได้ของรัฐ โดยอิงหลัก “ผู้ใช้บริการเป็นผู้จ่าย” (user-pays) และ “จ่ายตามกำลังความสามารถ” (affordable user-pays)

 

เขากล่าวเสริมว่า “การดำเนินการนี้ย่อมมีความท้าทาย ต้องมีการเลือกและแลก (trade-off) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรายังคงรักษาเสน่ห์ของฮ่องกงในฐานะเมืองที่เหมาะแก่การทำธุรกิจ พร้อมลดผลกระทบต่อสังคมโดยรวมให้มากที่สุด นี่คือภารกิจที่ท้าทายแต่จำเป็นที่เราต้องเดินหน้าต่อไป”

 

ด้าน Dr. Lee Shu-kam, Head of Shue Yan University’s department of economics and finance เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของ Mr. Chan โดยเชื่อว่า เศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มขยายตัวได้ในไตรมาสแรก แต่เตือนว่าไม่ควรดีใจเร็วเกินไป เพราะผลกระทบจากสงครามภาษีที่เริ่มโดยสหรัฐฯ จะเริ่มปรากฏชัดขึ้นในไตรมาสถัดไป

 

“สงครามภาษีส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองด้วย การส่งออกของฮ่องกงอาจชะลอตัว หากไม่สามารถขยายตลาดใหม่มาทดแทนได้ เศรษฐกิจก็อาจเผชิญแรงกดดันมากขึ้น” เขาระบุ พร้อมเสริมว่า “ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในฮ่องกงยังคงอ่อนแอ แม้การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวดี แต่ภาคค้าปลีกและธุรกิจการบริการด้านอาหารกลับยังไม่ได้รับประโยชน์มากนัก”

 

ซึ่งขณะนี้มีรายงานข่าวระบุว่าผู้คนจำนวนมากเริ่มหลีกเลี่ยงการเดินทางไปสหรัฐฯ หากฮ่องกงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาแทนได้ ก็อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดย Mr. Lee ประเมินว่า ฮ่องกงยังมีแนวโน้มสามารถรักษาอัตราการเติบโตของ GDP ได้ที่ 2% สำหรับทั้งปี 2025 ซึ่งเป็นระดับล่างของกรอบคาดการณ์เดิมของ Chan ที่เคยให้ไว้ระหว่าง 2% ถึง 3%

 

ขณะเดียวกัน Mr. Ceajer Chan Ka-keung, Former secretary for financial services and the treasury กล่าวว่า ฮ่องกงควรเสริมบทบาทการเป็น “ตัวเชื่อมโยงพิเศษ” (superconnector) ระหว่างจีนกับตลาดโลก ในภาวะที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ยังดำเนินอยู่

 

เขาแนะนำให้ฮ่องกงขยายความร่วมมือทางการเงินและการค้ากับประเทศในยุโรป โดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูง และเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้ความได้เปรียบของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินระดับโลกให้เป็นประโยชน์

 

 

ความคิดเห็นของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง

ฮ่องกงยังคงรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก การควบคุมค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและการบริหารจัดการทางการคลังที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ฮ่องกงดำเนินกลยุทธ์หาตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงจากสงครามการค้า โดยขยายความร่วมมือกับทางการเงินและการค้ากับประเทศในยุโรป อาเซียนและตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ สำหรับประเทศไทยนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพในอาเซียน ด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค มีเศรษฐกิจที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร และบริการดิจิทัล ไปจนถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ ความเชื่อมโยงทางธุรกิจกับฮ่องกง จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดจีนและส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจของไทยได้

 

 

แหล่งข้อมูล: https://www.scmp.com/news/hong-kong/hong-kong-economy/article/3308083/hong-kong-economy-post-solid-growth-first-quarter-finance-chief-paul-chan?module=perpetual_scroll_0&pgtype=article

thThai