สรุปไทม์ไลน์ ท่าทีและความสัมพันธ์ระหว่าง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายกรัฐมนตรีอิตาลี นางจอร์จา เมโลนี ต่อนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)

ก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรีอิตาลี จอร์จา เมโลนีได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนต่อรัฐสภาและสื่อมวลชนว่า สหภาพยุโรปควรยึดแนวทางที่ปฏิบัติได้จริง เปิดกว้าง และเป็นไปในทางที่ดี เพื่อรับมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์และหลีกเลี่ยงความตึงเครียดทางการค้า ซึ่งอาจลุกลามไปสู่สงครามภาษี (Tariff War) โดยนายกรัฐมนตรีเมโลนีระบุว่าการเจรจาและความร่วมมือยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการปกป้องผลประโยชน์ของยุโรป
ต่อมาในเดือนมกราคม 2568 นายกรัฐมนตรีเมโลนีเป็นผู้นำยุโรปเพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญไปร่วมพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีทรัมป์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. การพบปะในครั้งนั้นถูกมองว่าเป็นสัญญาณของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างผู้นำทั้งสอง โดยทางการสหรัฐฯ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีเมโลนีและประธานาธิบดีทรัมป์มีจุดยืนร่วมกันในหลายประเด็นด้านนโยบายต่างประเทศ รวมถึงปัญหาผู้อพยพและวิกฤตในยูเครน
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 นายกรัฐมนตรีเมโลนีได้กล่าวต่อวุฒิสภาอิตาลีอีกครั้ง โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการยึดมั่นในความเป็นจริงทางการเมือง พร้อมสนับสนุนบทบาทของประธานาธิบดีทรัมป์ในการผลักดันข้อตกลงหยุดยิงในยูเครน ขณะเดียวกัน เธอยังเตือนว่าความขัดแย้งทางภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปจะส่งผลเสียต่อทั้งสองฝ่าย หากไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้

สรุปไทม์ไลน์ ท่าทีและความสัมพันธ์ระหว่าง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายกรัฐมนตรีอิตาลี นางจอร์จา เมโลนี ต่อนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)
นายกรัฐมนตรีอิตาลี นางจอร์จา เมโลนี เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์
ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. วันที่ 17 เมษายน 2568

กระทั่งวันที่ 17 เมษายน 2568 นายกรัฐมนตรีเมโลนีได้เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางการเพื่อพบปะหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งนับเป็นผู้นำจากยุโรปคนแรกที่เยือนสหรัฐฯ ภายหลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) 20% ต่อสินค้าจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ในการแถลงข่าวร่วมกัน ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันว่าจะมีการบรรลุข้อตกลงทางการค้าอย่างแน่นอน “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ขณะที่นายกรัฐมนตรีเมโลนีระบุว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นพันธมิตรที่น่าเชื่อถือของอิตาลี พร้อมเชิญประธานาธิบดีทรัมป์เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ และแสดงความเชื่อมั่นว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาจุดร่วมกันได้ และได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะ “ทำให้โลกตะวันตกยิ่งใหญ่อีกครั้ง” (“Make the West Great Again”)
แม้จะยังไม่มีข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์กับนายกรัฐมนตรีเมโลนีก็ยังคงแน่นแฟ้น โดยนายกรัฐมนตรีอิตาลีตั้งเป้าที่จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างสหภาพยุโรปกับสหรัฐฯ ท่ามกลางสถานการณ์สงครามภาษี ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเกี่ยวกับงบประมาณด้านกลาโหม นโยบายคนเข้าเมือง และภาษีทางการค้า อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเมโลนีก็เคยวิจารณ์มาตรการภาษีดังกล่าวว่า “ผิดอย่างสิ้นเชิง” และเตือนว่า ในท้ายที่สุด ภาษีเหล่านี้จะสร้างความเสียหายต่อทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เอง แหล่งข่าวใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีเมโลนีเปิดเผยว่า เป้าหมายหลักของการเยือนในครั้งนี้คือ “สันติภาพทางการค้า” ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวหาว่าสหภาพยุโรป “ก่อตั้งขึ้นเพื่อเอาเปรียบสหรัฐฯ” ทั้งนี้ มาตรการภาษีตอบโต้ 20% ที่เคยประกาศไว้ ได้ถูกระงับชั่วคราวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2568
แม้จะประกาศความมั่นใจอย่างเต็มที่ แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ย้ำว่าเขาไม่รีบร้อนที่จะบรรลุข้อตกลง ซึ่งแม้จะยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนในประเด็นภาษี นายกรัฐมนตรีเมโลนีก็สามารถโน้มน้าวให้ประธานาธิบดีทรัมป์ตอบรับคำเชิญเยือนกรุงโรมอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่าจะเป็นโอกาสให้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้พบกับผู้นำยุโรปคนอื่น ๆ ด้วย โดยหากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตกลงเข้าพบกับนางเออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Mrs. Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป การพบปะครั้งนี้จะถือเป็นชัยชนะทางการทูตที่มีนัยสำคัญของนายกรัฐมนตรีเมโลนี
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 นายเจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเมโลนีอย่างเป็นทางการที่กรุงโรม โดยทำเนียบขาวและรัฐบาลอิตาลีได้ออกแถลงการณ์ร่วม ระบุว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะเดินทางเยือนอิตาลีในอนาคตอันใกล้และยังเปิดเผยว่าจะมีการพิจารณาจัดการประชุมระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรปในโอกาสดังกล่าว
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 นายวัลดิส ดอมบรอฟสกีส์ (Mr. Valdis Dombrovskis) กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าสหภาพยุโรปยังคงยึดมั่นในแนวทางการเจรจาเพื่อแก้ไขข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ แต่ก็พร้อมจะดำเนินมาตรการตอบโต้หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์เดินทางไปยังกรุงโรม เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีศพของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส และได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีเมโลนีอีกครั้ง ทั้งสองมีการหารือกันอย่างสั้นๆ หลังจาก พระราชพิธีเสร็จสิ้น ขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 28 เมษายน 2568) ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับการพบปะดังกล่าว
ปัจจุบัน สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ยังไม่สามารถบรรลุข้อสรุปร่วมกันได้ โดยที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้เสนอแนวทางเพื่อโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ยอมรับข้อเสนอต่างๆ ได้แก่ (1) ข้อเสนอการยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมระหว่างกัน (zero-for-zero tariff offer on industrial goods) (2) ข้อเสนอการเพิ่มการนำเข้าแก๊สธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ และ (3) ข้อเสนอการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs)
นักวิเคราะห์จากสำนักข่าว POLITICO ลงความเห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรีเมโลนีจะสามารถสร้างความประทับใจต่อประธานาธิบดีทรัมป์ได้มากเพียงใด แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ก็ไม่มีแนวโน้มจะมีท่าทีเป็นมิตรกับสหภาพยุโรปมากนัก ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ในยุโรปเองก็ยังไม่แน่ใจว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีเมโลนี ซึ่งมีท่าทีที่คาดเดาไม่ได้ (“unpredictable Italian PM”) เป็นตัวแทนในการสื่อสารกับสหรัฐฯ หรือไม่ และยังระบุเพิ่มเติมว่า อิตาลียังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตัวเลขขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงที่สุดในยุโรป อีกทั้งใช้งบประมาณด้านกลาโหมเพียง 1.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ที่ NATO กำหนดไว้ และยิ่งต่ำกว่าข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ตั้งไว้ 5% ทำให้ยังมีประเด็นอีกมากที่ทั้งสองฝ่ายอาจต้องถกเถียงกันต่อไป
ความคิดเห็นของสคต. ณ เมืองมิลาน
1. จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว ทำให้การส่งออกของไทยมายังอิตาลี ในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม – มีนาคม) ของปี 2568 มีมูลค่า 617.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวถึง -7.19% โดยในรายการสินค้าไทยที่ส่งออกมายังอิตาลี 10 อันดับแรกในช่วงดังกล่าว พบว่า มีสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกที่หดตัวหลายรายการ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 97.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 6.89%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 59.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 0.48%) ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง (มูลค่าการส่งออก 22.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 17.45%) ยางพารา (มูลค่าการส่งออก 20.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 0.28%) และ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 20.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 46.74%)
2. ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม–มีนาคม) แม้ว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะหดตัวลง (มูลค่า 502 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 7.80%) รวมถึงสินค้าเกษตรกรรม (มูลค่า 58.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 10.02%) แต่สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรกลับมีการขยายตัว (มูลค่า 56.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 1.25%) โดยสินค้าที่มีอัตราการส่งออกขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ (2.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 182.01%) สิ่งปรุงรสอาหาร (1.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 8.5%) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอื่น ๆ (0.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 36.98%) ผักกระป๋องและผักแปรรูป (0.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 49.72%) และโกโก้และของปรุงแต่ง (0.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 67.2%) เป็นต้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีแก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมายังอิตาลี
3. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังได้ปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ข้อมูลอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP growth) ของอิตาลีสำหรับปี 2568 อยู่ที่ 0.4% (ลดลง 0.3% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงเดือนมกราคม 2568 ที่ 0.7%) ซึ่ง IMF ได้ปรับตัวเลขดังกล่าวอันเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของภาษีนำเข้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลก จากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจของอิตาลีในปีนี้ ไม่สดใสอย่างที่ควร
4. ในขณะเดียวกัน ภาคการผลิตของอิตาลียังหดตัวต่อเนื่องในเดือนมีนาคม 2568 ดัชนี PMI ชี้แนวโน้มทรุดตัวลง โดยในเดือนมีนาคม ลดลงมาอยู่ที่ 46.6 จาก 47.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ ต่ำกว่า 50.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 ซึ่งถือเป็นเส้นแบ่งระหว่างการขยายตัวและการหดตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง คำสั่งซื้อยังคงลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยตัวเลขอยู่ที่ 44.8 และการจ้างงานลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่หก สำนักงานสถิติแห่งชาติของอิตาลี (ISTAT) รายงานว่า ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในอิตาลียังลดลงในเดือนมีนาคมอีกด้วย ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแออยู่แล้ว
5. ผู้ประกอบการไทยที่มีความประสงค์ที่จะส่งออกสินค้ามายังอิตาลี อาจจำเป็นต้องปรับตัวต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอนและนโยบายการค้าสหรัฐฯ ที่อาจกระทบห่วงโซ่อุปทานในยุโรปต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเน้นส่งออกสินค้าจำเป็น เช่น อาหารสดแช่แข็งที่มีคุณภาพสูง อาหารสุขภาพ วัตถุดิบอาหารแปรรูปที่รองรับแนวโน้มบริโภคในประเทศ นอกจากนั้น ผู้ส่งออกควรมีแผนเผชิญความเสี่ยง เช่น การเตรียมต้นทุนเผื่อการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีนำเข้า หรือการขนส่ง เป็นต้น
ที่มา:
1. Italy’s PM Meloni says EU must be pragmatic with Trump to avoid US trade tensions – Euronews
2. Trump and Italy’s Meloni talk up EU tariff deal hopes – Breitbart
3. Trump and Meloni talk up chances of US trade deal with Europe – BBC
4. EU’s Dombrovskis says EU prefers negotiated solution on trade with US – Reuters
5. JD Vance visits Italy for tariff talks and attends Good Friday service at the Vatican – AP News
6. Trump to attend Pope Francis’ funeral in Rome – Reuters
7. เครดิตภาพประกอบ Meeting with the President of the United States of America, Donald J. Trump – Italian GovernmentPresidency of the Council of Ministers
8. Meloni, Trump had brief meeting after Francis’s funeral – Ansa
9. Meloni pushes for mediator role after Vatican funeral – Euractiv
10. IMF cuts Italy’s 2025 growth forecast to 0.4 % – Ansa
11. Italy’s manufacturing sector downturn deepens in March, PMI shows – Reuters

thThai