ยะโฮร์เร่งดึงการลงทุนเกือบ RM9.9 หมื่นล้าน ดัน JS-SEZ สู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน Onn Hafiz เปิดตัวแนวคิดใหม่ Sandbox และนิคมอุตสาหกรรม ASEAN

ที่มา : สำนักข่าว Berita Harian

รัฐยะโฮร์ประเทศมาเลเซีย กำลังก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้โครงการ Johor-Singapore Special Economic Zone (JS-SEZ) โดยล่าสุด Datuk Onn Hafiz Ghazi มุขมนตรีรัฐยะโฮร์ประกาศว่า มีการลงทุนรวมมูลค่าราว RM9.89 หมื่นล้าน หรือเกือบหนึ่งแสนล้านริงกิต ทั้งที่อยู่ระหว่างดำเนินการและอยู่ในขั้นตอนวางแผน

ตัวเลขการลงทุนนี้ประกอบด้วย:

  • RM4.85 หมื่นล้าน: การลงทุนที่ได้รับการอนุมัติในปี 2024
  • RM2.74 หมื่นล้าน: การลงทุนที่บันทึกไว้แล้วในไตรมาสแรกของปี 2025
  • RM2.3 หมื่นล้าน: โครงการลงทุนที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาและวางแผน

Onn Hafiz กล่าวในงาน Forum Perniagaan dan Pelaburan JS-SEZ ที่จัดขึ้นครั้งแรก ณ
ยะโฮร์บาห์รู ว่าตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึง “ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อ Johor” พร้อมยืนยันว่ารัฐมีความพร้อม เดินหน้าอย่างจริงจัง และรวดเร็ว เพื่อสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจร่วมกับสิงคโปร์

2 โครงการใหม่: Sandbox และ ASEAN Industrial Park

เพื่อต่อยอดการพัฒนาและรองรับการลงทุนในอนาคต Onn Hafiz ได้เสนอ 2 แนวคิดใหม่ ได้แก่:

  1. Sandbox Kawal Selia Johor

เป็นพื้นที่ทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใต้กฎระเบียบที่ยืดหยุ่น โดยเปิดโอกาสให้บริษัทด้าน ฟินเทค โลจิสติกส์อัจฉริยะ เทคโนโลยีสีเขียว และระบบอัตโนมัติ ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีของตนจริงในสภาพแวดล้อมควบคุม ซึ่งจะช่วยเร่งนวัตกรรมและดึงดูดสตาร์ตอัปและบริษัทเทคโนโลยีเข้าสู่ยะโฮร์

  1. ASEAN Industrial Park

นิคมอุตสาหกรรมที่จะเน้นการดึงดูดการลงทุนเชิงกลยุทธ์จากประเทศสมาชิก RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) โดยมุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมผลิตขั้นสูง (advanced manufacturing) เศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นิคมแห่งนี้จะเสนอสิทธิประโยชน์เฉพาะทาง เช่น การยกเว้นภาษี การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ และผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับการโอนเงินข้ามพรมแดน เพื่อจูงใจนักลงทุนจากทั่วภูมิภาค

Onn Hafiz ย้ำว่า “แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่ความฝัน แต่เป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ที่มีพื้นฐานความเป็นจริง” ซึ่งจะช่วยให้ JS-SEZ กลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่น่าสนใจที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปรับปรุงระบบให้บริการนักลงทุน เพื่อสนับสนุนการเติบโตของการลงทุน Johor ยังได้เปิดตัว

  • Malaysia Investment Facilitation Centre – Johor (IMFC-J)
  • และ Johor Super Lane (JSL)

สองหน่วยงานนี้มีหน้าที่หลักในการเร่งรัดและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน โดยสามารถลดระยะเวลาการอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่จากเดิม 24 เดือน เหลือเพียงประมาณ 12 เดือน เท่านั้น

บริษัทที่ได้รับประโยชน์จากระบบใหม่นี้ เช่น Princeton Digital Group, Wiwynn Technology, Olam/Markono และ Mayora ต่างได้รับการระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของ 42 โครงการลงทุนเร่งด่วน (fast-track projects) ที่กำลังดำเนินอยู่

 

 

ความร่วมมือกับสิงคโปร์ & เสถียรภาพทางการเมือง

ในเวทีเดียวกัน Onn Hafiz ได้แสดงความขอบคุณต่อสิงคโปร์ โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรี Gan Kim Yong และอ้างอิงถึงคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี Lawrence Wong ที่ย้ำว่าความร่วมมือของยะโฮร์และสิงคโปร์ไม่ควรถูกมองว่าเป็นสองฝ่ายแยกจากกัน แต่ควรมองว่าเป็น “ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เสริมกันและกัน”

เขายังกล่าวถึงความสำคัญของ เสถียรภาพทางการเมือง โดยเตือนว่าประสบการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองของมาเลเซียในช่วงปี 2018–2022 ควรเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ และย้ำว่าทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์จำเป็นต้องมีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน มั่นคง และสอดคล้องกันในระยะยาว

แม้จะมีความท้าทายระดับภูมิภาค เช่น ประเด็นภาษีและความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ Onn Hafiz มองว่าอุปสรรคเหล่านี้ควรถูกใช้เป็น “แรงผลักดัน” ไม่ใช่ “ข้อจำกัด” และเรียกร้องให้สองประเทศเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและเชื่อมโยงกันมากขึ้น

“มาร่วมกันเดินหน้า ด้วยวิสัยทัศน์เดียว สองประเทศ และความมั่งคั่งร่วมกัน” เขากล่าวปิดท้ายบนเวที

 

บทวิเคราะห์ผลกระทบ

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ Johor-Singapore Special Economic Zone (JS-SEZ) ที่กำลังเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของความร่วมมือระหว่างมาเลเซียและสิงคโปร์ในการสร้าง “ซูเปอร์ฮับเศรษฐกิจ” แห่งใหม่ในอาเซียน ซึ่งแน่นอนว่าโครงการนี้จะส่งแรงสั่นสะเทือนต่อภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลกระทบต่อมาเลเซีย

ผลดี:

  • กระตุ้นการลงทุนโดยตรง (FDI): เงินลงทุนกว่า RM99 หมื่นล้าน ช่วยเพิ่มการจ้างงาน สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ และยกระดับเทคโนโลยี
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบราชการ: การจัดตั้ง Johor Super Lane และ Sandbox จะช่วยลดความล่าช้าในการอนุมัติ และเปิดทางให้ธุรกิจนวัตกรรมเติบโต
  • ยกระดับยะโฮร์ให้เป็นประตูเศรษฐกิจสู่สิงคโปร์: กลายเป็นจุดเชื่อมต่อหลักของ supply chain และดึงดูดธุรกิจที่ต้องการใกล้ชิดตลาดระดับโลกอย่างสิงคโปร์ แต่ต้นทุนต่ำกว่า

ผลเสียหรือความท้าทาย:

  • การแข่งขันด้านแรงงานและค่าใช้จ่าย: แรงดึงดูดจากโครงการอาจทำให้เกิดการแย่งชิงแรงงานและดันค่าครองชีพในพื้นที่สูงขึ้น
  • การกระจุกตัวของการพัฒนา: โอกาสอาจไม่กระจายทั่วประเทศ เกิดความเหลื่อมล้ำทางภูมิภาค
  • พึ่งพาสิงคโปร์เกินไป: อาจทำให้เศรษฐกิจยะโฮร์ต้องอิงสิงคโปร์มากเกินไป หากเกิดวิกฤติในสิงคโปร์จะกระทบเป็นลูกโซ่

ผลกระทบต่อไทย

  1. ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน:

JS-SEZ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูด FDI เข้าสู่มาเลเซียมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้บางส่วนของการลงทุนที่เคยพิจารณาไทย หันเหไปยะโฮร์แทน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ต้องการ proximity กับสิงคโปร์ เช่น logistics, digital tech, advanced manufacturing

อย่างไรก็ตาม หากไทยปรับตัวเร็ว เราอาจใช้ประโยชน์จาก JS-SEZ ได้ด้วย เช่น การเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าใน ยะโฮร์เพื่อส่งต่อไปยังสิงคโปร์ หรือใช้เป็นฐานโลจิสติกส์ร่วมกัน

  1. ด้านผู้ประกอบการไทย:

ธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SMEs หรือกลุ่มอาหาร-สินค้าอุปโภค อาจมีโอกาสเข้าไปเจาะตลาดใหม่ โดยเฉพาะหาก JS-SEZ เปิดช่องให้บริษัทต่างชาติเข้าร่วมใน sandbox หรือ ASEAN Industrial Park
ที่วางแผนไว้

ในทางกลับกัน การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากบริษัทต่างชาติที่ใช้ยะโฮร์เป็นฐานเข้าอาเซียน และอาจมาแย่งส่วนแบ่งตลาดเดียวกับไทยในภูมิภาค

  1. ด้านนโยบายรัฐไทย:

ไทยควรมอง JS-SEZ เป็น wake-up call เพื่อเร่งพัฒนา EEC หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ให้มีความ “เฉียบคม” และ “เร็ว” ทัดเทียม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุน

นอกจากนี้ ภาครัฐควรเร่งปรับปรุงระบบการอำนวยความสะดวกนักลงทุน เช่น ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และออกนโยบาย sandbox ด้านเทคโนโลยีหรือดิจิทัลอย่างจริงจัง

 

ความคิดเห็น สคต.

สำนักงานฯ เห็นว่าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษยะโฮร์-สิงคโปร์ (JS-SEZ) ถือเป็นก้าวสำคัญของมาเลเซียในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค และยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มีนัยสำคัญต่อทิศทางการลงทุนและการค้าในอาเซียน ซึ่งไทยควรจับตามองอย่างใกล้ชิด สำนักงานฯ มองว่าความเคลื่อนไหวนี้เปิดโอกาสใหม่ให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มโลจิสติกส์ เทคโนโลยี และซัพพลายเชน ที่สามารถใช้ JS-SEZ เป็นฐานการผลิตหรือกระจายสินค้าเข้าสู่สิงคโปร์และตลาดอาเซียนได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังเป็นสัญญาณให้ไทยเร่งปรับปรุงระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนเอง เช่น EEC ให้ทันสมัยและแข่งขันได้ในระดับสากล

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

thThai