รัฐมนตรีเศรษฐกิจ มาเลเซีย คาดว่าภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ จะส่งผลโดยตรงต่อ GDP ของมาเลเซีย

ที่มา : สำนักข่าว Sinar Daily

เติงกู ดาตุก เซอรี ซัฟรุล อับดุล อาซิซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เปิดเผยว่า มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมาเลเซียในระยะกลางถึงระยะยาว เนื่องจากมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าหลักและจุดหมายการลงทุนสำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาเซียน

เติงกู ซัฟรุลอธิบายว่า มาตรการภาษีดังกล่าวมีผลกระทบเป็นวงกว้าง ครอบคลุมหลายประเทศหากมีการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้ากลับ อาจนำไปสู่สงครามการค้าระดับโลก ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ในเบื้องต้น รัฐบาลมาเลเซียมีแผนทบทวนเป้าหมายการขยายตัวของ GDP สำหรับปี พ.ศ. 2568 ซึ่งเดิมตั้งไว้ที่ร้อยละ 4.5 ถึงร้อยละ 5.5 หลังจากมีการประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวอย่างละเอียด อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีฯ ยืนยันว่า พื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การลงทุน การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระดับชาติ

แม้จะมีความเสี่ยง แต่เติงกู ซัฟรุลมองว่ามาเลเซียอาจได้รับประโยชน์ในบางด้าน เช่น ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกบางประเภทที่อาจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่า โดยมาเลเซียมีอัตราภาษีที่ร้อยละ 24 ขณะที่กัมพูชาถูกเก็บภาษีร้อยละ 49 อินโดนีเซียร้อยละ 32 ไทยร้อยละ 37 เวียดนามร้อยละ 46 และจีนร้อยละ 34

เติงกู ซัฟรุลยกตัวอย่างว่าสินค้าโภคภัณฑ์ของมาเลเซีย เช่น น้ำมันปาล์ม อาจได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีฯ ไม่ปฏิเสธว่าความต้องการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ลดลง อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ การจ้างงาน และการลงทุนในภาคการส่งออก ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

นอกจากนี้ เขายังเตือนว่าหากเกิดภาวะสินค้าส่วนเกินจากประเทศอื่นทะลักเข้าสู่มาเลเซีย อาจส่งผลให้การแข่งขันภายในประเทศรุนแรงมากขึ้น และเป็นความท้าทายสำหรับผู้ผลิตท้องถิ่น

ในส่วนของนักลงทุน รัฐมนตรีฯ ระบุว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์อย่างระมัดระวัง เนื่องจากมาตรการภาษีใหม่จะเริ่มมีผลในวันที่ 9 เมษายน โดยบางบริษัทเริ่มชะลอการลงทุน ขยายตลาดไปยังประเทศอื่น เช่น จีน อินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

 

บทวิเคราะห์ผลกระทบ

  1. ภาษีนำเข้าที่สูงกว่ามาเลเซีย ไทยถูกกำหนดอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 37 ซึ่งสูงกว่ามาเลเซียที่ร้อยละ 24 อย่างมีนัยสำคัญ ความแตกต่างถึงร้อยละ 13 นี้จะส่งผลให้สินค้าไทยในสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้นและความสามารถในการแข่งขันลดลงเมื่อเทียบกับมาเลเซีย
  2. ผลกระทบต่อการส่งออก – ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อาหารแปรรูป และสิ่งทอ การเพิ่มภาษีนำเข้าจะทำให้สินค้าเหล่านี้มีราคาสูงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดคำสั่งซื้อและการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด
  3. ผลกระทบต่อ GDP – ด้วยการส่งออกที่ลดลง ไทยอาจเผชิญกับผลกระทบต่อ GDP คล้ายกับมาเลเซีย โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ภาคการผลิตที่พึ่งพาการส่งออก
    ไปสหรัฐฯ อาจต้องลดกำลังการผลิตหรือปลดพนักงาน ซึ่งส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ
  4. การชะลอตัวของการลงทุนจากสหรัฐฯ – บริษัทสหรัฐฯ อาจชะลอหรือยกเลิกแผนการลงทุนในไทยหากมองว่าต้นทุนการนำเข้าสินค้ากลับไปสหรัฐฯ สูงเกินไป โดยอาจเลือกลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น มาเลเซีย

 

ความคิดเห็น สคต.

สำนักงานฯ มองว่ามาตรการภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อไทยถูกกำหนดอัตราภาษีที่สูงกว่ามาเลเซียถึงร้อยละ 13 อย่างไรก็ตาม วิกฤตนี้อาจเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ กระจายความเสี่ยงทางการค้า และพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆที่มีศักยภาพหากไทยสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลกระทบเชิงลบอาจบรรเทาลงและนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

thThai