(ที่มา : สำนักข่าว Yonhap News ฉบับวันที่ 25 เมษายน 2568)
ในการเจรจาทางการค้า 2 ประเทศระดับผู้นำระหว่างเกาหลีและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 (เวลาท้องถิ่น) โดยเฉพาะการเจรจามาตรการภาษีระหว่างเกาหลี-สหรัฐฯ เกาหลีใต้เน้นถึงความสำคัญของการแสวงหาความสมดุลทางการค้าและความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ ที่มุ่งเน้นด้านการต่อเรือของ สหรัฐฯ ซึ่งกระแสตอบรับจากสหรัฐเป็นไปในทิศทางบวกจากการติดกระดุมเม็ดแรกในการเจรจา
อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 มิถุนายน 2568 ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า รัฐบาลใหม่จะยังคงเป็นพรรคเดียวกับรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้จะรวบรวมมติเห็นชอบและข้อตกลงจากรัฐบาลใหม่ให้ทันภายในเดือนมิถุนายน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาคาดหวังอย่างสูงว่าจะได้ข้อตกลงอย่างรวดเร็ว
ตามข้อมูลของรัฐบาลเกาหลีใต้ การหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและกระทรวงการค้าฯ ในการเจรจาต่อรองระหว่างเกาหลีใต้-สหรัฐฯ มีลักษณะเป็นการตั้งโต๊ะเพื่อการหารือและการจัดการในอนาคต โดยได้กำหนดเส้นตายของการเจรจาของการต่อรองถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ซึ่งระยะเวลาผ่อนผันของมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลง
รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้แนวทางเชิงกลยุทธ์เพื่อโน้มน้าวสหรัฐฯให้ยกเว้นภาษีนำเข้า โดยโต้แย้งว่า การเรียกเก็บอัตราภาษีสำหรับแต่ละรายการ ไม่ว่าจะเป็นภาษีตอบโต้ หรือภาษียานยนต์จากเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญทางอุตสหกรรมดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ หากต้องการแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลทางการค้า และฟื้นฟูการผลิตซึ่งเป็นความกังวลที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลทรัมป์
รองนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้กล่าวในการบรรยายสรุปในวันนี้ว่า ฝ่ายรัฐบาลเกาหลีได้แสดงเจตนาความตั้งใจในการร่วมมือ และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการค้า การลงทุน เรือ พลังงาน ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่สหรัฐฯ มีความกังวล พร้อมอธิบายว่า การเรียกเก็บภาษีตอบโต้และภาษีนำเข้ารายการอื่นๆ ของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ และเผยจุดยืนว่า เกาหลีจำเป็นต้องได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว
ทั้งนี้ ประเด็นความร่วมมือระหว่างเกาหลีและสหรัฐฯ และการทบทวนการมีส่วนร่วมในโครงการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในอลาสก้า ซึ่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ก็ถูกกล่าวถึงในการเจรจาในวันนั้นเช่นกัน ซึ่งประเด็นนี้ถูกขนานนามว่า เป็นไพ่ใบสำคัญในการเจรจาต่อรองระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ
ในการเจรจาระดับสูงครั้งนี้ วาระการประชุมได้ถูกกำหนดขอบเขตให้แคบลงเหลือ 4 ด้าน ได้แก่ 1)มาตรการภาษีศุลกากรและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี 2) ความร่วมมือและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 3) ความร่วมมือด้านการลงทุน 4) นโยบายเกี่ยวกับเงินตราและอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งการหารือระหว่างทั้งสองฝ่ายจะนำไปสู่การปรึกษาในระดับการทำงานที่จะดำเนินการในสัปดาห์หน้า
ในการปรึกษาหารือครั้งนี้มีลักษณะของการอภิปรายทั่วไป และไม่มีการเปิดเผยถึง “ข้อเรียกร้อง” ที่เฉพาะเจาะจง มีการคาดการณ์ว่า ในการหารือเชิงปฏิบัติการในอนาคต สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะกดดันฝ่ายเกาหลี โดยการยกประเด็นอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษี มาอ้างว่าเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของเกาหลี
นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาได้ยกประเด็นอื่น ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐไปยังเกาหลี ตั้งแต่การจำกัดการนำเข้าเนื้อวัวอายุต่ำกว่า 30 เดือน ไปจนถึงข้อจำกัดในการเผยแพร่ข้อมูลของ Google Map ในเกาหลี นโยบายการกำหนดราคายา และอื่น ๆ แม้ว่าจะมีการเห็นพ้องกันในการบรรลุข้อตกลงก่อนที่จะสิ้นสุดการระงับภาษีร่วมกัน แต่ทั้งสองฝ่ายมีท่าทีและข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันด้านความเร็วในการอภิปราย
บทวิเคราะห์
แม้ว่าจุดเริ่มต้นการเจรจาระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ จะเป็นไปในทิศทางที่ดี อย่างไรก็ดี การเจรจาดังกล่าวมีกรอบการเจรจาที่กว้าง เกาหลีใต้ยังไม่สามารถลงรายละเอียดของข้อเสนอที่จะต่อรองกับสหรัฐ เนื่องจาก เกาหลีใต้กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 มิถุนายน 2568 และอาจมีการเปลี่ยนตัวผู้แทนระดับสูงในการเจรจา อย่างไรก็ตาม คาดว่าการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรมเรือ พลังงาน จะเป็นไพ่ใบสำคัญที่เกาหลีจะใช้เพื่อต่อรองกับสหรัฐ
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้ามายังเกาหลีและประเทศอื่น ๆ ควรติดตามสถานการณ์นโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความผันผวนของนโยบายดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกและสมดุลทางการค้าทั่วโลก และเตรียมการรองรับผลกระทบในด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงอาจใช้โอกาสนี้วางแผนเพื่อรองรับโอกาสทางการค้าที่อาจจะเปลี่ยนไป
********************************************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล