เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐอเมริกา จะทำให้นึกถึง เมือง Detroit ในรัฐ Michigan ที่มีบทบาทความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมทั้งห่วงโซ่อุปทานยานยนต์โลก
เมือง Detroit ได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองหลวงแห่งยานยนต์ของโลก (The Auto Capital of the World) หรือที่ชาวอเมริกันรู้จักกันในนาม Motor City เมืองแห่งยานยนต์ เมืองหัวใจหลัก นอกจากจะเป็น Hub ของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของสหรัฐฯ และของโลกแล้วยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของค่ายผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า BIG Three ซึ่งประกอบด้วย บริษัท General Motors บริษัท Ford และ บริษัท Stellantis (เดิมใช้ชื่อบริษัท Chrysler) และในบรรดา 50 รัฐของสหรัฐฯ รัฐ Michigan จัดเป็นรัฐอันดับ 1 ของสหรัฐฯ สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ โดยภาคการผลิตยานยนต์มีระดับสูงกว่าภาคการผลิตโดยเฉลี่ยของสหรัฐฯ ถึง 6 เท่าตัว ในปีที่ผ่านมารัฐ Michigan มีการผลิตรถยนต์ปริมาณ 1.8 ล้านคัน อีกทั้งเป็นรัฐอันดับ 1 ด้านการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งมีมูลค่า 28 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2018-2023)
อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของรัฐ Michigan มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 304 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการสร้างงานในภาคการผลิตรถยนต์กว่า 1.1 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 20 ของแรงงานตลาดในรัฐมิชิแกน โดยมี โรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ในสหรัฐฯ ของค่ายต่างๆ ทั้งค่าย Big Three ค่ายญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป โดยเฉพาะในรัฐ Michigan มีโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์กว่า 950 แห่ง นอกจากนี้มีในรัฐ Indiana, Ohio, Illinois, Kentucky, Kansas, Tennessee, Alabama, Georgia, Mississippi, Texas, South Carolina เป็นต้น
แม้สหรัฐฯ จะมีโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศหลายแห่ง แต่มีการนำเข้าสินค้าในกลุ่มยานยนต์เป็นปริมาณมากเช่นกัน จนทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามหาศาลกับประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และด้วยนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยการดึงอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าต่างๆ ในต่างประเทศกลับสู่มาตุภูมิ จึงทำให้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ออกมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มยานยนต์ในอัตราร้อยละ 25 สำหรับรถยนต์นำเข้าทุกประเภท รวมทั้งรถบรรทุก ขนาดเบา (Light Truck) โดยมาตรการภาษีมีผลบังคับในวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา และสำหรับสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ ให้มีผลบังคับในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีนำเข้าใหม่สำหรับสินค้าในกลุ่มยานยนต์ของประธานาธิบดีทรัมป์ จึงทำให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ ผู้จัดจำหน่าย ซัพเพอร์เชน ห่วงโซ่การผลิตทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศ รวมทั้งผู้บริโภคชาวอเมริกัน ต่างมีความวิตกกังวลต่อสงครามการค้าในครั้งนี้ ซึ่งได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ในทุกภาคส่วน
ค่ายผู้ผลิตรถยนต์
ค่าย GM (General Motor) มีการผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ร้อยละ 45 ในรัฐ Michigan, Kentucky, Texas, และ Indiana อีกร้อยละ 55 เป็นการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งมี แคนาดา และเม็กซิโก แม้จะมีข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา (United States-Mexico-Canada Agreement) หรือที่เรียกว่า ข้อตกลง USMCA ที่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ทั้งนี้ส่วนประกอบของรถยนต์ (Content) จะต้องเป็นไปตามข้อปฏิบัติ มิฉะนั้นจะโดนภาษีร้อยละ 25 เช่นกัน
ค่าย Stellantis ผู้ผลิตรถ Jeep, Chrysler, Dodge, และ Ram ร้อยละ 75 เป็นการผลิตภายในประเทศสหรัฐฯ ใน รัฐ Michigan, Illinois, Indiana, Ohio และต่างประเทศในประเทศเม็กซิโก แคนาดา และประเทศในยุโรป มีการประเมินกันว่า หากมีมาตรการภาษี ราคารถของค่าย Stellantis จะมีการปรับราคาแพงขึ้นจาก 80,000 เหรียญสหรัฐ เป็นราคา 100,000 เหรียญสหรัฐ
ค่าย Ford ร้อยละ 80 เป็นการผลิตในสหรัฐฯ ในรัฐ Michigan, Illinois, Kentucky, Ohio และในต่างประเทศ มีเม็กซิโก และแคนาดา
สถานการณ์ยอดขายรถยนต์ของค่ายต่างๆ
จากนโยบายกำแพงภาษีของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อความวิตกกังวลของผู้บริโภค ชาวอเมริกัน ว่าจะมีการปรับขึ้นราคาสินค้า จึงส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้น ร้อยละ 9.1 ด้วยผู้บริโภคต้องการหลีกเลี่ยงการซื้อรถยนต์ในราคาแพงขึ้นเมื่อมาตรการภาษีนำเข้ามีผลบังคับใช้ ยอดจำหน่ายรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2568 มีจำนวน 1,591,710 ล้านคัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 เมษายน 2568)
สถานการณ์ยอดขายของค่ายรถยนต์ต่างๆ
ในเดือนมีนาคม ยอดขายของค่าย GM (+22.7%) Ford (+7.4% เพิ่มขึ้นในรอบ 4 เดือน) Stellantis (ลดลง 7.2% ติดต่อกัน 5 เดือน) Tesla (ลดลง 4.8% ติดต่อกัน 5 เดือน)
ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น: Toyota (+7.5% ในรอบ 4 เดือน) Honda (+13.3%) Nissan (+7.8%) Subaru (+16.6%) ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 32) Mazda (+16.1 ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 11) สำหรับ รถ RAV 4 เป็นรถที่ได้รับความนิยม และเป็นรถที่กำลังขาดตลาด
ค่ายรถยนต์เกาหลี เพิ่มขึ้นเช่นกัน Hyundai (+13.7%) Kia (+13.1%)
ค่ายรถยนต์ยุโรป มีเพียงรถ Volkswagan และ Audi เพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าย Mercedez Benz , BMW และ Volvo ยอดขายลดลง
สถานการณ์ด้านผู้บริโภค
ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรถยนต์ยังคงทรงตัว ทั้งนี้ขึ้นกับ Credit Score ของผู้กู้ยืม ปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.87 – 15
ราคาเฉลี่ยรถยนต์คันใหม่อยู่ที่ 50,000 – 100,000 เหรียญสหรัฐ ราคาอาจปรับเพิ่มขึ้น 5,000 – 10,000 เหรียญสหรัฐ จากมาตรการภาษี รวมทั้งค่าประกันรถยนต์ ซึ่งคาดว่า จะมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ด้วยปัจจัยด้านราคาชิ้นส่วน อุปกรณ์ยานยนต์ในการซ่อมบำรุงรถยนต์ มีราคาเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ ด้านตลาดแรงงาน ในอุตสาหกรรมรถยนต์
ผลกระทบของมาตรการภาษี ล่าสุด ค่ายรถยนต์ Stellantis ได้ประกาศ การเลิกจ้างงาน (Layoff) พนักงานจำนวน 900 ตำแหน่งที่โรงงานผลิตที่เมือง Kokomo รัฐ Indiana ซึ่งเป็นโรงงานผลิต Transmission และ Casting ด้วยเหตุผลการลดกำลังการผลิต รวมทั้งการปิดโรงงานชั่วคราว ในประเทศแคนาดา และเม็กซิโก
จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์หลายสำนักต่างประเมินว่า มาตรการภาษีร้อยละ 25 จะส่งผลกระทบเป็นโดมิโน ตั้งแต่ค่ายผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค และห่วงโซ่อุปทานยานยนต์โลก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้าง และการที่ผู้ผลิตรถยนต์ ต้องแบกภาระด้านต้นทุนการผลิต ประเมินเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หากรวมกันของค่าย Big Tree ทั้ง 3 บริษัท จะมีต้นทุนรวมกันเป็นมูลค่ากว่า 4.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบ ร้อยละ 20 ของรายได้ตลาดรถยนต์ในสหรัฐฯ
อีกทั้ง บรรดาเหล่านักวิเคราะห์หลายสำนักต่างคาดการณ์ถึงมาตรการภาษีจะเป็นแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวงกว้าง เมื่อภาวะต้นทุนพุ่งสูงขึ้น ทำให้ราคารถยนต์แพงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ อาจจะทำให้ยอดขายในปีนี้ที่ยอดขายสูญหายไปกว่า 2 ล้านคัน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนลง ล่าสุดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (ณ วันที่ 11 เมษายน) ลดลงเหลือระดับ 50.8 ต่ำสุดตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ จำนวน 6 กลุ่มซึ่งเป็นกลุ่ม Lobbyist กลุ่มใหญ่สุดในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ เป็นตัวแทนของผู้ผลิตรถยนต์ ผู้จัดจำหน่าย และซัพพลายเออร์ ได้รวมตัวลงนามในจดหมาย และยื่นต่อทีมบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อขอให้พิจารณาการผ่อนคลายมาตรการภาษีร้อยละ 25 สำหรับสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์นำเข้า ที่จะมีการจัดเก็บภาษีในวันที่ 3 พฤษภาคม 2568 โดยให้เหตุผลถึงโอกาสการสูญเสียตลาดแรงงาน ซึ่งโรงงานมีการปลดและเลิกจ้างพนักงาน ความล้มเหลวด้านห่วงโซ่อุปทาน การหยุดชะงักงันของอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ ซึ่งรัฐ Michigan จะได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งๆ ที่เป็นรัฐที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ล่าสุด แหล่งข่าวที่ได้รับการยืนยันจากทำเนียบขาว ได้รายงานว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังพิจารณาการยกเว้นภาษีบางรายการสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ และสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์นำเข้า
การพิจารณาทบทวนการผ่อนคลายมาตรการภาษีร้อยละ 25 ในกลุ่มสินค้ายานยนต์ ของทรัมป์ น่าจะเป็นการส่งสัญญานที่ดีของการผ่อนคลายมาตรการภาษี ประกอบกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ทรัมป์ได้รับชัยชนะจากรัฐ Michigan โดยได้เปลี่ยนจากรัฐที่เคยเป็นฐานเสียงของพรรค Democrat มาเป็นของพรรค Republican จึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทรัมป์และทีมบริหารต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากมาตรการภาษีในกลุ่มสินค้ายานยนต์ ได้รับ การพิจารณาผ่อนคลาย ถือเป็นโอกาสที่ดีของของไทย
หมายเหตุ: รายละเอียดที่ปรากฎบนบทความ ข่าวดังกล่าวมากจากหลายแหล่งข้อมูลที่จัดทำและเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไปซึ่งบางส่วนเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก มีวัตถุประสงค์รวบรวมเพื่อเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การรับข้อมูลหรือนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณเฉพาะบุคคล โดยโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโกจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
|