ท่ามกลางกระแสความนิยมด้านสุขภาพและสมุนไพรจีนที่เริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย Chengdu Lotus Market หรือ ตลาดสมุนไพรเหอฮวาฉือ ตั้งอยู่ที่มณฑลเสฉวน นครเฉิงตู เขตจินเหนียว ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตลาดค้าส่งสมุนไพรที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศจีน ซึ่งเป็น แหล่งเพาะปลูกสมุนไพรชื่อดังของจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเป็นศูนย์กลางสำคัญของธุรกิจนำเข้าและส่งออกสมุนไพรจีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นครเฉิงตูมีประวัติศาสตร์ด้านการค้าสมุนไพรที่ย้อนไปได้ถึง สมัยราชวงศ์ถัง โดยพื้นที่รอบ วัดต้าฉือซื่อ และอารามอวี้จวี๋กวาน เคยเป็นศูนย์รวมของการรวบรวมและแลกเปลี่ยนสมุนไพร สะท้อนบทบาทของนครเฉิงตูในฐานะ “ชุมทางสมุนไพรแห่งจีนตะวันตก” มาอย่างยาวนาน ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง ภาคตะวันตกกับตะวันออกของจีน และความหลากหลายทางชีวภาพ มณฑลเสฉวนจึงกลายเป็น แหล่งผลิตสมุนไพรจีนที่สำคัญ โดยเฉพาะสมุนไพรที่มีคุณภาพและหายาก เช่น ชวนเป่ยหมู่ ฝูหลิง และถั่งเช่า
ปัจจุบันตลาดครอบคลุมพื้นที่กว่า 59.02 ไร่ มีผู้ประกอบการเข้าดำเนินธุรกิจมากกว่า 2,000 ราย และมีสมุนไพรจีนที่วางจำหน่ายมากกว่า 4,500 ชนิด ครอบคลุมทั้งสมุนไพรจากพืชและสัตว์ อาทิ โสม ฝูหลิง ถั่งเช่า หญ้าฝรั่น และรังนก เป็นต้น มูลค่าการซื้อขายของตลาดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านหยวนต่อปี หรือคิดเป็นเงินไทยราว 90,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12-15 ของมูลค่าตลาดค้าส่งสมุนไพรจีนทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าทุกชนิดภายในตลาดจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพก่อนวางจำหน่าย โดยมีศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะสำหรับการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์
ตลาดสมุนไพร Chengdu Lotus Market หัวใจของอุตสาหกรรมสมุนไพรจีนภาคตะวันตก
( ภาพและแหล่งที่มา : 四川成都国际商贸城荷花池中药市场) |
ตลาดสมุนไพร Chengdu Lotus Market ยังเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีการค้าสมุนไพรในจีน โดยเป็นตลาดแรกของประเทศที่จัดทำ “ดัชนีราคาสมุนไพรจีน” ซึ่งใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในระดับประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่นำร่องการใช้เทคโนโลยี IoT และ Blockchain เพื่อควบคุมคุณภาพและติดตามย้อนกลับสินค้าในห่วงโซ่อุปทานอย่างครบวงจร
แม้ว่าตลาดจะเน้นการจำหน่ายสมุนไพรจีนภายในประเทศเป็นหลัก แต่ก็มีการจำหน่ายสมุนไพรนำเข้าบางประเภท โดยสมุนไพรที่นำเข้ามีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่ได้แก่ หญ้าฝรั่นจากอิหร่าน กระวานขาวจากเวียดนาม และรังนกและโสมอเมริกันจากมาเลเซีย จากข้อมูลนำเข้าพบว่า สมุนไพรไทยมีคุณภาพดีและมีศักยภาพสูงในการเข้าสู่ตลาดจีน โดยเฉพาะสมุนไพรจากสัตว์ที่ได้รับความสนใจ เช่น ม้าน้ำแห้ง ไส้เดือน และรังนก ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและใช้ในตำรับยาจีนระดับพรีเมียม ปัจจุบัน จีนอนุญาตให้นำเข้าสมุนไพรจากไทย จำนวน 19 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์สมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ 1) ไส้เดือน 2) ม้าน้ำแห้ง 3) ตุ๊กแกแห้ง และพืชสมุนไพร 16 ชนิด ได้แก่ 1) หมาก 2) ถั่วแดงเม็ดเล็ก 3) พุทรา 4) วอลนัทแห้ง 5) งาดำ 6) พริกไทย 7) ใบมะกล่ำตาหนู 8) ขิง 9) พริกแห้ง 10) เกสรดอกบัว 11) เนื้อลำไยอบแห้ง 12) ซานเย่า 13) ลูกสำรอง 14) กล้วยไม้สมุนไพร 15) ลูกเดือย 16) งาขี้ม่อน
( ภาพและแหล่งที่มา : 国医小镇— 百草园 ) |
นโยบายท้องถิ่นเพื่อยกระดับ Chengdu Lotus Market สู่ศูนย์กลางสมุนไพรสีเขียว
รัฐบาลเทศบาลนครเฉิงตูยังมีแผนพัฒนาตลาดสมุนไพร Chengdu Lotus Market ให้เป็น “ศูนย์กลางสมุนไพรเชิงวัฒนธรรมและสุขภาพ” ผ่านการพัฒนา “สวนสมุนไพรแห่งชาติ (Guoyi Baicaoyuan)” และการเชื่อมโยงกับเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “เทียนฝู่กรีนเวย์” ตลอดจนส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนและการลดการปล่อยคาร์บอน
ตลาดสมุนไพร Chengdu Lotus Market จึงถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรจีนในรูปแบบครบวงจร ทั้งในด้านการจัดการ การค้าส่ง เทคโนโลยี และความเชื่อมโยงกับตลาดต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบการค้าสมุนไพรไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดจีนและระดับสากล
ข้อเสนอแนะ สคต. ณ นครเฉิงตู
จากการศึกษารูปแบบการพัฒนาและการบริหารจัดการของ ตลาดสมุนไพร Chengdu Lotus Market พบว่า ความสำเร็จของตลาดแห่งนี้เกิดจากการวางระบบแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งในด้านการรวบรวมผลผลิต การควบคุมคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีสนับสนุน และการเชื่อมโยงสู่ตลาดต่างประเทศ ภายใต้การสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาแนวทางการบริหารจัดการของตลาดสมุนไพร Chengdu Lotus Market ในฐานะต้นแบบสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรอย่างเป็นระบบ เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้า การจัดทำดัชนีราคาสมุนไพร และการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อขายสมุนไพรที่เชื่อมโยงกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคปลายทาง พร้อมทั้งสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ ระบบ Blockchain สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และ IoT สำหรับควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและรองรับความต้องการของตลาดระดับพรีเมียมในต่างประเทศ
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในด้านการสร้างแบรนด์ การยกระดับภาพลักษณ์สินค้า และการเข้าถึงช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยเข้าสู่ตลาดจีนและตลาดนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือกับตลาดเป้าหมายในจีน โดยเฉพาะตลาดขนาดใหญ่ เช่น Chengdu Lotus Market ผ่านกลไกความร่วมมือทางธุรกิจหรือการเจรจาระดับหน่วยงาน เพื่อให้สมุนไพรไทยสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การค้าในระดับภูมิภาคได้อย่างเป็นระบบ
การยกระดับระบบสมุนไพรไทยในลักษณะนี้ ไม่เพียงสร้างโอกาสทางการค้าและการส่งออกในระยะยาว แต่ยังสามารถสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริม Soft Power ของไทยในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผนวกการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้ากับระบบสมุนไพร การพัฒนาสมุนไพรเข้ากับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพร เช่น ภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “สมุนไพร + วัฒนธรรม + การท่องเที่ยว”
————————————————–
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู
เมษายน 2568
แหล่งข้อมูล :
Sichuan Traditional Medicine History”By Sichuan University Press (2022)
Xinhua News – Sichuan TCM Industry Report
Chengdu Municipal Government Policy Documents