เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 เที่ยวบินขนส่งสินค้าแบบเช่าเหมาลำที่บรรทุกทุเรียนหมอนทองจากไทย จำนวน 1,150 กล่อง น้ำหนักรวม 18 ตัน ได้มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติหลงตุ้งเป่า เมืองกุ้ยหยาง (Guiyang Longdongbao International Airport) มณฑลกุ้ยโจวได้อย่างราบรื่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศผ่านเส้นทาง กุ้ยหยาง – กรุงเทพฯ ในรูปแบบเช่าเหมาลำเที่ยวแรกได้เปิดบริการอย่างเป็นทางการ รวมถึงได้เป็นความประสบความสำเร็จในการนำเข้าสินค้าผลไม้ผ่านทางอากาศแบบเช่าเหมาลำโดยตรงครั้งแรกของเมืองกุ้ยหยาง
เส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนี้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ สายที่ 7 ของเมืองกุ้ยหยาง ที่เชื่อมระหว่างกุ้ยหยาง-กรุงเทพฯ ประเทศไทย มีแผนดำเนินเที่ยวบินสัปดาห์ละ 3 เที่ยว สามารถขนส่งสินค้าเที่ยวละ 18 ตัน โดยผ่านเครื่องบินขนส่งสินค้าแบบเต็มลำ โบอิ้ง 737-800 สำหรับทุเรียนที่นำเข้าครั้งนี้ นำเข้าโดยบริษัท Guizhou Shouyang International Trade Co., Ltd. มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านหยวน ใช้ระยะเวลาทั้งกระบวนการเพียงแค่ 30 ชั่วโมง ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวจากต้นทุเรียนแล้วผ่านการขนส่งถึงเมืองกุ้ยหยาง ส่วนระยะเวลาตรวจสอบของศุลกากรและรอผลตรวจสาร BY2 ประมาณ 2 วัน
Mr.Yang Bo ซึ่งเป็นประธานของบริษัทนำเข้าให้ข้อมูลว่า ทุเรียนการนำเข้าครั้งนี้เก็บจากสวนทุเรียนไทยโดยตรง และส่งไปบรรจุหีบห่อที่โรงคัดบรรจุ แล้วใส่กล่องกระดาษของบริษัทโดยเฉพาะ สุดท้ายขนส่งไปยังเมืองกุ้ยหยางผ่านทางอากาศจากรุงเทพฯ ใช้เวลาบิน 3 ชั่วโมง หลังจากผ่านการพิธีการศุลกากรแล้ว (ระยะเวลาตรวจสอบของศุลกากรและรอผลตรวจสาร BY2 ประมาณ 1-2 วัน) ก็จะสามารถกระจายสินค้าไปจำหน่ายที่หน้าร้านผลไม้ของบริษัท Shouyang ได้ภายใน 1-2 วัน ซึ่งรูปแบบการขนส่งทางอากาศสามารถยกประสิทธิภาพในการนำเข้าทุเรียน รักษาคุณภาพและความสดใหม่ของทุเรียนได้อย่างดี
ก่อนหน้านี้ บริษัทนำเข้าทุเรียนไทยส่วนใหญ่ผ่านด่านศุลกากรที่มณฑลยูนนาน เขตปกครองฯกว่างซีจ้วง และเมืองเซินเจิ้นเป็นต้น แล้วขนส่งต่อมายังเมืองกุ้ยหยาง ใช้เวลาประมาณ 3-10 วัน ซึ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งด้านเวลาสูง แต่สำหรับการขนส่งผ่านทางอากาศครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากศุลกากรกุ้ยหยาง ส่งเสริมให้ระยะเวลาการขนส่งลดลงอย่างมาก ซึ่งเทียบกับทางบกลดลงได้ถึง 3-5 วัน และหากเทียบกับการขนส่งทางทะเลลดลงได้ถึง 6-8 วัน หลังจากนำเข้าทุเรียนแล้ว ต่อไปบริษัทจากตั้งแผนนำเข้าผลไม้อื่นจากไทยด้วย เช่น มังคุด สับปะรด สับปะรด เป็นต้น
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติหลงตุ้งเป่ากุ้ยหยางได้รับอนุญาตให้เป็นสถานที่ตรวจสอบและกักกันโรคผลไม้นำเข้าจากศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 และได้ผ่านการตรวจรับจาก GACC เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 นอกจากนี้ ท่าอากาศยานดังกล่าวยังเป็นสถานที่ตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับสัตว์น้ำเพื่อบริโภค และสินค้าอาหารทะแลเช่แข็ง จนถึงปัจจุบันได้เปิดเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งหมด 3 เส้นทาง ได้แก่ เมืองธากาของบังกลาเทศ ย่างกุ้งของเมียนมาร์ และกรุงเทพฯ ของไทย
ในปี 2567 มณฑลกุ้ยโจวมีการนำเข้าผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ คาดการณ์ว่าปริมาณการนำเข้าผลไม้ต่างประเทศในปี 2568 จะมีปริมาณมากกว่า 50,000 ตัน
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองหนานหนิง เมืองกุ้ยหยางเป็นเมืองเอกของมณฑกุ้ยโจว ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน GDP ในปี 2567 ที่มูลค่า 3,153,410 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เป็นอันดันที่ 22 จาก 32 มณฑลของจีน GDP ต่อหัวอยู่ที่ 58,685 หยวน ซึ่งถือว่าประชากรกุ้ยโจวยังพอมีกำลังบริโภค ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติหลงตุ้งเป่ากุ้ยหยางเป็นด่านแห่งเดียวที่สามารถนำเข้าผลไม้ต่างประเทศโดยตรงได้ แต่ด้วยค่าขนส่งทางอากาศจะค่อนข้างสูงถ้าเทียบกับค่าขนส่งทางบกและทางทะเลโดยผ่านมณฑลอื่น ดังนั้น รูปแบบการขนส่งผ่านทางอากาศจึงเหมาะกับการนำเข้าผลไม้ที่มีมูลค่าสูง เช่น ทุเรียน มังคุด โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลทุเรียนที่ใกล้เข้ามาถึงนี้ การขนส่งทางอากาศจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำเข้าทุเรียนสู่ตลาดกุ้ยโจวโดยตรง เนื่องจากมีความได้เปรียบในด้านเวลาขนส่งและเวลาการตรวจสอบของด่านศุลกากร รวมถึงระยะเวลาการตรวจสาร BY2 ถ้าเทียบกับนำเข้าผ่านด่านต่างๆ ของมณฑลอื่น ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ส่งออกทุเรียนมายังมณฑลกุ้ยโจวโดยผ่านเมืองกุ้ยหยาง และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ สคต.ณ เมืองหนานหนิง ผ่านทางอีเมล์: thaitcnannnnig@ditp.go.th
——————————————————————
แหล่งที่มาก https://mp.weixin.qq.com/s/WzjThZ_rVo7NjAWqCcjVDA
https://mp.weixin.qq.com/s/T_PxJDJZAjGuu9ypHZOguQ
https://www.sl.gov.cn/zwgk/zdlyxxgk/jjfz/202310/t20231024_83467467.html
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง
วันที่ 17 เมษายน 2568