ราคาไข่ในญี่ปุ่นพุ่งสูงตามต้นทุนการผลิต สภาวะโลกร้อน และการขาดแคลนผลผลิตจากโรคระบาดไข้หวัดนก กระทบการบริโภคภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการเกี่ยวเนื่อง โดยในเดือนเมษายน 2568 ราคาสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
ราคาไข่ในญี่ปุ่น ณ เดือนเมษายน 2568 โดยเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5 เท่าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าราคาขายส่งแพค 10 ฟอง (คละขนาด) อยู่ที่ 286 เยน (ข้อมูลจาก National Federation of Agricultural Cooperative Associations)ปัจจัยหลักๆ ที่ส่งต่อผลต่อการพุ่งสูงของราคาไข่ดังกล่าว ประกอบด้วย 1) ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบสำคัญ อย่างข้าวสาลี (ปริมาณการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 29 ของการส่งออกทั้งโลก) และข้าวโพด (ร้อยละ 19 ของตลาดโลก) และสถานการณ์ภัยแล้งในบราซิลที่กระทบปริมาณผลผลิตถั่วเหลือง รวมถึงราคาพลังงาน แรงงาน และค่าขนส่งที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินเยนอ่อนกระทบราคาสินค้านำเข้า 2) ปริมาณผลผลิตในประเทศลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก โดยในช่วงต้นปี 2568 พบการแพร่ระบาดในพื้นที่ 14 จังหวัด ต้องกำจัดไก่ และสัตว์ปีกอื่นรวมกว่า 9.32 ล้านตัว ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2566 – 2567 ญี่ปุ่นประสบวิกฤติ “Egg shock” โดยขาดแคลนไข่อย่างหนัก และมีราคาสูงมาก เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกใน 26 จังหวัด ส่งผลให้ต้องกำจัดไก่ และสัตว์ปีกอื่นรวมกว่า 17.71 ล้านตัว ในการนี้ สมาคมสัตว์ปีกแห่งประเทศญี่ปุ่น(Japan Poultry Association) คาดการณ์ปริมาณผลผลิตไข่ในปี 2568 ลดลงร้อยละ 6 เทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะคลื่นความร้อน กระทบ ปริมาณผลผลิตในภาคกสิกรรม และเกษตรกรรม
สถานการณ์ราคาไข่ที่สูงขึ้นดังกล่าว นอกจากจะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ยังกระทบอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่ใช้ไข่เป็นวัตถุดิบ และภาคธุรกิจบริการร้านอาหารอีกด้วย โดยที่ผ่านมา หากราคาไข่ปรับสูงขึ้นมาก ร้านอาหารบางแห่งทำการยกเลิกเมนูที่ใช้ไข่เป็นส่วนประกอบ (ร้อยละ 30 ของร้านอาหาร ระงับเมนูจากไข่เมื่อครั้งประสบวิกฤติราคาในปี 2566) และอาจกระทบสินค้าอาหารที่นิยมบริโภคประจำวัน อาทิ ขนมปังอีกด้วย