โอกาสของมหาวิทยาลัยนานาชาติขยายตลาดธุรกิจการศึกษาสู่สาธารณรัฐอินเดีย

อินเดียเป็นหนึ่งในตลาดการศึกษาที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ด้วยนักศึกษาที่มีจำนวนมากและความต้องการการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 มีจำนวนนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 24.8 ล้านคน โดยอัตราส่วน 69% เป็นการเข้ารับการศึกษจากโรงเรียนของภาครัฐ ในขณะที่ การศึกษาระดับอุดมศึกษามีจำนวนนักศึกษากว่า 4.33 ล้านคน จากสถาบัน 58,643 แห่ง (เพิ่มขึ้น 13.8% จากปี 2557-2558) คิดเป็นอัตราการแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษา (GER) ที่ 28.4% (2565) ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2578 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ดำเนินการในหลายเรื่องสำคัญเพื่อแสดงศักยภาพของภาคการศึกษาอินเดียต่อมหาวิทยาลัยต่างชาติ ผ่านนโยบายการศึกษาแห่งชาติ (National Education Policy – NEP) ปี 2563 และกฎระเบียบฉบับใหม่ที่อนุญาตให้มหาวิทยาลัยต่างชาติสามารถจัดตั้งวิทยาเขตในอินเดียได้ เป็นการสร้างโอกาสใหม่สำหรับสถาบันการศึกษานานาชาติ

โอกาสของมหาวิทยาลัยนานาชาติขยายตลาดธุรกิจการศึกษาสู่สาธารณรัฐอินเดีย
การศึกษาได้กลายเป็นเสาหลักสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขยายขอบเขตการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังต่างประเทศ โดยอินเดียถือเป็นหนึ่งในตลาดการศึกษาขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยไทยจึงเริ่มสำรวจโอกาสในการจัดตั้งวิทยาเขต สร้างพันธมิตร และขยายความร่วมมือทางวิชาการภายในประเทศอินเดีย การขยายตัวที่เกิดขึ้นคาดว่าจะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ความร่วมมือด้านการวิจัย และการแลกนักศึกษาระหว่างสองประเทศ
ความต้องการการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เพิ่มขึ้นในอินเดีย
ด้วยอินเดียมีประชากรนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างแสวงหาการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ ความต้องการปริญญาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลส่งผลให้มหาวิทยาลัยต่างชาติ รวมถึงมหาวิทยาลัยจากประเทศไทย ให้ความสนใจเข้ามามากขึ้น โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การลงทุนจากภาคเอกชนในภาคการศึกษาอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและการค้าภายในประเทศ (DPIIT) ปี 2567 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2543 ถึงมิถุนายน 2567 เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในภาคการศึกษาอินเดียมีมูลค่ารวม 9.55 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสตาร์ทอัพในกลุ่มธุรกิจบริการการศึกษาหรือ EdTech มีการขยายกิจการเพื่อเข้ามาตอบโจทย์ของสังคมอินเดียอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ได้รับการลงทุน 3.94 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางตลาดได้ถึง 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2574 และด้วยความตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการอินเดียร่วมมือกับสถาบันระดับนานาชาติพัฒนาการศึกษาให้ได้ในระดับมาตรฐานสากล สถาบันอุดมศึกษาในอินเดียจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ ซึ่งตอบรับความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป และการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลทางการศึกษา
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. รัฐบาลรัฐมหาราษฏระได้เชิญมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก 5 แห่งให้เข้ามาจัดตั้งวิทยาเขตในเมืองมุมไบภายใต้ชื่อ “Third Mumbai” ซึ่งเป็นเมืองใหม่ที่จะถูกพัฒนาขึ้นบริเวณชานเมืองนาวีมุมไบ มหาวิทยาลัยเหล่านี้จะตั้งอยู่ในเขต “Edu City” (เอ็ดดูซิตี้) กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาภายในเมือง Third Mumbai อนึ่ง มุขมนตรีรัฐมหาราษฏระ นายเทเวนทระ ฟัดนาวิส เปิดเผยในการประชุมสุดยอดครบรอบ 50 ปี USIBC (US-India Business Council) ที่เมืองมุมไบว่า “รัฐบาลกำลังวางแผนการสร้าง ‘Edu City’ ในนครแห่งใหม่นี้ จะมีการลงนามด้านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ 5 แห่งซึ่งติดอันดับ 50 มหาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก และได้เชิญชวนให้พวกเขามาตั้งวิทยาเขตที่นี้ ในจำนวนนี้ประกอบด้วยมหาวิทยาลัย 3 แห่งมาจากสหรัฐอเมริกา และจำนวน 2 แห่งจากออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร”
2. National Education Policy (NEP) 2020 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาเป็น 50% ภายในปี 2035 และส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Science/ Technology/ Engineering and Mathematics หรือ STEM ภาษา ทักษะสังคม) และลดภาระด้านการสร้างหลักสูตร สนับสนุนการวิจัยและความเป็นสากลของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ในภาพรวมงบประมาณปี 2024-2025 มีการจัดสรรงบประมาณ คิดเป็นประมาณ 1.22 พันล้านดอลลาร์ (102,000 ล้านรูปี) เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2566 และมีการแบ่งสัดส่วนการจัดสรรได้แก่ โรงเรียนรัฐบาล (Samagra Shiksha) 37,500 ล้านรูปี อุดมศึกษา (Higher Education) 44,000 ล้านรูปี ด้านอาชีวศึกษา 3,500 ล้านรูปี และด้านการวิจัยและนวัตกรรม 2,000 ล้านรูปี (1 รูปี = 0.4040 บาท) ซึ่งภาพรวมของการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษามีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการออกกลางคัน ยกระดับคุณภาพครู เพิ่มการเข้าถึงการศึกษาดิจิทัล
การขยายความร่วมมือทางการศึกษา
ในปี 2567 ความร่วมมือด้านการศึกษาอินเดีย เน้นเรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านทุนการศึกษา การตั้งวิทยาเขตนานาชาติ และการวิจัยร่วมระหว่างมหาวิทยาลัย รวมถึงได้รับแรงหนุนจากนโยบาย NEP 2020 และการลงทุนจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ด้วยกฎระเบียบที่ผ่อนคลายและมาตรการจูงใจสำหรับสถาบันต่างชาติ ทำให้มหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจและจัดตั้งวิทยาเขตในอินเดีย ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่ขยายความร่วมมือในตลาดอินเดีย ได้แก่ University of Strathclyde (สหราชอาณาจักร) ใช้โมเดลการสร้าง Ecosystem นวัตกรรม และหลักสูตรที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นที่ต้องการของตลาด Indian Institutes of Technology (IITs) เน้นส่งเสริมหลักสูตรร่วมกับสถาบันระดับโลก เช่น การเปิดทุนวิจัยสำหรับนักศึกษาอาเซียน และการเชิญ 5 มหาวิทยาลัย Top 50 ของโลกจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักรที่เน้นสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม ให้เข้ามาตั้งวิทยาเขตใน Edu City เมือง Third Mumbai
ข้อคิดเห็น
อินเดียเป็นตลาดมีประชากรในช่วงอายุ 5-24 ปีมากที่สุดในโลก คิดเป็นประมาณ 580 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงโอกาสอันมหาศาลในภาคการศึกษา ในปี 2566 ภาคการศึกษาขั้นพื้นฐานของอินเดียหรือ K-12 มีมูลค่า 48.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตที่อัตรา 11.1% ต่อปี โดยมีการคาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตได้ถึง 125.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2575 ปัจจุบัน งบประมาณการศึกษาปี 2024-25 ถูกจัดสรรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ (73,498 ล้านรูปี ) สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 19.56% จากปีก่อน นอกจากความต้องการของตลาดด้านศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญาเฉพาะทางจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องแล้ว จำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นมีส่วนแปรผันต่อการเลือกสาขาวิชาที่จะศึกษาต่อ โดยเฉพาะในสาขาที่มุ่งเน้นทักษะเฉพาะทางสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสสำหรับการจ้างงาน ธุรกิจด้านการศึกษาของอินเดียจึงถือว่าเป็นหนึ่งในระบบการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ ภาครัฐของอินเดียให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้มีการประกาศใช้นโยบายการศึกษาแห่งชาติ(NEP 2020) เพื่อเปิดเสรีให้มหาวิทยาลัยต่างชาติสามารถเข้ามาจัดตั้งวิทยาเขตและสามารถเข้ามาลงทุน ดำเนินธุรกิจด้านการศึกษาจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ความท้าทายและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ควรพิจารณาในตลาดอินเดียได้แก่ ประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ อัตราส่วนครูต่อนักเรียน ช่องว่างทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้อินเดียยังคงต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “New India” ในการเป็นมหาอำนาจการศึกษาระดับโลก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจในตลาดด้านการศึกษาของอินเดีย อาจพิจารณาขยายธุรกิจผ่านการนำเสนอจุดเด่นด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ การนำเสนอมาตรฐานและความแข็งแกร่งทางวิชาการระดับสากลทั้งการจัดสรรหลักสูตรเฉพาะทาง สาขาอาชีพ และโปรแกรมการเรียนแบบปริญญาร่วมที่เป็นสาขาที่ต้องการของตลาดอินเดีย ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัย เแพลตฟอร์มการเรียนรู้และการใช้ AI /Smart Class และ Augmented Reality (AR) เข้ามาประยุกต์ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจบริการการศึกษาของไทยได้มากขึ้นในตลาดอินเดีย
ที่มา: 1 https://www.hindustantimes.com/cities/mumbai-news/top-us-uk-varsities-to-set-up-campuses-in-third-mumbai-101742929960958.html
2. https://www.ibef.org/industry/education-sector-india/infographic

thThai