ฮ่องกงเดินหน้าขยายข้อตกลงการค้า รับมือศึกภาษีจากสหรัฐฯ

 

Mr. John Lee Ka – Chiu ผู้บริหารสูงสุดแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการรักษาบทบาทของฮ่องกงในฐานะ “ท่าเรือเสรีระดับนานาชาติ” พร้อมประกาศยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อผสานเศรษฐกิจเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงเดินหน้าเร่งทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ

 

Mr. Lee กล่าวว่า การขึ้นภาษีของสหรัฐ จะเพิ่มความเสี่ยงและต้นทุนต่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ตรงกับหลักเกณฑ์การค้าเสรีที่ประชาคมโลกร่วมกันสนับสนุน

 

ในวันเดียวกัน รัฐบาลกลางจีนประกาศเตรียม “มาตรการตอบโต้” หากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติม ภายหลังประธานาธิบดี Donald Trump ขู่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มอีก 50% ต่อสินค้านำเข้าจากจีน เว้นแต่จีนจะยกเลิกมาตรการตอบโต้ก่อนหน้า

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Trump เพิ่งประกาศมาตรการภาษีใหม่ต่อประเทศคู่ค้าทั่วโลก โดยเฉพาะการเรียกเก็บภาษีเพิ่ม 34% ต่อสินค้าจีน ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าที่ส่งออกจากฮ่องกงด้วย ส่งผลให้ภาษีรวมที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากสินค้าฮ่องกงพุ่งแตะระดับ 54% ขณะที่จีนประกาศตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ในอัตราเดียวกัน

 

ท่ามกลางความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้น Mr. Lee ย้ำถึงพันธกิจในการรักษาฮ่องกงให้คงสถานะ “ท่าเรือเสรี” ต่อไป

“การค้าเสรีคือจุดแข็งสำคัญของฮ่องกง และเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จของเมืองนี้ เราจะเดินหน้านโยบายการค้าเสรี รักษาการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า เงินทุน และข้อมูล พร้อมเปิดกว้างต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาค้าขายและลงทุนในฮ่องกง” เขากล่าว

 

Mr. Lee ระบุว่า ในฐานะศูนย์กลางการส่งออกของภูมิภาค ฮ่องกงกำลังเผชิญแรงกดดันจากภายนอก โดยเฉพาะภาคโลจิสติกส์ ธุรกิจนำเข้า–ส่งออก วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม รวมถึงผู้ประกอบการการค้าข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

 

รัฐบาลฮ่องกงเตรียมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใน 7 ด้านหลัก เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว และเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคธุรกิจในประเทศ

 

“จีนคือเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีขนาดใหญ่รองจากสหรัฐฯ มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน เราจำเป็นต้องเร่งผนวกฮ่องกงเข้าสู่การพัฒนาในระดับชาติ และใช้ประโยชน์จากโอกาสในตลาดนี้อย่างเต็มที่” เขากล่าว

 

นอกจากนี้ผู้บริหารสูงสุด ยังระบุว่า ฮ่องกงจะเร่งลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับนานาประเทศ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงการลงทุนกับประเทศต่าง ๆ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย บังกลาเทศ อียิปต์ และเปรู

 

เขากล่าวว่ารัฐบาลจะผลักดันให้ฮ่องกงเข้าร่วม “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (RCEP) โดยเร็ว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

 

สำหรับยุทธศาสตร์ในด้านอื่น ๆ รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดึงดูดบุคลากรระดับแนวหน้า รวมถึงยกระดับความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเข้าสู่ฮ่องกง

 

 

ความคิดเห็นของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง

 

ฮ่องกงปรับตัวอย่างแข็งขันภายใต้แรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ด้วยการกระจายตลาดการค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ขยายความร่วมมือกับประเทศเศรษฐกิจใหม่ในอาเซียนและตะวันออกกลางเพื่อข้อตกลงการค้าเสรี (FTAs) ใหม่ ๆ รวมถึงการคงสถานะเป็นท่าเรือการค้าเสรีที่เปิดกว้าง นอกจากนี้ฮ่องกงยังส่งเสริมบทบาทในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีการเงิน (FinTech) และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (GreenTech) พร้อมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนและธุรกิจทั่วโลก ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความสามารถในการเป็นศูนย์กลางการค้าและวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่อนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

 

ในบริบทที่ฮ่องกงปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากสงครามการค้า ด้วยการขยายตลาดการค้าและพัฒนาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ไทยสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะพันธมิตรที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาความร่วมมือด้าน GreenTech และ FinTech รวมถึงการใช้จุดแข็งของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางการค้าเพื่อเชื่อมโยงสินค้าจากไทยเข้าสู่ตลาดจีนและตลาดโลก

 

 

แหล่งข้อมูล: https://www.scmp.com/news/hong-kong/hong-kong-economy/article/3305608/hong-kong-will-remain-free-port-despite-us-tariffs-john-lee-says?module=top_story&pgtype=subsection

thThai