ผลแบบสำรวจการรับรู้ของผู้นำเข้าอียิปต์ต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอียิปต์

ผลแบบสำรวจการรับรู้ของผู้นำเข้าอียิปต์ต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอียิปต์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงไคโร ได้จัดทำแบบสำรวจการรับรู้ (Perception Survey) ต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอียิปต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เข้าใจสภาพของสินค้าไทย รวมถึงอุปสรรคและโอกาสในการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าไทย ในตลาดอียิปต์ จากมุมมองของผู้นำเข้าชาวอียิปต์ที่นำเข้าสินค้าจากไทยเป็นจำนวนมาก ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกในช่วงรอมฎอนปี ๒๕๖๘ รวม ๒๗ ราย ในสาขาต่าง ๆ ได้แก่ อาหารแปรรูป (๑๕ ราย) ผัก/ผลไม้สด (๓ ราย) ส่วนประกอบยานยนต์ (๕ ราย) อัญมณีและเครื่องประดับ (๒ ราย) ไม้แปรรูป (๑ ราย) และก๊อกน้ำและอุปกรณ์สุขภัณฑ์ (๑ ราย) 

 

ผลแบบสำรวจดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

 

๑. ภาพรวมสินค้าไทยในอียิปต์

๑.๑ ผู้นำเข้าอียิปต์ทั้งหมดมีข้อสังเกตว่า ความต้องการสินค้าไทยในอียิปต์มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสินค้านำเข้าจากไทยมีราคาสูงขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ซึ่งส่งผลกระทบมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ โดยเฉพาะเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ มากกว่า ๗๐% {1} ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลสูงขึ้นเนื่องจากความไม่สงบในทะเลแดง และภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงต่อเนื่อง ประมาณ ๒๐-๓๔%

๑.๒ ศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในอียิปต์

๑.๒.๑ สินค้าอาหารแปรรูปจากไทยยังคงมีศักยภาพสูงในอียิปต์ เนื่องจากได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางและล่าง มีลักษณะเฉพาะตัว และเป็นสินค้าที่มีความน่าเชื่อถือในเชิงคุณภาพ  โดยเฉพาะอาหารทะเลแปรรูป และซอสปรุงรส  อย่างไรก็ดี หากสินค้าอาหารจากไทยมีราคาสูงขึ้นต่อไป จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในตลาดอียิปต์ได้ เนื่องจากจะมีราคาเท่ากับสินค้านำเข้าจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้บริโภคชาวอียิปต์ส่วนใหญ่ยังคงคิดว่ามีคุณภาพดีกว่า

๑.๒.๒ สินค้าชิ้นส่วนยานยนต์จากไทย โดยเฉพาะยางรถยนต์และช่วงล่างรถยนต์ ยังคงมีศักยภาพในอียิปต์ แต่มีความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสินค้าคู่แข่ง ทั้งที่ผลิตในต่างประเทศ (จีนและยุโรป) และที่ผลิตในอียิปต์ ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียง แต่มีราคาขายถูกกว่าสินค้าจากไทย

๑.๒.๓ ผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูปจากไทยยังคงมีศักยภาพในอียิปต์ และมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอียิปต์

๑.๒.๔ อัญมนีและเครื่องประดับจากไทยยังคงมีศักยภาพในอียิปต์ เนื่องจากเป็นงานฝีมือประนีตและมีคุณภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงทั่วโลก

๑.๒.๕ ก๊อกน้ำและอุปกรณ์สุขภัณฑ์จากไทยยังคงมีศักยภาพในอียิปต์ แต่มีความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสินค้าคู่แข่งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียง แต่มีราคาขายถูกกว่าสินค้าจากไทย

 

๒. อุปสรรคและความท้าทาย

๒.๑ ผู้นำเข้าอียิปต์ทั้งหมดเห็นว่า ยังไม่มีอุปสรรคสำคัญในการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยผู้นำเข้าอียิปต์ส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้เส้นทางการขนส่งทางทะเลอ้อมแหลมกู๊ดโฮ้ป ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๒-๓ เดือน แทนการเดินเรือผ่านทะเลแดงและคลองสุเอซ ซึ่งแม้จะใช้เวลาสั้นกว่า แต่ยังคงมีความเสี่ยงและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า  ในขณะที่ผู้นำเข้าอียิปต์ทั้งหมดได้มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้สินค้าที่สามารถแข่งขันในเชิงราคาได้ดีที่สุดในตลาดอียิปต์

๒.๒ ผู้นำเข้าอียิปต์บางส่วนพบกรณีสินค้าไทยปลอมและถูกละเมิดเครื่องหมายการค้าในตลาดอียิปต์เพิ่มขึ้น เช่น ซอสพริกและซอสเปรี้ยวหวาน สินค้าลูกหมากรถยนต์ และก๊อกน้ำ โดยมีข้อสังเกตว่า อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในคุณภาพของสินค้าไทยในภาพรวมต่อไปได้ เนื่องจากสินค้าปลอมดังกล่าวผลิตโดยมิได้คำนึงถึงคุณภาพ เพื่อกดราคาขายให้ดึงดูดใจผู้บริโภคชาวอียิปต์มากที่สุด 

๒.๓ ผู้นำเข้าอียิปต์บางส่วนมีข้อสังเกตว่า พบสินค้าคู่แข่งเพิ่มขึ้น ทั้งที่ผลิตและนำเข้าจากต่างประเทศและที่ผลิตในอียิปต์ ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกับสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตในอียิปต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่พยายามลดการนำเข้าเพื่อลดภาวะขาดดุลการค้า {2} และส่งเสริมการผลิตภายในประเทศเพื่อการส่งออก เช่น การเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าในสินค้าบางชนิด การให้สิทธิพิเศษจูงใจให้ไปลงทุนผลิตสินค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมของอียิปต์

 

๓. โอกาส

๓.๑ ผู้นำเข้าอียิปต์บางส่วนเห็นว่า ความต้องการสินค้าไทยที่ลดลงในตลาดอียิปต์เป็นภาวะชั่วคราว และจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจอียิปต์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่บางส่วนเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่อง โดยไทยจำเป็นต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เพราะหากสินค้าไทยสูญเสียความสามารถในแข่งขันเชิงราคา ผู้นำเข้าอาจมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนไปนำเข้าสินค้าที่มีลักษณะใกล้เคียงจากประเทศอื่นหรือผลิตในอียิปต์มากขึ้น

๓.๒ การร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าในอียิปต์เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ผู้นำเข้าอียิปต์สนใจ เนื่องจากแรงจูงใจและสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลอียิปต์ให้ในปัจจุบัน ทำให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าในอียิปต์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสินค้าที่มีความต้องการสูงขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) ปลากระป๋อง ชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยาง ก๊อกน้ำและอุปกรณ์สุขภัณฑ์ เป็นต้น

 

๔. ความเห็น/ข้อเสนอแนะ

๔.๑ ปัจจุบัน ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้านำเข้าจากไทยในตลาดอียิปต์เริ่มลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยภายนอกอียิปต์ เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ความไม่สงบในภูมิภาค ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าทางทะเลสูงขึ้น และปัจจัยภายในอียิปต์ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ สกุลเงินปอนด์อียิปต์อ่อนค่า ทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น ประกอบกับอียิปต์ประสบกับภาวะขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ และภาระหนี้สาธารณะสูงเกือบร้อยละ ๙๐ ของจีดีพี ส่งผลให้รัฐบาลอียิปต์ควบคุมการนำเข้าโดยขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ไม่จำเป็น (โดยไม่มีการกำหนดนิยาม) และส่งเสริมการผลิตในอียิปต์เพื่อการส่งออก ผู้ส่งออกไทยจึงเป็นต้องพิจารณาลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าผ่านการวิจัยและพัฒนา และพัฒนาแบรนด์และคุณค่าของแบรนด์ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดอียิปต์ต่อไป

๔.๒ ควรพิจารณาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศแอฟริกา รวมทั้งอียิปต์ โดยอาจพิจารณาจัดทำได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม ทั้งแบบทวิภาคีระหว่างไทยกับรายประเทศ และแบบหลายฝ่ายผ่านกรอบ ASEAN plus หรือการภาคยานุวัติเข้าร่วมกับ African Continental Free Trade Area ซึ่งมีอียิปต์เป็นสมาชิก โดยควรให้ความสำคัญกับการลดภาษีสินค้าเพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากประเทศที่มี FTA กับอียิปต์ การคุ้มครองการลงทุนเพื่อปกป้องการลงทุนขนาดใหญ่จากไทยในอียิปต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อดูแลปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าไทยในอียิปต์ รวมถึงข้อบทอื่น ๆ ด้วย เช่น การค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

—————————————————

{1} อัตราแลกเปลี่ยน ปัจจุบันอยู่ที่ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๕๐ ปอนด์อียิปต์ ซึ่งอ่อนค่าลงจากปี ๒๕๖๖-๒๕๖๗๖๗ ซึ่งอยู่ที่ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๓๐ ปอนด์อียิปต์ และปี ๒๕๖๕ ซึ่งอยู่ที่ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๑๕ ปอนด์อียิปต์

{2} เมื่อปี ๒๕๖๗ อียิปต์ขาดดุลการค้าประมาณ ๔,๑๕๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทั้งนี้ ระหว่างปี ๒๕๐๐-๒๕๖๗ อียิปต์ขาดดุลการค้าเฉลี่ย ประมาณ ๑,๐๓๗.๕๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี

thThai