รายงานตลาดรถยนต์ รถไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ในออสเตรเลีย

  1. ภาพรวมตลาดยานยนต์ออสเตรเลีย

อุตสาหกรรมยานยนต์ออสเตรเลียอยู่ในช่วงที่มีการเติบโตเต็มที่ (อิ่มตัว) และกำลังเข้าสู่ภาวะขาลง ท่ามกลางความต้องการรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงที่ลดลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานเชื้อเพลิงสู่พลังงานสะอาด แต่เนื่องจากราคารถยนต์พลังงานสะอาดที่ค่อนข้างสูงและระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของการใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่พร้อม ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การซื้อรถยนต์ของชาวออสเตรเลียจะเน้นรถยนต์ Hybrid เป็นหลัก รัฐบาลกลางออสเตรเลียจึงกำหนดแผนกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและเร่งขยายเครือข่ายสถานีชาร์จพลังงานเร็วทั่วออสเตรเลียเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่งให้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสและแผนนโยบายลดปัญหาโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) โดยกำหนดแนวทางลดการปล่อยมลพิษระยะยาวให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

อุตสาหกรรมยานยนต์ออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี มีมูลค่าตลาด 180.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แยกเป็นมูลค่ารถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศร้อยละ 66.7  มีมูลค่า 120.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ  ธุรกิจบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษายานยนต์ร้อยละ 13 มูลค่า 23.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ร้อยละ 13 มูลค่า 23.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการผลิตรถบรรทุก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ในประเทศร้อยละ 7.3 มูลค่า 13.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และภายในสิ้นปี 2568 คาดว่า มูลค่าตลาดยานยนต์ออสเตรเลียจะลดลงร้อยละ 0.7 เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยสูงและความกดดันด้านค่าครองชีพ

ปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ออสเตรเลียเริ่มซบเซาลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากยอดขายรถยนต์ใหม่แต่ละเดือนลดลงต่อเนื่อง ข้อมูลโดยสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ออสเตรเลีย ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ในออสเตรเลียยังคงทำสถิติสูงกว่า 1 ล้านคันต่อปี โดยในปี 2567 มียอดขายจำนวน 1,220,607 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากปี 2566  (เป็นผลจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก)

ยี่ห้อรถยนต์ที่ได้รับความนิยม 5 อันดับแรกในปี 2567 คือ Toyota (มีสัดส่วนร้อยละ 19.8) Ford (ร้อยละ 8.2) Mazda (ร้อยละ 7.9) Kia (ร้อยละ 6.7) และ Mitsubishi (ร้อยละ 8.2) โดยยอดขายรถยนต์ใหม่ร้อยละ 57 เป็นรถยนต์เอนกประสงค์ประเภท SUVs มีจำนวน 695,566 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ยอดขายรถกระบะ (Utes) มีสัดส่วนร้อยละ 22 มีจำนวน 270,351 คัน ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 1.4 และยอดขายรถยนต์นั่งขนาดเล็กประเภท Sedan และ Hatchbacks ซึ่งมียอดขายลดลงมาโดยตลอดมีสัดส่วนร้อยละ 17 มีจำนวน 203,384 คัน ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 3.8 สำหรับยอดขายรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถบัส รถตู้ และรถบรรทุกยังคงที่มีสัดส่วนร้อยละ 4 มีจำนวน 51,306 คัน

ปี 2567 เป็นปีที่ยอดขายรถยนต์ Hybrid และ PHEV ได้รับความนิยมมากที่สุด  โดยมีปัจจัยด้านการลดปัญหามลพิษในอากาศ ค่าใช้จ่ายในการใช้งานต่ำและมาตรการลดหย่อนภาษีของภาครัฐ (FBT) เป็นกลไกกระตุ้น และเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกรถยนต์ Hybrid และ PHEV จากไทยทดแทนตลาดรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลง

สำหรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในออสเตรเลีย ข้อมูลโดย Electric Vehicle Council เปิดเผยว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าในออสเตรเลียมีจำนวน 122 รุ่น ประมาณ 300,000 คัน เป็นรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Electric Vehicle) ประมาณ 248,000 คัน และรถไฟฟ้าแบบ PHEV จำนวน 53,500 คัน (มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2567 ที่ผ่านมา) ทำให้ตลาดรถไฟฟ้ามีตัวเลือกมากขึ้นถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2566 คาดว่า ความนิยมรถไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2569 สัดส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 15 ถึงร้อยละ 19 ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด เนื่องจากการเข้ามาทำตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูก การลดภาษีและโครงการสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย การเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าเร็วในปีที่ผ่านมา จะช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่กังวลเกี่ยวกับระยะทางในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

ปี 2567 ยอดขายรถไฟฟ้ามีจำนวน 91,292 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 (เป็นยอดขายต่ำสุดเมื่อเทียบกับยอดขาย 3 ปีที่ผ่านมาจากการลดลงของยอดขายรถ Tesla) โดยรถไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ
Tesla Model Y, Tesla Model 3, MG 4, BYD Seal และ BYD Atto 3 ตลาดรถไฟฟ้าในออสเตรเลียเริ่มมีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้นโดยมีรถไฟฟ้า Tesla (ครองสัดส่วนผู้นำตลาดรถไฟฟ้าในออสเตรเลีย) มียอดขายลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปี 2566 ในขณะที่ยอดขายรถไฟฟ้ายี่ห้ออื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 (มีราคาที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้)

นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ Hybrid ในออสเตรเลียมีจำนวน 172,696 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับปี 2566 เป็นยอดขายรถยนต์ Hybrid ของToyota มากที่สุด มีจำนวน 118,081 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.8 โดยรุ่นที่ขายดีที่สุด คือ Toyota RAV4, Toyota Corolla, Toyota Camry, Toyota Kluger และ Toyota Yaris Cross และยอดขายรถไฟฟ้าแบบ PHEV มีจำนวน 23,163 คันเพิ่มขึ้น 2 เท่าของยอดขายในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้ามาทำตลาดของรถยนต์ BYD Sealion 6 และ Mitsubishi Outlander

แม้ว่ายอดขายจะทำสถิติใหม่ในแต่ละปี แต่การเติบโตของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าชะลอตัวลงตลอดปี 2567 โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ลดลงร้อยละ 25 เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก จากข้อกังวลเกี่ยวกับระยะทางทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ออสเตรเลียเลือกใช้รถยนต์ Hybrid และ PHEV แทนซึ่งมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7

1.1 ตลาดค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของตลาดค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 2.7 ร้านค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ส่วนใหญ่กระจุกในรัฐ New South Wales รัฐ Victoria และรัฐ Queensland โดยส่วนใหญ่เป็นร้านค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ ประกอบด้วยสินค้าอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ร้อยละ 50.7 รองลงมาคือ Motor vehicle parts ชุดอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ร้อยละ 25.4 และสินค้าประเภท Electrical and electronic components ร้อยละ 23.9 ในปี 2568 ตลาดค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ออสเตรเลียมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 1.3 คิดเป็นมูลค่า 7,800 ล้านเหรียญออสเตรเลียเป็นผลจากชาวออสเตรเลียได้รับความกดดันด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ลดการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นลง

อย่างไรก็ตาม  ชาวออสเตรเลียยังคงเลือกที่จะซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ ( อะไหล่ใหม่และมือสอง) เพื่อรักษาสมรรถนะและยืดอายุการใช้งานรถยนต์ให้ยาวนานขึ้นแทนการซื้อรถใหม่ ทำให้อายุการใช้งานยานยนต์ในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของตลาดรถยนต์ที่ยังไม่แน่นอน คาดว่า ภายในปี 2573 ตลาดค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์จะขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี มีมูลค่า 8,700 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

ปี 2567 ตลาดค้าปลีกสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ออนไลน์ในออสเตรเลียมีมูลค่า 637.2 ล้านเหรียญออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 6.3 เนื่องจากผู้บริโภคยังนิยมชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ออนไลน์ในการซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ เพื่อความสะดวกและคุ้มค่า จากการที่ร้านมีโปรโมชั่นสินค้าบ่อยครั้ง และ คาดว่า ภายในปี 2572 มูลค่าตลาดค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ออนไลน์จะเพิ่มเป็น 645.8 ล้านเหรียญออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี

1.2 ตลาดค้าส่งรถไฟฟ้าในออสเตรเลีย

ตลาดค้าส่งรถไฟฟ้ามีมูลค่า 5,400 ล้านเหรียญออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 48.9  เป็นมูลค่าตลาดรถไฟฟ้าประเภท SUVs (EV) มีมูลค่า 2,500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย มีสัดส่วนร้อยละ 45.5 รองลงมาคือ รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (เก๋ง) มีมูลค่า 2,200 ล้านเหรียญออสเตรเลีย มีสัดส่วนร้อยละ 40.9 รถไฟฟ้าประเภท SUVs (PHEV) มีมูลค่า 700.3 ล้านเหรียญออสเตรเลีย มีสัดส่วนร้อยละ 13 และรถไฟฟ้าขนาดเล็ก (PHEV) มีมูลค่า 32.3 ล้านเหรียญออสเตรเลีย มีสัดส่วนร้อยละ 0.6 ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาตลาดรถไฟฟ้ามีการแข่งขันสูงจากการเข้ามาทำตลาดของผู้เล่นหลายราย โดยเฉพาะรถไฟฟ้าแบรนด์ BYD ของจีนซึ่งมีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้ง ภาครัฐเร่งขยายสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าตามเส้นทางสำคัญให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคและช่วยเหลือภาคครัวเรือนในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อประหยัดพลังงานและเริ่มบังคับใช้มาตรฐานประสิทธิภาพยานยนต์ใหม่ (NVES) เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีราคาถูกลงและช่วยให้ชาวออสเตรเลียเข้าถึงรถไฟฟ้าได้มากขึ้น คาดว่า ปี 2568 จะมีรถไฟฟ้าราคาถูกเข้ามาทำตลาดรถไฟฟ้าในออสเตรเลียเพิ่มขึ้น และภายในปี 2573 มูลค่าตลาดค้าส่งรถไฟฟ้าออสเตรเลียจะเพิ่มเป็น 16,700  ล้านเหรียญออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 25.4 ต่อปี

2. แนวโน้มความต้องการของตลาด

ปัจจุบันชาวออสเตรเลียนิยมซื้อรถยนต์ SUVs ทุกขนาดและกระบะ 4X4 dual-cab มากที่สุด และมีความต้องการซื้อรถยนต์พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาการปล่อยมลพิษในอากาศ รวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้งานในช่วงวิกฤตค่าครองชีพที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลเรื่องระยะทาง เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของออสเตรเลีย (พื้นที่ห่างไกล) ระบบโครงสร้างพื้นฐานยังไม่รองรับการใช้งานรถไฟฟ้า (สถานีชาร์จพลังงาน) โดยมีข้อจำกัดด้านราคาที่สูงเกินกำลังซื้อของชาวออสเตรเลีย และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคออสเตรเลียเลือกซื้อรถยนต์ Hybrid (ที่ยังต้องใช้น้ำมัน) และรถไฟฟ้าแบบ PHEV มากที่สุด (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ Toyota)

สำหรับความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ยานยนต์ขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่และรายได้ประชากรในแต่ละปี อายุการใช้งานของรถยนต์ในออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้นเป็น 10.6 ปีและแนวโน้มการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ด้วยตนเองเป็นแรงขับเคลื่อนความต้องการชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ยานยนต์ ในช่วงปี 2567-2568 ออสเตรเลียเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (ภาวะเงินเฟ้อ) ทำให้ชาวออสเตรเลียนิยมเปรียบเทียบราคาชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ยานยนต์ออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าประเภท Electrical และ Electronic components และนิยมสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ Amazon และ eBay รวมถึงเว็บไซต์ผู้ค้าปลีกโดยตรงมากที่สุด

ปัจจุบันตลาดค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้  ความต้องการซื้อชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ยานยนต์เพื่อยืดอายุการใช้งานรถยนต์ รวมถึงความต้องการปรับ/เพิ่มสมรรถนะและเทคโนโลยียานยนต์ โดยมีสินค้าที่มีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าประเภท Electrical และ Electronic components ซึ่งประกอบด้วย สินค้าประเภท ชุดสายไฟจุดระเบิดแบบมีฉนวน, หัวเทียน, จานจ่าย, คอยล์จุดระเบิด, starter motors, เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน, electrical ignition หรือสินค้าประเภท Starting equipment,สัญญาณเตือนภัย, อุปกรณ์ส่งสัญญาณเสียงไฟฟ้า, ที่ปัดน้ำฝน, เครื่องละลายน้ำแข็งและขจัดฝ้า ตลอดจนสินค้าประเภทระบบนำทางและ Digital control consoles เป็นต้น

3. ข้อมูลสถิติการค้า

3.1 การนำเข้ารถยนต์ ยานยนต์และชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์

ปี 2567 ออสเตรเลียนำเข้ารถยนต์ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากทั่วโลกมูลค่า 42,567 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 0.98 เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยเป็นรถยนต์นำเข้าจาก ญี่ปุ่น (ร้อยละ 25.01) ไทย (ร้อยละ 17.16) จีน (ร้อยละ 13.72) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 11.51) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 8.34) เป็นสัดส่วนการนำเข้ารถเก๋งมากที่สุด (ร้อยละ 55.41) รองลงมาคือ รถกระบะ (ร้อยละ 24.66)  และชิ้นส่วนและอุปกรณ์ (ร้อยละ 6.98)

ปี 2568 เดือนมกราคม ออสเตรเลียนำเข้ารถยนต์ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากทั่วโลกมีมูลค่า 2,897 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปี 2567 เป็นรถยนต์นำเข้าจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้และไทย ซึ่งมีการนำเข้าลดลงเกือบทุกประเทศยกเว้นการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา (จากการนำเข้ารถกระบะ รถเก๋งและอะไหล่ที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด) สำหรับการนำเข้าจากไทยในเดือนมกราคม ลดลงร้อยละ 52.84 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปี 2567 (ส่วนใหญ่เป็นการลดลงของรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงจากการนำเข้ารถกระบะลดลงร้อยละ 52.40 รถเก๋งลดลงร้อยละ 63.88 สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากไทยลดลงร้อยละ 1.94)

3.2 การนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์

ออสเตรเลียนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ มีสัดส่วนร้อยละ 6.98 ของการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ทั้งหมดซึ่งคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เป็นการนำเข้าแชสซีส์และส่วนประกอบอื่นๆ มากที่สุดร้อยละ 23.10  รองลงมา คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของตัวถังยานยนต์ร้อยละ 20.41 สินค้าประเภทเบรกและเชอร์โวเบรกของยานยนต์ร้อยละ 10.05 ระบบกันสะเทือนร้อยละ 8.41 สินค้าร้อยละ 45.8 นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและจีน

ปี 2567 การนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์  มีมูลค่า 2,972 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.04 สินค้าส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา จีน ไทย ญี่ปุ่นและเยอรมนีมากที่สุด และมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกประเทศ โดยออสเตรเลียเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุกรายการ

ปี 2568 (เดือนมกราคม) การนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ออสเตรเลียจากทั่วโลกมีมูลค่า 263.34 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.11 เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าแชสซีส์และส่วนประกอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของตัวถังยานยนต์ เบรกและเชอร์โวเบรก ระบบกันสะเทือน กระปุกเกียร์ กันชนและส่วนประกอบ เพลาขับ หม้อน้ำ คลัตช์ หม้อพักท่อไอเสีย Front Windscreens (Windshields) เข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัยพร้อมระบบพองลม แต่การนำเข้าล้อและส่วนประกอบและพวงมาลัยลดลง โดยออสเตรเลียเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศยกเว้นการนำเข้าจากไทยที่ลดลงร้อยละ 1.94 เป็นผลจากออสเตรเลียลดการนำเข้าสินค้าประเภท ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆของตัวถัง (รวมถึง Cabs) ลดลงร้อยละ 18.27 สินค้าประเภทแชสซีส์และส่วนประกอบอื่นๆ ลดลงร้อยละ 31.34 เบรกและเชอร์โวเบรกลดลงร้อยละ 5.89 ล้อและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 6.93 กระปุกเกียร์และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 3.46 คลัตช์ลดลงร้อยละ 28.56 หม้อพักท่อไอเสียและท่อไอเสียลดลงร้อยละ 51.18 และเข็มขัดนิรภัยลดลงร้อยละ 51.93 จากไทย เนื่องจากออสเตรเลียเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่นและเยอรมนีและหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลัก

การนำเข้าสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์จากไทย

ปี 2567 การนำเข้าสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์จากไทยมีมูลค่า 268.79 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.40 มีการขยายตัวเกือบทุกรายการยกเว้นการนำเข้าแชสซีส์และส่วนประกอบอื่นๆ เบรกและเซอร์โวเบรก ส่วนประกอบ ล้อและส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของล้อ และกระปุกเกียร์และส่วนประกอบของกระปุกเกียร์จากไทยที่ลดลง เนื่องจากออสเตรเลียเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเยอรมนี และจีนรวมถึงการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ

ปี 2568 (เดือนมกราคม) การนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์จากไทยมีมูลค่า 22.25 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 1.94 เป็นผลจากออสเตรเลียลดการนำเข้าสินค้าจากไทยเกือบร้อยละ 50 ของการนำเข้าจากไทยเมื่อเทียบกับการนำเข้าเดือนเดียวกันปี 2567 โดยเฉพาะสินค้าประเภทส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆของตัวถัง (รวมถึง Cabs) แชสซีส์และส่วนประกอบอื่นๆ เบรกและเชอร์โวเบรก คลัตช์และหม้อพักท่อไอเสีย

อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยที่ยังขยายตัวได้ดี คือ สินค้าประเภทกันชนและส่วนประกอบ ระบบกันสะเทือนและส่วนประกอบ เพลาขับ พวงมาลัย หม้อน้ำและส่วนประกอบและสินค้าประเภท Windshields

3.3 การนำเข้ารถยนต์ Hybrid และรถยนต์ไฟฟ้า

ปี 2567 ออสเตรเลียมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (พิกัด 870340-870380) มีมูลค่า 9,029 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.98 เมื่อเทียบกับปี 2566 เป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 35.36) จีน (ร้อยละ 29.61) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 9.35) เยอรมนี (ร้อยละ 8.78) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 5.47) ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 10 (สัดส่วนร้อยละ 0.78) เป็นการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า PHEV และ Hybrid ทั้งหมด

ปี 2568 เดือนมกราคม ออสเตรเลียนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลกมีมูลค่า 645.54 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 8.46 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปี 2567 เป็นการนำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนีและสหรัฐอเมริกามากที่สุด (ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 15 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.08 มีมูลค่าเพียง 508,761 เหรียญสหรัฐ) การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของออสเตรเลียเดือนมกราคม 2568 ที่ลดลงเป็นผลจากออสเตรเลียลดการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนซึ่งครองสัดส่วนตลาดมากที่สุด โดยมีการนำเข้าลดลงร้อยละ 43.5 สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากไทยลดลงร้อยละ 93.18 เนื่องจากไม่มีการนำเข้ารถไฟฟ้า PHEV จากไทย

4. การส่งออกรถยนต์ รถไฟฟ้าและชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์

ออสเตรเลียส่งออกรถยนต์ รถไฟฟ้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์มีมูลค่าเฉลี่ย 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ปี 2567 มีมูลค่าการส่งออก 1,134 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.19 สินค้าส่วนใหญ่ส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา ปาปัวนิวกินี อังกฤษและหมู่เกาะแปซิฟิก  โดยส่งออกไปไทยเป็นอันดับที่ 13 (ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทกันชนและส่วนประกอบ แชสซีส์และส่วนประกอบ และส่วนประกอบและรถยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร)

ปี 2568 (เดือนมกราคม) ออสเตรเลียส่งออกรถยนต์ รถไฟฟ้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์มีมูลค่า 69.45 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 5.29 โดยเป็นการส่งออกแชสซีส์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของตัวถังยานยนต์ ล้อ รถยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบเกิน 3,000 ลูกบาศก์เซนติเมตรและกันชนและส่วนประกอบ การส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ปาปัวนิวกินี และอินโดนีเซีย (ไทยเป็นแหล่งส่งออกอันดับที่ 7)

5. ระเบียบการนำเข้าและมาตรการเกี่ยวกับยานยนต์

5.1 ระเบียบการนำเข้า

การนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์มาจำหน่ายในออสเตรเลียภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรี TAFTA มีภาษีนำเข้าเป็นศูนย์

5.2 มาตรการเกี่ยวกับยานยนต์

รัฐบาลออสเตรเลียกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยานยนต์ใหม่ New Vehicle Efficiency Standard (NVES) เพื่อเป็นมาตรฐานการปล่อยมลพิษขั้นต่ำสำหรับรถยนต์ใหม่ซึ่งเริ่มมีผลแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 โดยกฎระเบียบนี้จะมีผลใช้กับการขายรถยนต์ใหม่เท่านั้น เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะโดยเฉลี่ยของผู้ผลิตรถยนต์ที่ขายทั้งหมดในแต่ละปี (ขีดจำกัดนี้จะถูกปรับลดลงเรื่อยๆ) โดยจะตรวจวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นกรัมต่อกิโลเมตร และกำหนดค่าปรับ 100 เหรียญออสเตรเลียต่อกรัม (2,100 บาท) ที่เกินขีดจำกัดต่อกิโลเมตร เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์เพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับต่ำ

โดยมาตรฐาน NVES มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตลาดรถยนต์พลังงานสะอาดในออสเตรเลียมีการแข่งขันมากขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับชาวออสเตรเลียในการเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์พลังงานสะอาดในราคาถูกลง อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้งานยานยนต์พลังงานเชื้อเพลิงให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่เฉลี่ย 1,000 เหรียญออสเตรเลียต่อปีภายในปี 2571

6. การแข่งขันในตลาด

การแข่งขันของตลาดรถยนต์ รถไฟฟ้า อะไหล่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ในออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันด้านราคา ความทันสมัยของเทคโนโลยี ความสะดวกสบายและประสิทธิภาพยานยนต์ด้านการปล่อยมลพิษและการประหยัดน้ำมัน ในส่วนของสินค้าอะไหล่ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ นอกจากราคาและคุณภาพของสินค้าแล้ว ความสามารถในการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภคและบริการจัดส่งที่รวดเร็ว ซึ่งตลาดชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์มีคู่สหรัฐอเมริกาและจีนเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาด

ตลาดรถยนต์ในออสเตรเลียส่วนใหญ่นำเข้าโดยบริษัทแม่และกระจายไปจำหน่ายในศูนย์จำหน่ายรถยนต์สาขาต่างๆ ธุรกิจศูนย์จำหน่ายรถยนต์ในออสเตรเลียมีผู้เล่นรายใหญ่ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นรายย่อยที่ดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายรถยนต์และนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์โดยอิสระ จึงเน้นการแข่งขันด้านราคาและบริการเป็นหลัก โดยมีผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดที่สำคัญ คือ บริษัท Toyota Motor Corporation Australia Limited (นำเข้าและค้าส่งรถยนต์ยี่ห้อToyota จากญี่ปุ่นและไทย) บริษัท Eager Automotive Limited จำหน่ายรถยนต์แบรนด์ต่างๆมากกว่า 40 แบรนด์) บริษัท Ford  Motor Company of Australia Pty Ltd (จำหน่ายรถยนต์ Ford และแบรนด์ในเครือของสหรัฐอเมริกา) บริษัท Mazda Australia Pty Limited (ผู้จำหน่ายรถยนต์ Mazda) และบริษัท Suttons Motors Pty Ltd ธุรกิจศูนย์จำหน่ายรถยนต์ในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ 24 สาขา 28 ยี่ห้อ

การแข่งขันในตลาดรถยนต์พลังงานสะอาดออสเตรเลียมีรถยนต์ Hybrid (แบรนด์ Toyota) ที่ใช้พลังงานจากเครื่องยนต์เป็นหลักซึ่งสามารถตอบโจทย์ด้านราคาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีเมื่อเทียบกับรถไฟฟ้า (BEV และ PHEV) จึงได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ใช้ยานยนต์ในออสเตรเลียในปัจจุบัน (เนื่องจากรถไฟฟ้าที่จำหน่ายในออสเตรเลียปัจจุบันมีเพียง 6 รุ่นที่มีราคาต่ำกว่า 40,000 เหรียญออสเตรเลีย โดย MG4 เป็นรุ่นที่ถูกที่สุดมีราคาประมาณ 30,000 เหรียญออสเตรเลีย) ตลาดรถไฟฟ้ามีผู้จำหน่ายรายใหญ่คือ บริษัท Tesla Motors Australia Pty Ltd (ผู้จำหน่ายรถไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกาครองสัดส่วนตลาดสูงสุดร้อยละ 32 แบรนด์ Tesla Model Y และ Model 3 ) บริษัท BYD Australia Pty Ltd (ผู้ผลิตและจำหน่ายรถไฟฟ้าจากจีนแบรนด์ BYD Atto3 และ BYD Seal)

ตลาดค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ออสเตรเลียร้อยละ 81 เป็นผู้เล่นรายย่อยมีผู้เล่นรายใหญ่ค่อนข้างน้อย (จำนวน 4 ราย) ประกอบด้วย บริษัท Super Retail Group Limited บริษัท Bapcor Limited บริษัท GPC Asia Pacific Holding Pty Ltd และบริษัท Auto One Limited และตลาดค้าปลีกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ออนไลน์ร้อยละ 68.9 เป็นผู้เล่นรายย่อยมีผู้เล่นรายใหญ่ 5 ราย คือ บริษัท Super Retail Group Limited บริษัท GPC Asia Pacific บริษัท Bapcor บริษัท Auto Parts Group Pty Ltd และบริษัท ISW Trading Pty Ltd ส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์/แอปพลิเคชั่นและมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในตลาด เน้นการทำตลาดโดยการเข้าซื้อกิจการผู้ค้าปลีกรายย่อยเพื่อขยายสาขาบริการ (Location) พร้อมพนักงานที่มีความรู้เกี่ยวกับสินค้าให้บริการ (Knowledgeable staff) เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้บริโภคและการเข้าถึงสินค้าในการใช้บริการ Click-and- Collect และมีอำนาจในการต่อรองกับแหล่ง Suppliers สูงเพื่อประโยชน์ในการทำโปรโมชั่นด้านราคาต่อไป

7. โอกาส อุปสรรคและความท้าทาย

7.1 โอกาสในตลาดออสเตรเลีย

  • ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ส่งออกที่มีมาตรฐานการผลิตเป็นที่ยอมรับในตลาดสากลและเป็นผู้ส่งออกรถกระบะมากเป็นอันดับ 1 ในตลาดออสเตรเลียทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่จากต่างประเทศให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ผลิตแบตเตอรี่ อุปกรณ์ชาร์จพลังงานเร็ว (ทั้งแบบติดตั้งและพกพา) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตลอดจนโอกาสในการร่วมทุนธุรกิจกับผู้ผลิตในออสเตรเลีย (บริษัทออสเตรเลียที่เข้าไปลงทุนในไทยแล้วคือ บริษัท ลูเมน (ประเทศไทย) จำกัด ผลิต Wireless Electric Vehicle Charging (WEVC) และบริษัทที่สนใจขยายการลงทุนผลิตส่วนประกอบของ EV (แบตเตอรี่) ในเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ACE EV Group และ บริษัท Custom Denning)
  • ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ชาวออสเตรเลียยังมีความกังวลเกี่ยวกับระยะทางเป็นสำคัญ ทำให้ชาวออสเตรเลียนิยมซื้อรถยนต์ Hybrid และ PHEV มากกว่ารถไฟฟ้าแบตเตอรี่ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย เนื่องจากรถยนต์พลังงานสะอาดที่ไทยส่งออกมายังออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ Hybrid และ PHEV
  • ชาวออสเตรเลียนิยมเปรียบเทียบราคาและซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บไซต์ทั้งในและต่างประเทศ การทำตลาดสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้ เช่น eBay และ Amazon จะเป็นการสร้างโอกาสในการขยายตลาดในต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำแต่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง
  • อายุการใช้งานรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกต่อความต้องการชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เพื่อยืดอายุการใช้งานในระยะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์พลังงานสะอาด

7.2 ความท้าทายในตลาดออสเตรเลีย

  • รัฐบาลออสเตรเลียมีนโยบายผลักดันการเติบโตของรถยนต์พลังงานสะอาด/รถยนต์ไฟฟ้าให้มีราคาถูกลงเพื่อกระตุ้นให้ชาวออสเตรเลียซื้อรถยนต์ใหม่พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิงและลดมลพิษในอากาศ โดยในปี 2568 กฎหมายมาตรฐานการปล่อยมลพิษยานยนต์สำหรับรถยนต์ใหม่ New Vehicle Efficiency Standard (NVES) เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ทำให้ปี 2568 จะเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ที่จะส่งออกทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงมายังตลาดออสเตรเลียเนื่องจากรถ SUVs และกระบะ (ส่วนใหญ่เป็นเครื่องยนต์เบนซิลและดีเซล) มีสัดส่วนรวมกันมากกว่าครึ่งของยอดขายรถยนต์ใหม่ในตลาดออสเตรเลียซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ประเภทดังกล่าวจำเป็นต้องลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในระดับมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับรถยนต์ใหม่ NVES ซึ่งจะทำให้รถยนต์ประเภทดังกล่าวมีราคาสูง (เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนที่สูงขึ้น) และการแข่งขันด้านราคาจากรถไฟฟ้าราคาถูกจากจีน ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่ออสเตรเลียจะเป็นตลาดเป้าหมายในการส่งออกรถไฟฟ้าหลังถูกมาตรการด้านภาษีในตลาดสหรัฐฯและสหภาพยุโรป
  • คู่แข่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะจีนและเกาหลีใต้มีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความพร้อมในการผลิต ทำให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขันทั้งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและตลาดชิ้นส่วน อุปกรณ์ยานยนต์ ที่สามารถส่งออกสินค้าภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี กระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทย

8. ข้อเสนอแนะและแนวทางการผลักดันสินค้า

  • ติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าต่างๆ ที่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของทรัมป์ (ด้านภาษีรถยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์ยานยนต์) อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมการรับมือด้านการผลิต แสวงหาตลาดทดแทนและขยายโอกาสการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในออสเตรเลีย
  • สนับสนุนภาคเอกชนในการร่วมทุนการผลิตรถยนต์และอุปกรณ์กับผู้ผลิตออสเตรเลียภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์มลพิษต่ำ การผลิตแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
  • ใช้โอกาสและสิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีไทยและออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA) และสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins: ROOs) ในระบบห่วงโซ่การผลิตภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) อย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการค้าและการส่งออก
  • เข้าร่วมงานแสดงสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ในออสเตรเลีย งาน The Australian Auto Aftermarket Expo ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ

………………………………………………………………………………………………………….

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

                                                มีนาคม 2568

ที่มา:

IBISWorld

Global Trade Atlas

Federal Chamber of Automotive Industries

BOI

thThai