เนื้อข่าว
ท่ามกลางกระแสโลกที่มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ธุรกิจในเวียดนามกำลังมองหาแนวทางที่ช่วยลดต้นทุนพลังงานได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทข้ามชาติหลายแห่งมีข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทานของตน เพื่อตอบสนองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG standards) ภายใต้แรงกดดันนี้ กลไกความตกลงซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) ได้กลายเป็นทางเลือกเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเลือกแหล่งพลังงานของตนเองได้อย่างอิสระ พร้อมทั้งผลักดันให้ตลาดไฟฟ้าภายในประเทศมีความเสรีมากขึ้น
DPPA เปิดโอกาสให้ลูกค้ารายใหญ่สามารถลงนามในสัญญาระยะยาวโดยตรงกับผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน แทนที่จะพึ่งพาการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) เพียงอย่างเดียว กลไกนี้ช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดราคาพลังงานล่วงหน้า ลดความผันผวนของค่าไฟฟ้า และเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งช่วยให้สามารถรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมได้ และตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่มีข้อกำหนดด้านความยั่งยืนที่เข้มงวดมากขึ้น
DPPA มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจสามารถลงทะเบียนเพื่อรับรองมาตรฐานสีเขียว (Green certification) ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำคัญสำหรับตลาดส่งออก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์ไม้ และเกษตรแปรรูป การใช้พลังงานหมุนเวียนจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตเสื้อผ้าในจังหวัดในจังหวัดบิ่นห์เยือง (Binh Duong) ที่ลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถผ่านมาตรฐาน “Green” ของ H&M และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป (EU) ได้ถึงร้อยละ 15 ภายในปี 2567 นอกจากนี้ DPPA ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดราคาค่าไฟฟ้าได้แบบคงที่หรือแปรผันกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยสัญญามีระยะเวลาตั้งแต่ 5 – 20 ปี ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาพลังงานฟอสซิลเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจสามารถวางแผนต้นทุนได้อย่างแม่นยำ
อีกทั้ง DPPA ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าสีเขียว (Green electricity) ระยะยาวจะเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียนในการขยายโครงการเพิ่มเติม อีกทั้งกระแสเงินสดที่มั่นคงจาก DPPA ยังช่วยดึงดูดเงินทุนจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัจจัย ESG ในระยะยาว ตลาดไฟฟ้าเสรีที่ได้รับการส่งเสริมโดย DPPA จะช่วยดึงดูดทุนต่างชาติและผลักดันให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภูมิภาค นอกจากนี้ DPPA ยังเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาตลาดค้าปลีกไฟฟ้าให้มีการแข่งขันสูงขึ้น เดิมทีธุรกิจต้องพึ่งพา EVN แต่ปัจจุบันสามารถเลือกซัพพลายเออร์พลังงานหมุนเวียนได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใส กระตุ้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และลดอำนาจผูกขาดในตลาดพลังงาน
ความท้าทายในการดำเนินการ DPPA ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ธุรกิจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แม้ว่าจะมีประโยชน์มากมาย แต่ DPPA ยังเป็นแนวทางใหม่ในเวียดนาม และต้องเผชิญกับอุปสรรคทั้งในด้านกฎหมาย เทคนิค และการเงิน โครงสร้างกฎหมายและข้อบังคับยังไม่สมบูรณ์ แม้จะมีเอกสารพื้นฐานรองรับ เดิมคือกฤษฎีกา 80/2024/NĐ-CP และปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยกฤษฎีกา 57/2025/NĐ-CP แต่ยังขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องกลไกการชำระเงิน ค่าธรรมเนียมการส่งไฟฟ้า และการบริหารความเสี่ยงด้านราคา ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อพิพาทหรือ ความล่าช้าในการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายส่วนต่าง (Contracts for Difference: CFD) ที่เป็นหัวใจสำคัญของ DPPA กำหนดราคาค่าไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุสัญญา หากธุรกิจขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการปรับราคาและการกระจายความเสี่ยง การเจรจาอาจใช้เวลานาน ส่งผลกระทบต่อทั้งต้นทุนและความคืบหน้าของโครงการ
อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญคือ ความซับซ้อนในนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าผูกขาดกับหน่วยงานบริหารนิคมอุตสาหกรรมหรือบริษัทโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนไปใช้ DPPA อาจต้องมีการเจรจาใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ค่าปรับ หรือแม้แต่การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการส่งไฟฟ้า ค่าบริหารจัดการสัญญา และค่าดำเนินงานของระบบ ทำให้ธุรกิจคาดการณ์ต้นทุนโดยรวมได้ยาก นอกจากนี้ การเข้าร่วม DPPA ยังต้องใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้เฉพาะทาง ทั้งด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ตลาดพลังงาน กฎหมาย และทักษะการเจรจาระดับสากล ซึ่งอาจเป็นภาระหนักสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก
แนวทางแก้ไขที่สำคัญคือ ธุรกิจควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กฎหมาย และตลาดไฟฟ้าก่อนเข้าร่วม DPPA เพื่อประเมินความต้องการ วิเคราะห์ความเสี่ยง และออกแบบแผนดำเนินงานที่เหมาะสม นอกจากนี้ ธุรกิจที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมควรเริ่มต้นการเจรจากับหน่วยบริหารนิคมและผู้ค้าปลีกไฟฟ้าตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกับ DPPA และลดความขัดแย้งกับสัญญาที่มีอยู่ SMEs สามารถใช้แนวทางการรวมกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำของ DPPA ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านที่ปรึกษา และเพิ่มอำนาจต่อรองกับผู้ผลิต อีกทั้งการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนทางเทคนิคจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit: GIZ) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) จะช่วยเสริมสร้างความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน ลดความเสี่ยง และดำเนินโครงการ DPPA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในระยะยาว DPPA เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันการเปิดเสรีตลาดไฟฟ้า ทำให้ธุรกิจสามารถซื้อขายไฟฟ้าได้โดยตรงผ่านระบบที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ปรับปรุงคุณภาพบริการ และเพิ่มทางเลือกในการจัดหาพลังงาน นอกจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว DPPA ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มโอกาสทางการค้าในตลาดที่มีกฎระเบียบเข้มงวด เช่น สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ DPPA ได้สร้างรากฐานสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเวียดนามสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่มั่นคง การปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มนี้ ผ่านการอัปเดตกฎหมายเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร และได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จาก DPPA ได้สูงสุดและบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(แหล่งที่มา https://thesaigontimes.vn/ ฉบับวันที่ 22 มีนาคม 2568)
วิเคราะห์ผลกระทบ
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก ด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อัตราการใช้ไฟฟ้าเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12 – 13 ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศต้องเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หรือประมาณ 150,424 เมกะวัตต์ และในปี 2593 อาจสูงถึงกว่า 500,000 เมกะวัตต์ หรือมากกว่าปัจจุบันถึง 6 – 7 เท่า ดังนั้น รัฐบาลเวียดนามจึงเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ควบคู่กับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว
หนึ่งในมาตรการสำคัญคือ กลไกการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: DPPA) ซึ่งได้รับอนุมัติภายใต้กฤษฎีกา 80/2024/NĐ-CP เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) โมเดลนี้ช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาดพลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และสนับสนุนเป้าหมายของเวียดนามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านสัญญาระยะยาว ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาไฟฟ้า
กลไก DPPA คาดว่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามในตลาดโลก DPPA ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเสรีตลาดไฟฟ้า ซึ่งอาจนำไปสู่รูปแบบการซื้อขายพลังงานที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต เช่น การประมูลไฟฟ้าเสรี (Power Exchange) หรือแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานระหว่างเอกชน
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ DPPA ขึ้นอยู่กับการพัฒนากฎระเบียบที่เหมาะสม การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน และการให้ความรู้แก่ภาคธุรกิจเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง ความท้าทายหลัก ได้แก่ กรอบกฎหมายที่ต้องมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม อุปสรรคด้านโครงข่ายไฟฟ้าที่ต้องรองรับพลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และความซับซ้อนของสัญญาทางการเงิน เพื่อให้ DPPA ประสบความสำเร็จ รัฐบาลควรเร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ออกมาตรการจูงใจการลงทุนในพลังงานสะอาด และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมในการใช้พลังงานหมุนเวียน
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
เวียดนามกำลังก้าวเข้าสู่การเปิดเสรีตลาดพลังงานอย่างเป็นทางการ โดยการนำข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (DPPA) มาใช้เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ลดการพึ่งพาการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในภาคพลังงานมากขึ้น นโยบายนี้ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสามารถจำหน่ายไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยตรง สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจขนาดใหญ่พลังงานหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องการลดคาร์บอนฟุตพรินต์และปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากล (ESG) เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และสิ่งทอ ซึ่งเป็นภาคการผลิตสำคัญของเวียดนาม
สำหรับนักลงทุนไทย DPPA ถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายธุรกิจด้านพลังงานในเวียดนาม โดยเฉพาะบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงพลังงาน ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) และการให้คำปรึกษาด้าน ESG สามารถนำเสนอโซลูชันด้านพลังงานสะอาดแก่ภาคอุตสาหกรรมเวียดนามที่ต้องการปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานโลก นอกจากนี้ บริษัทไทยที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม สามารถใช้ DPPA เป็นช่องทางในการเจาะตลาดพลังงานเวียดนาม ซึ่งมีอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง ร้อยละ 12 – 13 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ตลาด DPPA ของเวียดนามต้องอาศัยความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับกฎหมายพลังงาน โครงสร้างตลาดไฟฟ้า และระบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งมีความซับซ้อนและแตกต่างจากระบบของไทย การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรท้องถิ่น เช่น บริษัทพลังงานเวียดนาม หรือภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ จะช่วยให้นักลงทุนไทยสามารถขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการบริหารจัดการไฟฟ้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน