รัฐบาลฮ่องกงทุ่มงบหนุนวิจัยและพัฒนา ผลักดัน สตาร์ทอัพสู่เวทีโลก

ฮ่องกงกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีต้นกำเนิดจากงานวิจัยและพัฒนาในมหาวิทยาลัย ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ นักวิเคราะห์ชี้ว่า เมืองแห่งนี้มีศักยภาพสูงจากการที่มหาวิทยาลัยไม่เพียง แต่มีหน่วยงานลงทุนของตนเอง แต่ยังได้รับแรงหนุนจากนโยบายเชิงรุกของรัฐบาล

 

Mr. Vincent So ผู้ก่อตั้ง Inspect Element บริษัทพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพชั้นนำในฮ่องกง ให้ข้อมูลกับ   สำนักข่าว Hong Kong Business ว่า “ภาคเอกชนสามารถลงทุนในโครงการของมหาวิทยาลัยได้โดยมีรัฐบาลร่วมอุดหนุนเงินทุนบางส่วน” พร้อมคาดการณ์ว่าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและสถาบันการศึกษาจะช่วยเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการให้กลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ใช้งานได้จริง

 

Ms. Floria Chan, Senior vice president at Beyond Ventures กล่าวว่า “หนึ่งในโครงการสำคัญของรัฐบาลคือ Research, Academic and Industry Sectors One-plus (RAISe+) ซึ่งได้รับงบประมาณถึงหมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัย 8 แห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการเงินอุดหนุนมหาวิทยาลัย

 

ด้าน Mr. Albert Wong, CEO at Hong Kong Science & Technology Parks Corporation (HKSTP), เผยว่า ปัจจุบันฮ่องกงมีนักวิจัยที่มีศักยภาพสูงจำนวนมาก แต่ขาดทักษะด้านธุรกิจที่จำเป็นต่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์ หน่วยงานของเขาจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงการที่ช่วยเสริมทักษะเหล่านี้ ผ่านการฝึกอบรม    การขยายตลาด และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพ โดยมีเป้าหมายผลักดันสตาร์ทอัพฮ่องกงให้ก้าวสู่เวทีโลก”

 

ล่าสุด HKSTP เตรียมเปิดตัว “Global Booster Programme” เฟส 2 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นโปรแกรมหลักสูตรเข้มข้นระยะเวลา 6 เดือน ครอบคลุมการฝึกอบรมเชิงลึก การพัฒนาธุรกิจ และกลยุทธ์การระดมทุน เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพฮ่องกงขยายฐานสู่ตลาดอเมริกาเหนือและระดับสากล พร้อมรับการสนับสนุนจากนักลงทุนและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์

 

แนวโน้มการสนับสนุน Startup กลุ่ม AI – วิทยาศาสตร์ชีวภาพ – พลังงานสะอาด

Ms. Floria Chan ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “สตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มได้รับเม็ดเงินสนับสนุนในปีนี้ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีหลัก วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และพลังงานสะอาด ซึ่งรัฐบาลมักให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในภาคส่วนเหล่านี้เป็นพิเศษ และส่งผลให้กองทุนร่วมลงทุน (venture capital fund) ต่างๆ        มีแนวโน้มที่จะลงทุนในทิศทางเดียวกัน”

 

Mr. Albert Wong ยังกล่าวถึงมาตรการสำคัญของรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ แม้ยังไม่มีผลกำไร สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดการลงทุนและกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรม

 

Mr. Adrian Lo, Head of Ipsos Strategy3 คาดการณ์ว่า สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เฮลธ์เทค และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จะขยายตลาดเข้าสู่จีนและเอเชียได้รวดเร็วขึ้น ด้วยแรงสนับสนุนจาก HKSTP, Cyberport และ Hong Kong-Shenzhen Innovation and Technology Park (HSITP)

 

ด้าน Mr. Ron Levin, Managing partner at Alumni Ventures กล่าวว่า AI จะมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ “เมื่อ AI และ Machine Learning ผสานกับความก้าวหน้าด้านพันธุศาสตร์และชีววิทยาสังเคราะห์ เราจะเห็นการพัฒนาเทคนิควินิจฉัยโรคและการค้นพบยารูปแบบใหม่ที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งอาจช่วยชีวิตผู้คนได้นับไม่ถ้วน”

 

ข้อมูลจากหน่วยงาน Startup Genome ระบุว่า ชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสามอุตสาหกรรมที่ฮ่องกงมีศักยภาพโดดเด่น ควบคู่กับห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ รวมถึงเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech)

 

นอกจากนี้ Mr. Adrian Lo ได้อ้างอิงข้อมูลจาก Startup Genome ที่ระบุว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 จนถึงช่วงปลายครึ่งหลังของปี 2024 มีสตาร์ทอัพด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพรายใหม่ถึง 45 แห่งเข้ามาตั้งฐานในฮ่องกง นำเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 800 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และสร้างงานใหม่ถึง 3,000 ตำแหน่ง

 

กลุ่ม ฟินเทค-กรีนเทค (Fintech, greentech) ยังคงได้รับความสนใจ

 

InvestHK เปิดเผยว่า FinTech ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตสูงสุดของฮ่องกง โดยในปี 2024 มีผู้ประกอบการ      ในอุตสาหกรรมนี้มากถึง 619 ราย สอดคล้องกับ Mr. Amit Chu, Partner at Verda Ventures ระบุว่า สถาบันการเงินจำนวนมากในฮ่องกงเริ่มหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมากขึ้น

 

Mr. JF Gauthier, CEO at Startup Genome เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์ผ่าน Zoom ว่าการลงทุนใน   บล็อกเชนเติบโตขึ้นถึง 17 เท่าระหว่างปี 2020 ถึง 2024 พร้อมระบุว่า “บล็อกเชนและการเงินแบบกระจายศูนย์จะสร้างผลตอบแทนที่แข็งแกร่งให้กับฮ่องกง”

 

Mr. Amit Chu กล่าวเสริมว่า โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินแบบกระจายศูนย์ ระบบอัตโนมัติทางการเงินที่ขับเคลื่อนด้วย AI และการเงินแบบฝังตัว เป็นฟินเทคที่มีศักยภาพขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดที่ลดลง ประกอบกับการผสมผสาน AI และบล็อกเชนในบริการทางการเงิน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและปลดล็อก   โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ พร้อมกระตุ้นกิจกรรมการลงทุนที่แข็งแกร่ง

 

เขายังคาดการณ์ถึงการเติบโตของ Web3 และสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นผลมาจากกรอบกฎระเบียบที่เอื้อต่อ คริปโตของฮ่องกง และการสนับสนุนจาก Cyberport ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลและผู้ผลักดันสตาร์ทอัพของฮ่องกง

 

“ฮ่องกงได้ทุ่มเททรัพยากรให้กับสถาบันสินทรัพย์ดิจิทัล (Institutional crypto) และ Web3 โดยได้รับการสนับสนุนจากระบบออกใบอนุญาตสำหรับผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งช่วยดึงดูดบริษัทระดับโลก” Mr. Chu กล่าว “งาน Cyberport Venture Capital Forum เป็นตัวอย่างที่ดีของการนำผู้เกี่ยวข้องจากทั่วโลกมาร่วมกันแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่าย”

 

Mr. Vincent So ตั้งข้อสังเกตว่าฮ่องกงอยู่ในจุดยืนที่แตกต่างจากจีน ซึ่งเปิดโอกาสให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินด้านสินทรัพย์ดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ขณะที่จีนได้จำกัดการใช้คริปโตและกวาดล้างการซื้อขายและขุดเหมือง (mining) มาตั้งแต่ปี 2021 และเสริมว่าฮ่องกงเพิ่งอนุมัติให้ 4 แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโต ได้แก่      Accumulus GBA Technology (Hongkong) Co., DFX Labs Company, Hong Kong Digital Asset EX และ Thousand Whales Technology (BVI) สามารถดำเนินธุรกิจได้

 

Mr. Adrian Lo ระบุว่าหลายฝ่ายในอุตสาหกรรมมองนโยบายคริปโตของฮ่องกงเป็น “สัญญาณว่าเมืองนี้อาจเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม Web3 ที่เกี่ยวข้องกับจีน” พร้อมเสริมว่าแนวโน้มนี้จะผลักดันให้เกิดกลุ่มสตาร์ทอัพด้านบล็อกเชนมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาการเงินดิจิทัลที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ผลิตภัณฑ์คริปโตสำหรับสถาบันการค้าต่างประเทศ และการแปลงสินทรัพย์จริงเป็นโทเคน ซึ่งจะทำให้ฮ่องกงแข่งขันโดยตรงกับสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมคริปโตและบล็อกเชนระดับแนวหน้าของเอเชียแปซิฟิก

 

นอกเหนือจากบทบาทศูนย์กลางทางการเงินด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ฮ่องกงยังมุ่งสู่การเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีสีเขียวและการเงินที่ยั่งยืน โดย GreenTech Hub ของ HKSTP ซึ่งเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและการเติบโตของเทคโนโลยีสีเขียว ได้รวบรวมบริษัทกรีนเทคกว่า 200 แห่ง พร้อมพันธมิตร 16 รายจากภาคธุรกิจ การเงิน อุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยชั้นนำของฮ่องกง

 

Mr. Albert Wong กล่าวว่ามหาวิทยาลัยพันธมิตรมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาแรงงาน ทดสอบเทคโนโลยี และสร้างโอกาสในการใช้งานจริง เพื่อเร่งกระบวนการวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสตาร์ทอัพของฮ่องกงจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ข้อมูลจาก InvestHK ระบุว่า ในปี 2024 จำนวนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสีเขียวในฮ่องกงเพิ่มขึ้น 82% จาก  ปีก่อน เป็น 244 ราย ขณะที่สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพและการแพทย์เพิ่มขึ้น 54% เป็น 275 ราย ส่งผลให้จำนวนสตาร์ทอัพในเมืองแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4,694 ราย

 

Mr. Amit Chu เสริมทิ้งท้ายว่า การลงทุนจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสตาร์ทอัพที่มี “ความต้องการของผู้ใช้ที่ชัดเจน เส้นทางรายได้ที่แข็งแกร่ง และสอดคล้องกับกฎระเบียบ”

 

ความคิดเห็นของ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง

ฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางที่โดดเด่นด้านธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัย พร้อมการสนับสนุนเชิงรุกจากรัฐบาลผ่านการจัดตั้งหน่วยงานด้านการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัย นักศึกษา และนักลงทุน ปัจจุบันมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างไทยและฮ่องกงในระดับภูมิภาคอาเซียนผ่านมหกรรมธุรกิจ Start-up และกิจกรรมด้านการเงิน ทั้งการประชุมเชิงวิชาการ เวิร์กช็อป และกิจกรรมสร้างเครือข่าย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นักศึกษา และนักลงทุนได้แลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือ ส่งเสริมการเป็นพันธมิตรและคู่ค้าในระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

แหล่งข้อมูล: https://www.jcnnewswire.com/pressrelease/97092/2/FILMART-and-EntertainmentPulse-2025-open-today?form=MG0AV3&form=MG0AV3

thThai