การนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ในปี 2568 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2568 ลดลงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีปริมาณ 641,000 ตัน ซึ่งตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมระบุว่า การลดลงเป็นผลจากความไม่แน่ใจของผู้นำเข้าที่ชะลอการนำเข้าข้าว เนื่องจากการบังคับใช้มาตรการราคาขายปลีกสูงสุดที่แนะนำ (Maximum Suggested Retail Price: MSRP) ของกระทรวงเกษตร (DA)
นาย Arnel V. de Mesa ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร (DA) กล่าวว่า เดือนมีนาคม 2568 มีการนำเข้าข้าวปริมาณ 96,260 ตัน เดือนกุมภาพันธ์ปริมาณ 267,114 ตัน และเดือนมกราคมปริมาณ 277,540 ตัน โดยกระทรวงเกษตร ระบุว่า เมื่อเทียบกับปริมาณนำเข้าข้าวในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 เดือนมกราคมปริมาณ 429,260 ตัน เดือนกุมภาพันธ์ปริมาณ 341,585 ตัน และเดือนมีนาคมปริมาณ 415,764 ตัน
นาย Raul Q. Montemayor กรรมการผู้จัดการสหพันธ์เกษตรกรเสรี (Federation of Free Farmers) กล่าวว่า การบังคับใช้ MSRP ในเดือนมกราคมอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าข้าวลดลงอย่างมาก ซึ่งกระทรวงเกษตรได้เริ่มบังคับใช้ MSRP สำหรับข้าวที่นำเข้าตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 โดยกำหนดราคา MSRP ที่ 58 เปโซต่อกิโลกรัม และได้มีการปรับลดราคา MSRP ลงเป็น 52 เปโซในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ และ 49 เปโซในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา และกระทรวงเกษตรยังระบุว่า หากแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกยังคงอยู่และค่าเงินเปโซยังแข็งค่า รัฐบาลอาจจะปรับลดราคา MSRP สำหรับข้าวที่นำเข้าให้เหลือประมาณ 45 เปโซต่อกิโลกรัม ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568
นาย Montemayor กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้นำเข้าอาจกำลังป้องกันความเสี่ยง และพิจารณาสถานการณ์ราคาก่อน เนื่องจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของ MSRP นอกจากนี้ ยังคงมีสินค้าคงเหลือจากการนำเข้าในปี 2567 ที่ยังไม่ได้จำหน่าย และการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านความมั่นคงทางอาหารทำให้ผู้นำเข้ามีความกังวล เนื่องจากภายใต้กฎหมายป้องกันวินาศกรรมทางเศรษฐกิจด้านการเกษตรปี 2567 รัฐบาลสามารถประกาศห้ามการจำหน่ายสินค้าคงคลัง หากมีการสงสัยว่ามีการลักลอบนำเข้าสินค้า การกักตุนสินค้า หรือการค้ากำไรเกินควร
นาย Danilo V. Fausto ประธานหอการค้าการเกษตรและอาหารแห่งฟิลิปปินส์ (Philippine Chamber of Agriculture and Food) กล่าวว่า การนำเข้าข้าวที่ลดลง แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่น่ายินดี เนื่องจากในไตรมาสแรกของปีเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งการนำเข้าข้าวในช่วงนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกและจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับผลกระทบโดยตรง
สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (PSA) รายงานว่า ราคาข้าวทั่วไปขายปลีกในช่วงต้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ 46.30 เปโซต่อกิโลกรัม ลดลงจากช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ 47.19 เปโซต่อกิโลกรัม และยังต่ำกว่าราคาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ 47.77 เปโซต่อกิโลกรัม โดยราคาข้าวเปลือก (ข้าวยังไม่ได้สี) ลดลงร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 20.29 เปโซต่อกิโลกรัม หลังจากที่การนำเข้าข้าวทำสถิติสูงสุดในปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับเดือนมกราคาม ราคาข้าวเปลือกลดลงร้อยละ 1.9
อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเหลือร้อยละ 2.1 จากร้อยละ 2.9 ในเดือนมกราคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อข้าวลดลงเหลือร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นการลดลงที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ในเดือนมกราคมกระทรวงเกษตร (DA) ระบุว่า คาดการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกในปีนี้จะเกิน 20 ล้านตัน ทั้งนี้ สถิติการนำเข้าข้าวในปี 2567 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวสูงสุดในปี 2567 ปริมาณ 4.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.6 ล้านตัน ในปี 2566
ที่มา: หนังสือพิมพ์ Business World
บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็น
· การลดลงของการนำเข้าข้าวในฟิลิปปินส์ที่เกิดจากการบังคับใช้ MSRP และการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ผู้นำเข้าข้าวมีความกังวลเกี่ยวกับราคาขายปลีกที่ไม่แน่นอน รวมถึงความเสี่ยงจากการปรับราคาอย่างรวดเร็ว จึงลดปริมาณการนำเข้าข้าว เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน หรือการขายข้าวในราคาต่ำกว่าค่าผลผลิตที่คาดหวัง ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดข้าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งในด้านทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หากราคาข้าวในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มลดลง และค่าเงินเปโซยังคงแข็งค่า อาจทำให้ตลาดข้าวของฟิลิปปินส์ต้องปรับตัวใหม่ ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ และความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ปลูกข้าวโดยตรง นอกจากนี้ อาจส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรลดลง ทำให้ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การปรับปรุงพันธุ์ข้าว และความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรในระยะยาว· ผู้ส่งออกข้าวไทยอาจต้องปรับกลยุทธ์ในการส่งออกมายังฟิลิปปินส์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนโดยการหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อรักษาระดับการส่งออกข้าวในอนาคต หรือการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการในตลาดฟิลิปปินส์ รวมถึงการศึกษาราคาข้าวในฟิลิปปินส์และสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงจากการนำเข้าข้าวที่ลดลง และปัจจัยที่อาจทำให้ราคาข้าวไทยในตลาดฟิลิปปินส์มีความผันผวนสูง
—————————————
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
มีนาคม 2568