ที่มาภาพ: https://wall.alphacoders.com/big.php?i=1325357
คุกกี้ทำจากแป้งสาลี น้ำตาล น้ำเชื่อม น้ำมัน และผลิตภัณฑ์จากนมเป็นวัตถุดิบหลัก คุกกี้เป็นอาหารคลาสสิกในอุตสาหกรรมการอบขนม และเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของตลาด ความต้องการคุกกี้ของผู้บริโภคก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมนี้ยังมีแนวโน้มในการพัฒนาได้อีกเรื่อย ๆ
จากข้อมูลของ iiMedia Research ในปี 2567 ผู้บริโภคชาวจีนร้อยละ 20.58 เลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อคุกกี้ ผู้บริโภคร้อยละ 13.65 ของผู้บริโภคเลือกช่องทางออฟไลน์ และร้อยละ 65.77 ของผู้บริโภคจะเลือกทั้งสองช่องทาง โดยไม่มีความชอบช่องทางในมากกว่ากัน
อุตสาหกรรมการอบขนมของจีนขยายตัวต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของช่องทางออนไลน์และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคจีนร้อยละ 68 ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่งและโซเชียลมีเดีย เช่น Douyin (抖音) Taobao Live (淘宝直播) และ Little Red Book (小红书) เป็นต้น โดยสินค้าประเภทขนมและคุกกี้มักถูกโปรโมตผ่านช่องทางของอินฟลูเอนเซอร์ที่มีสไตล์สนุกและเน้นรีวิวสินค้าจริง
อย่างไรก็ตาม ช่องทางออฟไลน์ยังคงเป็นช่องทางสำคัญในการเลือกซื้อคุกกี้ โดยซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ เช่น RT-Mart และ FamilyMart ยังคงเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 40 ปีและอาศัยในเมืองระดับ 3-4 ซึ่งชื่นชอบการทดลองสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ
ในปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มในการรักษาสุขภาพและเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยร้อยละ 40 ของผู้บริโภคจีนมักเลือกขนมสูตรที่มีน้ำตาลน้อย ไฟเบอร์สูง คุกกี้สูตรโฮลเกรนหรือสูตรที่มีส่วนผสมจากพืชเป็นสูตรที่ได้รับความนิยม ทำให้มีหลายแบรนด์ได้เพิ่มสัดส่วนสินค้าเพื่อสุขภาพ เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค
นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์และรูปลักษณ์ของสินค้ายังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ผู้บริโภคเมืองใหญ่ยินดีจ่ายเพิ่มสำหรับสินค้าพรีเมี่ยม เช่น คุกกี้ที่มีแพ็คเกจจิ้งหรู หรือวางขายในห้างใหญ่
ที่มาภาพ: https://www.iimedia.cn/c1061/101675.html
ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 60 ไม่มีความต้องการที่แน่นอนในการเลือกช่องทางในการซื้อ และความต้องการของพวกเขาสามารถตอบสนองได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวจีนมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้ช่องทางการซื้อคุกกี้ ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของการพัฒนาการบูรณาการออนไลน์และออฟไลน์ของตลาดคุกกี้ด้วย บริษัทที่เกี่ยวข้องควรนำเอากลยุทธ์การตลาดแบบ Omni-channel มาใช้ เสริมสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์และประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบออฟไลน์ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม และควรเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจัดซื้อผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จัดให้มีการจัดส่งที่สะดวก และจัดกิจกรรมชิมสินค้าในร้านออฟไลน์และกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มความผูกพันของลูกค้า
ที่มาภาพ: https://www.linkedin.com/pulse/mastering-omnichannel-marketing-2024-creating-across-raji-aboul-hosn-zmecf
แนวทางในการเข้าสู่ตลาดคุกกี้ของแบรนด์ของไทย
- ศึกษาและระบุว่าอะไรเป็นกระแสในตลาดคุกกี้ของจีน และค้นหาวิธีการที่สินค้าของไทยจะเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น กระแสการรักสุขภาพ ออร์แกนิก รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ใส่ส่วนผสมแปลกใหม่ การสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม บรรจุภัณฑ์ที่สะดุดตา หรือการจัดจำหน่ายสินค้าให้ครอบคลุมทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เป็นต้น
- การทำความเข้าใจข้อกำหนดด้านกฎระเบียบสำหรับการนำเข้าอาหารในจีน
- พิจารณาถึงช่องทางการขนส่งและการจัดจำหน่าย อาจร่วมมือกับผู้จัดจำหน่ายในท้องถิ่นหรือใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce) เช่น Tmall Global หรือ JD Worldwide เป็นต้น
ข้อคิดเห็นของสคต.เซี่ยงไฮ้
ในปัจจุบันที่การซื้อออนไลน์เข้ามาเป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการซื้อของผู้บริโภค แต่ช่องทางออฟไลน์ยังคงได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ช่องการตลาดแบบ Omni-channel จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรองรับความต้องการและสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้แบบไร้รอยต่อ และช่องทางออนไลน์ยังเป็นช่องทางที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลและสถิติในการซื้อของลูกค้าได้ ซึ่งทำให้แต่ละธุรกิจสามารถมีข้อมูลที่เพียงพอในการทำการตลาดหรือกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าและประหยัดต้นทุนในการทำการตลาด
________________________________________________________________________________
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้
วันที่ 21 มีนาคม 2568
แหล่งที่มา
Nielsen, 2023
QuestMobile, 2023