นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี Donald Trump ส่งผลกระทบทั่วสหรัฐฯ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนตั้งรับอย่างเต็มที่ เมื่อการขึ้นภาษีนำเข้ามีผลบังคับใช้ ดังนี้
การตั้งรับของภาคธุรกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะที่อยู่ในธุรกิจนำเข้า
1. ทำการล็อบบี้ผ่านทาง U.S. Trade Representative (USTR) เพื่อขอรับการยกเว้น ธุรกิจสหรัฐฯมากกว่า 53,000 รายได้ใช้วิธีการนี้มาแล้วในการขึ้นภาษีนำเข้าสมัยการเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกของ Donald Trump ซึ่งสำนักงาน U.S. Government Accountability ระบุว่าร้อยละ 13 ของผู้ร้องขอได้รับการยกเว้น มีรายงานว่า การดำเนินการของรัฐบาล Trump ในครั้งนั้นเป็นเกมส์การเมือง กล่าวคือ ธุรกิจที่สนับสนุน Trump และพรรครีพับบริกันมีแนวโน้มสูงที่จะได้รับการยกเว้น ปัจจุบันธุรกิจผลิตรถยนต์สหรัฐฯได้ดำเนินการล็อบบี้แล้วเป็นธุรกิจแรก
2. ย้ายแหล่งอุปทานและแหล่งผลิต วิธีการนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นักธุรกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะพิจารณาย้ายแหล่งอุปทานไปยังประเทศที่ยังไม่ได้ถูกดึงเข้าสู่สงครามการค้าของประธานาธิบดี Trump เช่น ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย เวียดนาม และมาเลเซีย อย่างไรก็ดี ธุรกิจสหรัฐฯจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างค่าใช้จ่ายในการย้ายแหล่งอุปทานและการผลิตกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้า และต้องพิจารณาความเสี่ยงว่าประเทศทางเลือกอื่นเหล่านั้นอาจถูกดึงเข้ามาในสงครามการค้าได้ในอนาคต
3. เปลี่ยนรูปสินค้าหรือเปลี่ยนการออกแบบสินค้าเพื่อเปลี่ยนประเภทของรหัสศุลกากร หรือ tariff engineering เพื่อให้สินค้าอยู่ในกลุ่มที่จะถูกเก็บภาษีต่ำลง เช่น ในปี 2015 รองเท้า sneaker ของ Converse รุ่น All Star ได้เปลี่ยนวัสดุบุพื้นรองเท้าเป็นขนสักหลาด (fuzzy felt) ส่งผลให้รองเท้า sneaker ถูกเปลี่ยนไปเป็นรหัสศุลกากรรองเท้าแตะ ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำกว่าอัตราภาษีรองเท้ากีฬา หรือ บริษัท Columbia Sportswear เพิ่มกระเป๋าลงไปบนเสื้อเชิ้ตสตรี ในระดับที่ต่ำกว่าเอว ทำให้เสื้อนั้นไม่เข้าข่ายเป็น blouses และอัตราภาษีนำเข้าจะถูกกว่าเสื้อที่เป็น blouses เป็นต้น แม้ว่าการทำ tariff engineering จะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่ต้องมีความระมัดระวังสูง และในปัจจุบัน การทำ tariff engineering ไม่สามารถนำไปใช้กับสินค้านำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และจีน ได้เพราะประเทศเหล่านี้ถูกขึ้นภาษีนำเข้าในลักษณะเท่าเทียมกันทุกสินค้า (flat rate ทุกสินค้า)
ธุรกิจค้าปลีกสหรัฐฯเป็นธุรกิจที่พึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก ทั้งทางตรงและทางอ้อม การตั้งรับของธุรกิจค้าปลีกของสหรัฐฯ เช่น
1. ขึ้นราคาสินค้า ธุรกิจที่ประกาศนโยบายขึ้นราคาสินค้าเป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง เช่น
– บริษัท Best Buy ที่เน้นขายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าเทคโนโลยี่สำหรับผู้บริโภค ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนและเม็กซิโก ตามลำดับ
– บริษัท Target ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสินค้าผักและผลไม้สด ที่บริษัทฯพึ่งการนำเข้าจากเม็กซิโกเป็นหลัก
– บริษัท Costco ระบุว่า มีแนวโน้มสูงที่บริษัทฯจะขึ้นราคาสินค้าอาหารที่บริษัทฯวางจำหน่าย ที่ปกติแล้วเป็นสินค้าที่มีกำไรค่อนข้างต่ำ
2. เปลี่ยนแหล่งอุปทาน เช่น
– บริษัท Target ระบุแผนการที่จะเปลี่ยนแหล่งอุปทานในการผลิตสินค้าแบรนด์ของบริษัทฯ เช่น All in Motion
และ Cat & Jack เป็นต้น โดยจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ที่เดิมที่ผลิตร้อยละ 30 ของสินค้าแบรนด์ Target และตั้งเป้าหมายใช้แหล่งอุปทานใหม่บนซีกโลกตะวันตกเช่น กัวเตมาลาและฮอนดูรัส และตั้งเป้าว่าในปี 2569 จะลดการพึ่งพาจีนลงเหลือร้อยละ 25
– บริษัท Kroger กำลังพิจารณาเปลี่ยนแหล่งอุปทานสินค้าอาหารสดไปยังแหล่งอุปทานในภาคพื้นอื่นที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี Trump น้อยที่สุด เพื่อรักษาระดับราคาสินค้าของบริษัทฯไว้ในระดับต่ำ
– บริษัท Costco ประกาศว่า ในเบื้องต้นจะยุติ/ลดการนำเข้าจากแคนาดา ซึ่งมีส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 20 ของ
สินค้าที่วางจำหน่ายในร้าน เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องขึ้นราคาสินค้า และจะพิจารณาเปลี่ยนแหล่งอุปทานไปยังประเทศที่จะไม่ถูกขึ้นภาษีนำเข้า บริษัทฯเชื่อมั่นว่า บริษัทฯมีความสามารถที่จะแสวงหาสินค้าทดแทนหรือสินค้าใหม่ๆจากแหล่งอุปทานอื่นได้โดยง่าย
– บริษัท Alcoa ธุรกิจสหรัฐฯ ผู้ผลิตอลูมิเนียมรายใหญ่อันดับที่ 8 ของโลก ประกาศว่าจะใช้ประโยชน์ของระบบการทำธุรกิจทั่วโลกของบริษัทฯ โดยจะย้ายฐานการผลิตอลูมิเนียมจากแคนาดาไปยังยุโรป และจะนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตในออสเตรเลียส่งเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ
– บริษัท Hewlett Packard Enterprise วางแผนการปรับเปลี่ยนแหล่งอุปทาน และปรับราคาสินค้า เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้า
3. ย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐฯ
– บริษัท Honda ตัดสินใจย้ายการผลิตรถ Civic hybrid รุ่นใหม่ของตนออกจากเม็กซิโกเข้าไปผลิตใน Indiana ในสหรัฐฯ
– บริษัท Pfizer วางแผนจะย้ายฐานการผลิตนอกประเทศกลับเข้าสู่สหรัฐฯ
4. การลงทุนใหม่ๆในสหรัฐฯ
– บริษัท Apple ประกาศลงทุน 500 พันล้านเหรียญฯในสหรัฐฯในระยะ 4 ปีต่อต่อจากนี้ไป รวมถึงการลงทุนสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ใน Texas เพื่อผลิต AI servers
– บริษัท Eli Lilly ผู้ผลิตเวชภัณฑ์รายใหญ่ของสหรัฐฯ วางแผนลงทุน 27 พันล้านเหรียญฯสร้างโรงงานผลิตใหม่ 4 แห่งในสหรัฐฯในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ไป
การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้า คือ การขึ้นภาษีกับผู้บริโภคสหรัฐฯอย่างแท้จริง เพราะผู้บริโภคคือผู้ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อหาสินค้าทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สินค้าที่มีแนวโน้มสูงที่จะมีราคาเพิ่มสูงอย่างมาก ปัจจุบันมีสัญญานให้เห็นว่า ผู้บริโภคสหรัฐฯกำลังลดการซื้อหาสินค้าและจะเลือกซื้อหาสินค้าจำเป็นและที่มีราคาถูก สินค้าที่จะส่งผล
กระทบต่อการบริโภคของผู้บริโภคสหรัฐฯมากที่สุด คือ
1. อาหาร แคนาดาและเม็กซิโก เป็นแหล่งอุปทานสำคัญสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นอาหารของผู้บริโภคสหรัฐฯ แคนาดา เป็นแหล่งอุปทานธัญญพืชและเนื้อสัตว์ เม็กซิโกเป็นแหล่งอุปทานพืชผักผลไม้สด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้สด ที่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯในปี 2024 สูงถึง 9 พันล้านเหรียญฯ
2. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ที่มีจีนเป็นแหล่งอุปทานสำคัญสูงสุด ประมาณการณ์ว่าการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะทำให้ราคาค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สหรัฐฯบางรายการ เช่น คอมพิวเตอร์ เพิ่มสูงถึงร้อยละ 45 หรืออย่างต่ำจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 สำหรับสินค้ามือถือ
3. รถยนต์และชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ แคนาดาและเม็กซิโกเป็นแหล่งอุปทานสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ มีการคาดการณ์ว่า การขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตรถยนต์ในทวีปอเมริกาเหนือ (สหรัฐฯ แคนาดาและเม็กซิโก) เพิ่มสูงขึ้ระหว่าง 3,500 – 12,000 เหรียญฯ และราคาค้าปลีกรถยนต์ใหม่ในตลาดสหรัฐฯจะเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 3,5000 เหรียญฯต่อคัน
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก สคต. ลอสแอนเจลิส
ปัจจุบันนโยบายการค้าต่างประเทศและการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี Donald Trump มีความ ผันผวนสูงมาก มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ทุกขณะและเกือบจะทุกวัน ยากแก่การคาดการณ์ล่วงหน้า ส่งผลเป็นความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจในสหรัฐฯ และความต้องการนำเข้าสินค้าของบริษัทสหรัฐฯ จำเป็นที่ผู้ที่ทำธุรกิจค้าขายกับสหรัฐฯจะต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านนโยบายของภาครัฐและแนวทางการตั้งรับของภาคธุรกิจสหรัฐฯ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดและการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น