ตลาดน้ำหอม และเครื่องหอมในญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วงวิกฤติ COVID-19 เป็นต้นมา ล่าสุดมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำกลยุทธ์การตลาด ซึ่งประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความต้องการบริโภค

เมื่อเดือนมิถุนายนศกนี้ โฮมเซนเตอร์ Cainz นำกลยุทธ์การตลาด “Fragrance Retail Media”  มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ซื้อ โดยเปลี่ยนจากการตั้งตัวอย่างกลิ่นบนชั้นวางสินค้า ซึ่งไม่สามารถรับรู้การตอบสนองของผู้บริโภคได้ มาเป็นการทดลองกลิ่นผ่านอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัล โดยวางแคชก็อปปี้ และข้อความที่ดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ พร้อมใช้จอ LCD ที่สามารถทดลองกลิ่นของน้ำหอมที่วางแสดงอยู่ได้ทันที โดยเมื่อกดภาพสินค้าบนหน้าจอ จะมีการปล่อยน้ำหอมในปริมาณเหมาะสม แสดงกลิ่นที่ชัดเจน

การใช้เทคโนโลยี “Retail Media” นี้แตกต่างจากดิจิทัลไซเนจ (Digital Signage) แบบที่ใช้กันทั่วไป โดยผู้บริโภคจะได้รับข้อมูลสินค้า และทดลองกลิ่นได้ในคราวเดียวกัน ในขณะที่ร้านค้าสามารถเก็บข้อมูลเชิงสถิติจาก POS (ข้อมูลจุดขาย) และกล้อง AI ที่เชื่อมโยงข้อมูลเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ กลยุทธ์ดังกล่าวเพิ่มยอดขายให้ Cainz ถึง 2.16 เท่า

จากข้อมูลกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น พบว่า ตลาดน้ำหอมและโคโลญจน์ในญี่ปุ่นขยายตัวกว่า 1.9 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะน้ำหอมราคาสูง (50,000 เยนขึ้นไป) ซึ่ง segment นี้ ไม่เจาะจงเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงเท่านั้น หากแต่รวมถึงกลุ่ม “โอชิ” ที่สนับสนุนดารานักแสดง และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ชื่นชอบน้ำหอม และกลิ่นแปลกใหม่ (Niche perfume) ทั้งนี้ คาดการณ์มูลค่าตลาดน้ำหอม ในญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะสูงถึง 10,000 ล้านเยน

————————————————————————

ที่มา :

https://xtrend.nikkei.com/atcl/contents/18/01098/00002/?i_cid=nbpnxr_top_new_T

https://www.wwdjapan.com/articles/1961330

thThai