ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นปรับตัวตามแนวโน้มบริโภคยุคใหม่

วิถีบริโภคยุคใหม่สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่น โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่มีรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมที่เน้นจำหน่ายเสื้อผ้าและเครื่องประดับเป็นหลัก รวมถึงสาขาในเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ในทำเลการค้าหลัก เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันอีกต่อไป

ในภาพรวม ธุรกิจห้างสรรพสินค้าในญี่ปุ่นมีแนวโน้มดี และกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนวิกฤติ COVID-19 โดยในปี 2566 มีมูลค่ากว่า 5.42 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากปีก่อนหน้า โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับธุรกิจค้าปลีกอื่น ผลประกอบการของห้างสรรพสินค้าลดลงร้อยละ 15 เทียบกับซูเปอร์มาร์เกต และร้านสะดวกซื้อที่ขยายตัวร้อยละ 17 และ 22 ตามลำดับ รวมถึงอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59 รวมถึงสาขาที่อยู่ในเมืองรอง หรือชานเมือง มีมูลค่าการขายลดลงเฉลี่ยกว่าร้อยละ 20

นอกจากนี้ เทรนด์การซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าได้เปลี่ยนไป จากเดิมเสื้อผ้ามีสัดส่วนสูงสุด ที่ร้อยละ 40 ของยอดขายรวม ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นอาหารเป็นหลัก ตามมาด้วยเสื้อผ้า รวมถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ศักยภาพใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องประดับ เครื่องสำอาง และงานศิลปะ ที่ตอบสนองความต้องการบริโภคของทั้งชาวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อจากนักท่องเที่ยวในปี 2567 เพิ่มขึ้น 3 เท่า อยู่ที่ 348.4 พันล้านเยน

ดังนั้น ห้างฯ จึงได้ปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาทิ ปิดกิจการสาขาที่มีผลประกอบการไม่ดี ปรับปรุงภาพลักษณ์ให้มีความเป็นแหล่งรวมสินค้าและบริการไลฟ์สไตล์ หรือพัฒนาให้เป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์อื่น ที่ผ่านมา มีการรื้อถอนห้างสรรพสินค้า Meitetsu ที่นาโกยา เพื่อสร้างอาคารสูงสำหรับธุรกิจ Mixed-used (โรงแรม ร้านค้าปลีก และธุรกิจบริการ) Keio สาขาชินจูกุ ในกรุงโตเกียวพัฒนารูปแบบที่เน้นการสร้างประสบการณ์หลากหลายของผู้ซื้อ ปัจจุบัน 3 จังหวัดในญี่ปุ่น ไม่มีห้างสรรพสินค้าเหลืออยู่แล้ว โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2567 ชิมาเนะได้ปิดตัว Ichibata Hyakkaten ห้างสุดท้ายที่เหลืออยู่

———————————————————————————-

ที่มา :

https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUC135MF0T11C24A2000000/

https://www.nippon.com/en/japan-data/h02178/

thThai