รัฐบาลญี่ปุ่นเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ โดยดำเนินนโยบายในการเพิ่มรายได้ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 3 ปี อาทิ เร่งรัดการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เงินเดือน และโบนัส รวมถึงใช้มาตรการด้านภาษี โดยเฉพาะการปรับฐานรายได้การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.73 จากเดิม (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538) กำหนดที่รายได้สุทธิ 1,030,000 เยนต่อปี เป็น 1,780,000 เยนต่อปี การอุดหนุน ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า และแก๊ส) และการแจกเงินแก่ครัวเรือนรายได้น้อย
ล่าสุดในปี 2566 เงินโบนัสเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.5 หรือประมาณ 410,000 เยน ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 33 ปี นับตั้งแต่วิกฤติฟองสบู่ในปี 2534 โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับอานิสงส์จากค่าเงินเยนอ่อน อย่างไรก็ดี แม้ว่ารายได้ครัวเรือนจะสูงขึ้น หากแต่การใช้จ่ายกลับยังไม่เพิ่มมากเท่าที่ควร เนื่องจากค่าครองชีพยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินเดือนปรับเพิ่มในอัตราชะลอลง
ในการนี้ งบประมาณสำหรับชุดมาตรการเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพดังกล่าวคาดว่าจะสูงถึง 21.9 ล้านล้านเยน (ประมาณ 4.9 ล้านล้านบาท) และจะทำให้รายได้จากภาษีลดลงถึง 7 – 8 ล้านล้านเยน ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ดี รัฐบาลประเมินว่า รายได้จากภาษีจะเพิ่มขึ้นตามรายได้ครัวเรือนที่สูงขึ้น และจากการที่มาตรการเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจ รวมถึงการที่การบริโภคในประเทศจะกลับมาขยายตัวอย่างคึกคักในช่วงโกลเด้นวีค (เดือนพฤษภาคม)
————————————————————————
ที่มา : https://www.nikkei.com/article/DGXZQOCD265K00W4A121C2000000/
https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUA283HC0Y4A121C2000000/