เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชิลี นายอัลเบอร์โต วาน คลาเวอเรน เป็นประธานเปิดการประชุมคณะทำงานพิเศษเพื่อรับมือกับมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งคณะทำงานพิเศษดังกล่าวจัดตั้งขึ้นโดยความเห็นชอบของรัฐบาล เพื่อระดมสมองในการดำเนินการของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของชิลีต่อการมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นางคลาวเดีย ซานฮูเอซ่า เป็นหัวหน้าคณะการทำงานพิเศษฯ และยังประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนกว่า 18 สถาบัน[1] อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารกลางชิลี สำนักเลขาธิการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Subrei) สมาคมผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์และบริการ (Asexma) สมาพันธ์การผลิตและการค้า (CPC) สภาอุตสาหกรรมชิลี (Sofofa) สมาคมเหมืองแร่แห่งชาติ (Sonami) สมาพันธ์ธุรกิจชิลี (Quinenco) สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชิลี (CCRI) ศูนย์วิจัยนานาชาติจากมหาวิทยาลัย Universidad de Chile เอกอัคราชทูตชิลีประจำสหรัฐอเมริกา นักวิชาการ ทนายความ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยเป้าหมายการดำเนินงานของทำงานพิเศษฯ คือ การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศและสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาการวิเคราะห์บริบททางเศรษฐกิจและสถานการณ์การค้าในปัจจุบันอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง รวมถึงวางแผนเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นพร้อมประเมินแนวทางปฏิบัติที่เป็นไปได้ สร้างความเข้าใจร่วมกันและช่วยให้ประเทศชิลีพร้อมรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและการค้าในระดับโลกได้ดีขึ้น ในการประชุมครั้งแรกนี้ คณะทำงานพิเศษฯ ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังสินค้าทองแดงซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ เนื่องจากประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา (นายโดนัลด์ ทรัมป์) กำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับการนำเข้าทองแดง โดยได้มอบคำสั่งให้ฝ่ายบริหารที่นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนการค้าศึกษาการนำเข้าทองแดงของสหรัฐอเมริกา เพื่อลดการนำเข้าและช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมทองแดงของอเมริกา ทั้งนี้ คณะทำงานพิเศษฯ จะมีการประชุมตลอดปี 2568 และติดตามขอบเขตมาตรการภาษีใหม่ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อย่างใกล้ชิดโดยจะเผยแพร่รายงานด้านการค้าและสถานการณ์ต่าง ๆ สู่สาธารณะผ่านประกาศของรัฐบาลชิลีต่อไป
บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
มาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา ต่อแคนาดาและเม็กซิโกที่ทั่วโลกต่างจับตามองมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เวลา 00:01 น. ของวันอังคารที่ 4 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ได้กำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกทุกประเภทที่ร้อยละ 25 ยกเว้นสินค้ากลุ่มน้ำมันและพลังงานจากแคนาดาเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 นอกจากนี้ ยังบังคับใช้ภาษีนำเข้าจากจีนในสินค้าทุกประเภทเพิ่มเติมอีกร้อยละ 10 (จากที่บังคับใช้ไปแล้วที่ร้อยละ 10 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา) รวมเป็นร้อยละ 20 มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและธุรกิจของทั้งสามประเทศที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเม็กซิโกและแคนาดาที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 2567 กว่าร้อยละ 86.8 และ 78.0 ตามลำดับ[1]
แม้ว่าในขณะนี้ชิลีจะไม่ได้เป็นประเทศที่ถูกขึ้นอัตราภาษีแบบเฉพาะเจาะจงในทุกกลุ่มสินค้าเหมือนกับ แคนาดา เม็กซิโก และจีน แต่ชิลีอาจได้รับผลกระทบโดยตรงในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากการพิจารณาเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับทองแดงนำเข้าของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี รัฐบาลชิลีได้เตรียมการวางแผนและจัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้น เพื่อติดตามสถานการณ์และดูแลประเด็นนี้โดยเฉพาะ ซึ่งในการประชุมครั้งแรกของคณะทำงานพิเศษฯ ได้มุ่งเน้นความสำคัญไปยังสินค้าทองแดงเนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ
ทองแดง ถือเป็นวัสดุที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ รวมถึงผลิตสายไฟฟ้าที่ใช้ในระบบส่ง-กระจายไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยในปี 2567 ชิลีเป็นผู้ผลิตและส่งออกทองแดงอันดับ 1 ของโลก ผลิตทองแดงได้มากถึง 5.3 ล้านตัน นับเป็นสัดส่วนการผลิตถึงร้อยละ 23 ของการผลิตทองแดงทั้งหมดของโลก[1] รวมมูลค่าการส่งออกกว่า 50,858 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศที่มีปริมาณการนำเข้าทองแดงจากชิลีมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ จีน (6.7 แสนตัน) สหรัฐอเมริกา (6.6 แสนตัน) บราซิล (2.3 แสนตัน) เกาหลีใต้ (1.7 แสนตัน) และฝรั่งเศส (0.9 แสนตัน) หากพิจารณาเฉพาะการนำเข้าของสหรัฐอเมริกา ในปี 2567 พบว่าสหรัฐอเมริกานำเข้าทองแดงจากชิลีมากเป็นอันดับที่ 1 มีการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70.3 หรือคิดเป็นปริมาณกว่า 6.6 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 23.2 รวมมูลค่า 6,161 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าในปี 2568 นี้ ชิลีจะสามารถผลิตทองแดงได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 6 ล้านตัน[2] หากรัฐบาลสหรัฐอเมริกามีการบังคับใช้มาตรภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อห่วงโซ่อุปทานทองแดงในตลาดโลก ทั้งนี้ สคต.ฯ คาดว่ามาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลกระทบต่อชิลีในประเด็น ดังต่อไปนี้
1) รายได้จากการส่งออก: ชิลีอาจเผชิญกับความผันผวนของรายได้จากการส่งออกทองแดง หากการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกา ทำให้ราคาทองแดงที่นำเข้าจากชิลีมีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้มีความต้องการของผู้นำเข้าทองแดงจากชิลีลดลง และหันไปใช้ทองแดงจากแหล่งการผลิตภายในประเทศแทน
2) การปรับเปลี่ยนตลาด: เนื่องจากภาษีศุลกากรอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ชิลีอาจจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การส่งออก ซึ่งอาจรวมถึงการกำหนดเป้าหมายไปยังตลาดอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรน้อยกว่า หรือการหาผู้ซื้อรายใหม่ในประเทศที่ยังต้องการทองแดงอยู่ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐอเมริกา
3) การเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน: การผลิตทองแดงเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจชิลี มีส่วนสนับสนุนการจ้างงานและ GDP เป็นอย่างมาก ความผันผวนของราคาทองแดงอันเนื่องมาจากภาษีศุลกากรอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านการจ้างงานภายในประเทศ
4) ภาคการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่: เมื่อกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแต่ส่งออกได้ลดลง ชิลีอาจพิจารณาชะลอกำลังการผลิตและการลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าล้นตลาด รวมถึงบริษัทฯ สัญชาติอเมริกันที่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของชิลีอาจพิจารณา ย้ายฐานการผลิตกลับไปยังสหรัฐอเมริกา เนื่องจากนโยบายกระตุ้นการผลิตสินค้าและการจ้างงานภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา[3]
สคต.ฯ เห็นว่า หากชิลีได้รับผลกระทบในเชิงลบจากมาตรการภาษีนำเข้าทองแดง และสินค้าหลักอื่น ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของชิลี มีการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของการจ้างงานทั้งหมด หากรายได้จากการส่งออกสินค้าหลักลดลง เช่น ทองแดง สินค้าเกษตรกรรม และไม้แปรรูป อาจส่งผลให้เศรษฐกิจของชิลีชะลอตัว และส่งผลกระทบต่ออำนาจการใช้จ่ายของประชาชนในภาพรวม ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษฯ ดังกล่าวนับเป็นตัวอย่างที่ดีในการเตรียมความพร้อมให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคธุรกิจภายในประเทศ นอกจากจะเป็นพื้นที่ให้รัฐบาลได้รับฟังและเรียนรู้โดยตรงถึงมุมมองและความกังวลของภาคเอกชนแล้ว ยังบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อวางแผนรับมือที่ดีที่สุดให้กับประเทศ อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่เฉพาะสินค้าในกลุ่มทองแดงเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ ในวาระอันใกล้ชิลีอาจต้องเผชิญกับกำแพงภาษีใหม่ในกลุ่มสินค้า การเกษตรกรรม และไม้แปรรูปด้วยเช่นกัน
ในส่วนของประเทศไทย อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงในการถูกขึ้นภาษีสินค้านำเข้า เนื่องจากเป็นประเทศคู่ค้าที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้า มากเป็นอันดับที่ 11 ในปี 2567 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 45,600 ล้านเหรียญสหรัฐ[1] มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบอาทิ ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง (พิกัดศุลกากรที่ 40) เหล็ก (พิกัดศุลกากรที่ 73) และอลูมิเนียม (พิกัดศุลกากรที่ 76) อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเตรียมความพร้อมโดยติดตามมาตรการและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งวางแผนการเจรจากับคณะผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐอเมริกา เพื่อลดผลกระทบทางการค้าและกำหนดนโยบายด้านการค้าให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด
______________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มีนาคม 2568
[1] https://ustr.gov/countries-regions/southeast-asia-pacific/thailand#:~:text=Thailand%20Trade%20Summary,($4.8%20billion)%20over%202023.
[1] https://www.nasdaq.com/articles/top-10-copper-producers-country
[2] https://www.nasdaq.com/articles/top-10-copper-producers-country
[3] https://www.whitehouse.gov/articles/2025/03/president-trump-is-putting-american-workers-first-and-bringing-back-american-manufacturing/
[1] Global Trade atlas https://connect.ihsmarkit.com/gta/standard-reports/
[1] https://www.df.cl/economia-y-politica/pais/cancilleria-y-sector-empresarial-activan-reuniones-de-monitoreo-ante