กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขระเบียบมาตรฐานสุขอนามัยสำหรับสารปนเปื้อนและสารพิษในอาหาร (Sanitation Standard for Contaminants and Toxins in Food) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 โดยกำหนดปริมาณสารโลหะหนัก Cadmium ที่ยอมรับให้มีได้ในช็อกโกแลต ดังต่อไปนี้:
ปริมาณโกโก้ผสมในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตในรูปของแห้ง | ปริมาณแคดเมี่ยมที่ยอมรับได้ (Limit mg/kg) |
20-29% | 0.3 |
30-49% | 0.7 |
50-69% | 0.8 |
70% ขึ้นไป | 0.9 |
ผงโกโก้ | 2.0 |
การนำเข้าช็อกโกแลตรวมของไต้หวันในปี 2567 เท่ากับ 138.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2566 ลดลง 1.59% แหล่งนำเข้าที่สำคัญคือ สหรัฐฯ (20.7%) อิตาลี (17.5%) เบลเยี่ยม (7.5%) ญี่ปุ่น (6.6%) ฝรั่งเศส (5.9%) ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 22 ของไต้หวันด้วยมูลค่าการนำเข้า 718,403 เหรียญสหรัฐฯ เทียบกับปี 2566 ขยายตัว 11.33% คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าช็อกโกแล็ตรวมเพียง 0.5% อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าช็อกโกแลตจากไทยมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นถึง 120% เมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อน
เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่เป็นช่วงที่ชาวไต้หวันนิยมส่งมอบของขวัญ โดยช็อกโกแลตถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในช่วงฤดูนี้ รายงานของบริษัทวิจัยตลาด KANTAR Worldpanel เผยแพร่เมื่อปลายปี 2567 ชี้ว่า ผู้บริโภคชาวไต้หวันใช้จ่ายซื้อช็อกโกแลต เฉลี่ย 656 เหรียญไต้หวันต่อคนต่อปี เทียบกับปี 2566 เพิ่มขึ้น 7% โดยในส่วนของช็อกโกแลตที่ส่งมอบเป็นของขวัญเติบโตถึง 15%
ตลาดช็อกโกแลตถือว่ามีการแข่งขันสูงในไต้หวัน โดยมีแบรนด์ต่างชาติเป็นจำนวนมากทั้งจากยุโรปและญี่ปุ่น แต่ละแบรนด์ต่างแข่งขันกันด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง เช่น
- 77 ALWAYS ชูจุดเด่นการผลิตด้วยเทคนิกระดับยุโรป
- Meiji Galbo เน้นจุดขาย รับประทานง่าย ไม่เลอะมือ
- Ferrero Rocher ออกแคมเปญชุดของขวัญ เน้นตลาดการส่งมอบของขวัญ
- OREO และ Coca-Cola ร่วมมือกันเปิดตัวรสชาติพิเศษเพื่อสร้างกระแสความสนใจ
- HERSHEY’S และ GODIVA ร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ ประสบความสำเร็จผลักยอดขายเติบโตอย่างโดดเด่น
จากข้อมูลของ KANTAR พบว่า HERSHEY’S และ GODIVA เป็น 2 แบรนด์ที่สามารถดึงดูดผู้ซื้อได้มากที่สุดในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา โดยมียอดขายเติบโตเป็นเลขสองหลัก โดยการร่วมมือกับ 7-ELEVEN (ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อสาขามากถึง 7,000 สาขาในไต้หวัน) เปิดตัวสินค้าใหม่ เช่น ช็อกโกแลตร้อนและขนมหวานจากโกโก้ สามารถช่วยกระตุ้นยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ
ดาร์กช็อกโกแลตได้รับความนิยมมากขึ้นตามกระแสรักสุขภาพ ช็อกโกแลตที่มีปริมาณโกโก้สูงได้รับความนิยมมากขึ้น ข้อมูลจาก KANTAR ชี้ให้เห็นว่ายอดขายดาร์กช็อกโกแลตในปี 2024 เติบโต 5% ข้อมูลการค้นหาบน Google ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังแสดงให้เห็นว่าความสนใจใน “ดาร์กช็อกโกแลต” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.
สินค้าช็อกโกแลตไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในไต้หวัน ในการเจาะตลาดผู้ประกอบการไทยจะต้องกำหนดกลยุทธ์เจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคให้ชัดเจน เลือกผู้นำเข้าที่มีช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายเหมาะสม นอกจากนี้การศึกษาทำความเข้าใจกฎระเบียบนำเข้าของประเทศต่างๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเตรียมพร้อมที่ไม่ควรละเลย
—————–