กฎหมายออสเตรียกำหนดให้ทีมบริหารกรุงเวียนนาต้องนำเสนอแผนการบริหารจัดการขยะทุกๆ 6 ปี ล่าสุด นายเยอร์เก้น แชร์โนฮอร์สกี้ (Jürgen Czernohorsky) ผู้อำนวยการแผนกสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเวียนนา ได้นำเสนอมาตรการใหม่กว่า 160 มาตรการสำหรับช่วงหกปีนับจากนี้ ซึ่งหัวใจของนโยบายต่างๆ คือเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยให้เหตุผลว่าสิ่งนี้คือการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการปกป้องสิ่งแวดล้อมคือการปกป้องมวลมนุษย์ และสำทับอีกว่าเป็นที่รู้กันว่ากรุงเวียนนาไม่มีขยะ เนื่องจากขยะทั้งหมดถูกนำไปจัดการและสร้างประโยชน์ต่อ อย่างไรก็ดี ยังมีอยู่หลายจุดที่ต้องได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น
อย่างแรกคือการขยายขนาดโรงงานไบโอก๊าซให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า คือ โรงงานแห่งนี้จะต้องสามารถผลิตไบโอก๊าซจากขยะได้ 34,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ จะต้องได้ผลผลิตฟอสฟอรัสจากกากตะกอนน้ำเสียเพิ่มขึ้น ซึ่งฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบสำคัญของการผลิตปุ๋ย โดยตั้งเป้าว่าในปีนี้จะต้องเพิ่มปริมาณกากตะกอนน้ำเสียเข้าสู่กระบวนการอีก 2,000 ตัน หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างขนาดปริมาตรบรรจุภัณฑ์สินค้า อาทิ ขวดน้ำดื่มพลาสติก ซึ่งควรมีขนาดใหญ่ขึ้น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดความจุมากขึ้นจะช่วยลดจำนวนขวดพลาสติกลงได้
ในส่วนของการีไซเคิลจะมีการขยายขอบเขตไปยังภาคการก่อสร้าง อาทิ การพัฒนาปูนซีเมนต์รีไซเคิล ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมาได้มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานบริหารจัดการขยะของเมือง (MA-48) โดยใช้วัสดุที่ส่งเสริมความยั่งยืนทั้งหลังเป็นครั้งแรก และแผนการต่อไปคือในปี 2569 จะต้องทำการผลิตปูนรีไซเคิลจากวัสดุเหลือทิ้งที่ได้จากเถ้าและตะกรันจากฉนวนกันความร้อนในหลังคา
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ
ออสเตรียเดินหน้านโยบายเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐและเอกชนต่างวางบทบาทเป็นผู้นำสังคมผ่านนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติจริง เป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวตามให้ทันเพื่อพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาดในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพิ่มโอกาสในการจำหน่าย และขจัดอุปสรรคอันอาจเกิดขึ้นจากการขัดต่อกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง