สรุปสาระสำคัญของแผนงบประมาณอินเดียประจำปี 2568-69

รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินเดีย (Nirmala Sitharaman) ได้ประกาศแผนงบประมาณประจำปี 2568-2569 ของอินเดีย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียกำลังชะลอตัว ในปี 2567-68 อินเดียมีอัตราการเติบโตของ GDP อยู่ที่ร้อยละ 6.4 โดยคาดว่าในปี 2568-69 GDP ของอินเดียจะเติบโตที่อัตราร้อยละ 6.3 – 6.8 ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจาก GDP ของอินเดียควรเติบโตในอัตราอย่างน้อยร้อยละ 8 ถึงจะทำให้อินเดียบรรลุเป้าหมายที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2590

อย่างไรก็ดี ประเด็นหลักของแผนยังมุ่งเน้นที่จะให้เกิดการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยให้ความสำคัญกับการใช้ 4 กลไกหลักในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย กลไกที่ 1 ภาคการเกษตร กลไกที่ 2 ภาคธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSMEs) กลไกที่ 3 ภาคการลงทุน โดยแบ่งเป็นการลงทุนด้านคน การลงทุนด้านเศรษฐกิจ และการลงทุนด้านนวัตกรรม และกลไกที่ 4 ภาคการส่งออก โดยมีประเด็นสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

  1. กลไกขับเคลื่อนภาคการเกษตร อาทิ

– โครงการ “Dhan-Dhaanya Krishi Yojana”: มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 1.7 ล้านราย ในพื้นที่ 100 อำเภอ ที่มีผลผลิตทางการเกษตรต่ำ

– การให้สินเชื่อระยะสั้นแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และชาวประมง จำนวน 77 ล้านราย ภายใต้โครงการ Kisan Cradit Card โดยกำหนดวงเงินสินเชื่อระหว่าง 3 – 5 แสนรูปีอินเดีย

– การส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตถั่วธัญพืชภายในประเทศ โดยเฉพาะ Tur (Pigeon pea), Urad (Black gram) และ Masoor (Red lentil) ภายใต้โครงการ Mission for Aatmanirbharta in Pulses ซึ่งมีระยะเวลา 6 ปี เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า เป็นต้น

โดยการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรอินเดียมีความมั่นคงทางการเงินดียิ่งขึ้น

  1. กลไกขับเคลื่อนภาคธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (MSMEs) ซึ่งมีจำนวนกว่า 57 ล้านราย อาทิ

– การปรับปรุงวงเงินสินค้าและบัตรเครดิตสำหรับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน

– การจัดตั้งกองทุนสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ

– การมุ่งเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมรองเท้าหนังและผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ของเล่น และการแปรรูปอาหาร และการผลิตเทคโนโลยีสะอาด เป็นต้น

โดยการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ สร้างนวัตกรรม และสร้างโอกาสในการทำงานใหม่ๆ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการอินเดีย และกระตุ้นให้อินเดียเกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

  1. กลไกขับเคลื่อนภาคการลงทุน แบ่งเป็น

การลงทุนด้านคน อาทิ การจัดหาโภชนาการสำหรับเด็กและหญิงมีครรภ์ ภายใต้โครงการ Saksham Anganwadi and Poshan 2.0 การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาทักษะเพื่อสร้างบุคลากรแรงงานที่มีฝีมือสำหรับตอบสนองอุตสาหกรรมการผลิต ภายใต้นโยบาย Make for India, Make for the World การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ การเพิ่มจำนวนนักศึกษาทางด้านการแพทย์ การจัดตั้งศูนย์มะเร็งในโรงพยาบาลประจำอำเภอ เป็นต้น

การลงทุนด้านเศรษฐกิจ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิรูปพื้นที่เขตเมือง การปฎิรูปพลังงาน และเป้าหมายการใช้พลังงานนิวเคลียร์ การส่งเสริมภาคธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางการแพทย์ เป็นต้น

การลงทุนด้านนวัตกรรม อาทิ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม โดยจัดสรรงบประมาณ 2 แสนล้านรูปีอินเดียสำหรับโครงการวิจัยที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในประเทศ การจัดตั้งทุนวิจัยของนายกรัฐมนตรีจำนวน 10,000 ทุน สำหรับส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในภาคส่วนที่สำคัญ เป็นต้น

โดยการดำเนินการนี้เป็นการเพิ่มการใช้จ่ายในการลงทุน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

  1. กลไกขับเคลื่อนภาคการส่งออก อาทิ

– การสนับสนุนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยเสนอให้ยกเว้นภาษีสำหรับสินค้าบางประเภทที่ใช้ในภาคอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรวมถึง แผงเซลล์เปิดที่ใช้ใน LED/LCD TVs, เครื่องทอผ้าสำหรับสิ่งทอ และเครื่องจักรสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือและยานยนต์ไฟฟ้า

– การยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 10 ปี สำหรับสินค้าที่ใช้ในการสร้างเรือ และเรือที่ใช้สำหรับการทำลาย โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมภาคบริการซ่อมบำรุงและการปรับปรุง (MRO) ให้มีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกและกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมการเดินเรือของอินเดีย เป็นต้น

โดยการยกเว้นภาษีนี้จะช่วยให้การผลิตอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไฟฟ้าในอินเดียมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าลดลงและเพิ่มศักยภาพในการส่งออก ตลอดจนส่งเสริมให้อินเดียเป็นศูนย์กลางของการสร้างและซ่อมบำรุงเรือ ดึงดูดการลงทุนและสร้างโอกาสในการจ้างงานในภาคการเดินเรือ

นอกจากนี้ อินเดียยังประกาศปฏิรูปภาษี โดยการปรับโครงสร้างภาษีรายได้ ซึ่งนับเป็นหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแผนงบประมาณ โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีรายได้ สำหรับผู้มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.2 ล้านรูปีอินเดีย (จากเดิมยกเว้นให้สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 7 แสนรูปีอินเดีย) และสำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1.2 ล้านรูปีอินเดีย จะได้รับการปรับลดอัตราภาษีลงด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการออม รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนการหักภาษี ณ ที่จ่าย (TDS) และการเก็บภาษี ณ ที่เก็บ (TCS) โดยเพิ่มขีดจำกัดการหักภาษีสำหรับดอกเบี้ยของผู้สูงอายุจาก 50,000 รูปีอินเดีย เป็น 1 แสนรูปีอินเดีย รวมถึงได้ขยายกรอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายของค่าเช่าต่อปี 2.4 แสนรูปีอินเดีย เป็น 6 แสนรูปีอินเดีย

ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียประเมินว่าการดำเนินตามแผนงบประมาณดังกล่าว จะกระตุ้นให้ GDP ของประเทศในปี 2568 – 69 เติบโตในอัตราร้อยละ 10.1

บทสรุป

งบประมาณสหภาพอินเดีย 2025-2026 มีแผนการที่ครอบคลุมเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือทั้งสวัสดิการในเมืองและชนบท การลดภาษี การส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตร การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ และการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชากรอินเดียที่ดีขึ้น เกิดการสร้างงาน ประชาชนมีเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ

จากการประกาศแผนงบประมาณปี 2568-69 ของอินเดีย จะเห็นได้ว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ อินเดียได้ให้ความสำคัญกับการผลิตและส่งออกในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สิ่งทอ และการเกษตร การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พลังงานทดแทน รวมถึงด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพของอินเดียให้มีความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก จึงนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในสาขาดังกล่าวที่มีความพร้อมในการลงทุน/ร่วมทุนในตลาดอินเดียที่จะแสวงหาความร่วมมือกับนักธุรกิจอินเดียเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าในอินเดีย โดยใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตจากไทย เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพิ่มโอกาสทางการแข่งขันในตลาดโลก รวมไปถึงอาจเกิดความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ๆ กับกลุ่มสตาร์ทอัพที่สร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ในตลาดระหว่างประเทศได้

แหล่งที่มา

  1. Budget 2025-26: A promising first step, but miles to go, The Hindu, 11 Feb 2025.
  2. Union Budget 2025-26 Analysis, PRS Legislative Research, 1 Feb 2025.
  3. Budget 2025 – 2026, Speech of Nirmala Sitharaman Minister of Finance, 1 Feb 2025.
thThai