BRICS: อินเดีย-อินโดนีเซีย จับมือใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้า ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์

สมาชิกกลุ่ม BRICS1 อย่าง อินเดีย และ อินโดนีเซีย ได้ตกลงอย่างเป็นทางการที่จะยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน และหันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นแทน การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นแม้ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเคยขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตรา 100% ก็ตาม โดยอินโดนีเซียมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการค้าทวิภาคี และอินเดียได้เห็นด้วยกับนโยบายเศรษฐกิจใหม่นี้แล้วเช่นเดียวกัน

การทำธุรกรรมข้ามพรมแดนระหว่างสมาชิก BRICS อย่าง อินเดีย และ อินโดนีเซีย จะถูกชำระด้วยสกุลเงินท้องถิ่นแทนการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในเร็วๆ นี้ โดยทั้งสองมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทางการเงินและส่งเสริมการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและ GDP ของตน ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ได้แสดงท่าทีต่อมาตรการใหม่ดังกล่าวนี้ ซึ่งบทบาทของเงินดอลลาร์สหรัฐกำลังลดลง ขณะที่สกุลเงินท้องถิ่นกำลังจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนทรา โมดี ให้การต้อนรับประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต ของอินโดนีเซีย ณ กรุงนิวเดลีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายการค้าใหม่ โดยทั้งสองได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันในการตกลงที่จะใช้สกุลเงินประจำชาติของตน แทนดอลลาร์สหรัฐฯ BRICS กำลังท้าทายอิทธิพลของเงินสกุลนี้ โดยผลักดันแนวทางลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ (de-dollarization)  ถึงแม้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้งก็ตาม

ผู้นำทั้งสองประเทศ “เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการข้อตกลงดังกล่าวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังแสดงความเชื่อมั่นว่าการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมทวิภาคีจะช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างอินโดนีเซียและอินเดียและเสริมสร้างการบูรณาการทางการเงินระหว่างเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” ตามแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ โดยรายงานระบุว่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศจะถูกชำระด้วยสกุลเงินรูปีของอินเดีย หรือรูเปียห์ของอินโดนีเซีย การเข้าร่วมกลุ่ม BRICS อินโดนีเซีย อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม ปี 2025 ที่ผ่านมา ถือเป็นการสนับสนุนแนวทางลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถจัดการกับนโยบายลดการใช้ดอลลาร์ของกลุ่ม BRICS ได้ เงินดอลลาร์สหรัฐอาจเป็นผู้เสียประโยชน์รายแรกในตลาดโลก

ความคิดเห็นของสำนักงาน: 

อินโดนีเซียมีมูลค่าการค้ากับอินเดีย ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ 24,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกจากอินโดนีเซีย 18,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 5,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลาเดียวกัน มูลค่าการค้าระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 34,883 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกจากอินโดนีเซีย 23,853 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 11,030 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาและอินเดีย เป็นคู่ค้าสำคัญต่ออินโดนีเซีย โดยมูลค่าการส่งออกจากอินโดนีเซียไปยังสหรัฐอเมริกา สูงกว่ามูลค่าส่งออกไปยังอินเดียประมาณร้อยละ 26 ส่งผลให้อินโดนีเซียต้องรักษาฐานลูกค้าในทั้งสองประเทศ แม้ว่าอินโดนีเซียได้ดำเนินนโยบายเชิงรุกโดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ กลุ่ม BRICS ซึ่งมีอินเดียเป็นสมาชิกก่อตั้งและต้องการขยายตลาดไปยังประเทศสมาชิก ในขณะเดียวกัน อินโดนีเซียยังคงให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา เพื่อลดผลกระทบกรณีที่สหรัฐฯมีมาตรการทางการค้ากับกลุ่ม BRICS

สำหรับประเทศไทย มูลค่าการค้าระหว่างไทยและอินโดนีเซียในช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม 2567 มีมูลค่ารวม 18,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกจากไทย 10,092 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 8,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าระหว่างอินโดนีเซียและอินเดียอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรที่อินเดียมีความสามารถในการผลิตเช่นเดียวกับไทย เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม สินค้าจากไทยยังคงมีความได้เปรียบในด้านคุณภาพและระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพกว่าอินเดีย เนื่องจาก ไทยและอินโดนีเซียต่างเป็นสมาชิก ASEAN ที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใกล้กัน ซึ่งช่วยเสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์และลดต้นทุนการขนส่งระหว่างกัน

thThai