อุตสาหกรรมแฟชั่นในอิตาลีเผชิญวิกฤตหนัก อัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น การผลิตและการส่งออกลดลง

รายงานจากศูนย์วิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ Osservatorio Crif ระบุว่า อุตสาหกรรมภาคสิ่งทอและแฟชั่นหลายแห่งในอิตาลีเผชิญปัญหาความต้องการสินค้าที่น้อยลงและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งส่งผลให้ยอดการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมนี้ลดลงเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติอิตาลี (ISTAT) ระบุว่า ปี 2567อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าของอิตาลี มียอดการผลิตลดลงถึง 18.3% ซึ่งลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ของอิตาลี และการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องหนัง และรองเท้าลดลงถึง 3.8% Osservatorio Crif ยังระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทสัญชาติอิตาเลียนต่างๆ ในอุตสาหรรมแฟชั่นมีอัตราการผิดชำระหนี้สูงถึง 3.3% (เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนธันวาคม 2566)
เมื่อพิจารณาในแต่ละภาคส่วน พบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 อุตสาหกรรมสินค้าเครื่องหนังและรองเท้าต่างๆ มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 4.4% (เพิ่มขึ้นจาก 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2566) สำหรับอุตสาหกรรมสินค้าเสื้อผ้าทั่วไป อัตราการผิดชำระหนี้อยู่ที่ 3.3% (เพิ่มขึ้นจาก 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2566) ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมสิ่งทอมีอัตราการผิดชำระหนี้ต่ำกว่าอุตสาหกรรรมอื่นๆ มีอัตราอยู่ที่ 2.1% (เพิ่มขึ้นจาก 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2566) อย่างไรก็ตาม อัตรานี้ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอิตาลี นอกจากนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อัตราการกู้ยืมเงินจากธนาคารของอุตสาหกรรมแฟชั่นลดลงถึง 8% สาเหตุหนึ่งมาจากการชะลอตัวของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และอีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่สถาบันทางการเงินโดยทั่วไปมีความระมัดระวังที่จะอนุมัติสินเชื่อให้กับบริษัทต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดย่อม ซึ่งมีจำนวนมากในขณะนี้
ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 อุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลีมีการเติบโตที่รวดเร็วเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาขายและความต้องการในตลาดเอเชีย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันปัจจัยหลายประการได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายและส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าของอิตาลี ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคทั่วโลกมีกำลังซื้อลดลงอย่างเห็นได้ชัด และผู้บริโภคชาวเอเชียมีแนวโน้มที่จะหันไปซื้อสินค้าท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกรวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ ยังส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตและขนส่งเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ผู้บริโภคจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการบริโภคที่มีจิตสำนึกและความยั่งยืน (sustainable) มากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง
ในขณะนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่น Made in Italy อยู่ในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะแคว้นทัสคานี มาร์เค และคัมปาเนีย ซึ่งเป็นแคว้นที่มีบทบาทสำคัญของภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลี ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการลดลงของคำสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ซึ่งเริ่มตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2566 และชะลอลงเรื่อยๆ โดยในปี 2567 แบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ ทยอยปิดโรงงาน ซึ่งในแคว้นทัสคานี มีบริษัทมากกว่า 300 แห่งที่ถูกปิดตัวลง นักวิเคราะห์จาก Osservatorio Crif ให้ความเห็นว่า ปัญหานี้ไม่เพียงแต่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่ยังเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย และหนึ่งในวิธีที่จะสามารถรับมือกับปัญหานี้คือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค (macroeconomics) หรือในระดับประเทศของอิตาลี ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้โมเดลธุรกิจและการกำหนดราคาที่คำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อการบริโภคอย่างยั่งยืน Mr. Adolfo Urso รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิสาหกิจและการผลิตในอิตาลี (Ministero delle Imprese e del Made in Italy) ได้ประกาศว่าในปี 2568 รัฐบาลได้จัดสรร
งบประมาณ 250 ล้านยูโร ให้กับภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลี โดยงบประมาณนี้มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิตัลในอุตสาหกรรมดังกล่าว Mr. Urso ยังได้กล่าวว่า รัฐบาลอิตาลีจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อความยังยืนในทางอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเจรจากับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะบังคับใช้กฎหมาย Ecodesign อีกด้วย อย่างไรก็ตาม Mr. Carlo Capasa ประธานหอการค้าแฟชั่นของอิตาลี (Camera Nazionale della Moda Italiana) เน้นย้ำว่าวิกฤตที่สินค้า Made in Italy กำลังเผชิญอยู่นั้นต้องการมากกว่าแค่แรงผลักดันจากรัฐบาล แม้ว่าการจัดสรรงบประมาณ 250 ล้านยูโรถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยม แต่ภาคส่วนนี้ต้องการความช่วยเหลือทางด้านนโยบายอุตสาหกรรมระยะกลางถึงระยะยาว และต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในด้านต้นทุนพลังงาน ต้นทุนแรงงาน และการสนับสนุนธุรกิจโดยเฉพาะทางตอนใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่สำคัญของอุตสาหกรรมนี้
ความคิดเห็นของสคต. ณ เมืองมิลาน
1. อุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลีมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ โดยมีมูลค่าสูงถึง 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product – GDP) และมีมูลค่ารวมประมาณ 75,000 ล้านยูโร และมูลค่าส่งออก 65,000 ล้านยูโร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการส่งออกไปยังตลาดนอกยุโรป ดังนั้น การที่อุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลีกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตนั้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้ง การที่โรงงานต่างๆ ปิดตัวลงโดยเฉพาะในภูมิภาคหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่น ยังส่งผลกระทบต่อการสูญเสียตำแหน่งงานและความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานอีกด้วย
2. ในปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวอิตาเลียนจำนวนมากเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อการบริโภคอย่างยั่งยืน และจากการสำรวจของบริษัทวิจัยตลาดและการสำรวจความคิดเห็น IPSOS ยังพบว่าชาวอิตาเลียน 22% มีความเห็นว่าแบรนด์เสื้อผ้าส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กำไรและรายได้จากธุรกิจมากกว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน 15% ปฏิเสธที่จะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ฟอกเขียว (greenwashing) หรือแบรนด์ที่ให้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนเพื่อให้มีภาพลักษณ์รักษ์โลก แต่หลอกลวงผู้บริโภคและไม่ได้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ดังนั้น แบรนด์เสื้อผ้าต่างๆ จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านความยั่งยืนในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง และเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจน ถูกต้องและโปร่งใส เพื่อที่จะได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในกลุ่มนี้
3. ในขณะเดียวกัน ยังคงมีผู้บริโภคจำนวนมากในอิตาลีเลือกที่จะซื้อสินค้าราคาถูกแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน การเข้ามาของเว็บไซต์ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นราคาย่อมเยาจากจีนอย่าง Shein และ Temu (รวมถึงแบรนด์ fast fashion อื่นๆ) ยังส่งผลกระทบต่อสินค้าเสื้อผ้า Made in Italy เป็นอย่างมาก ธุรกิจเสื้อผ้าขนาดกลางและขนาดเล็กไม่สามารถที่จะแข่งขันกับราคาของ Shein และ Temu ได้ ปัจจัยนี้นั้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นของอิตาลีเผชิญกับวิกฤตหนัก นอกจากที่จะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าเพื่อความยั่งยืนแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องปรับตัวกับการเข้ามาของ Shein และ Temu อีกด้วย

ที่มา: 1. Tessile e moda in difficoltà, il rischio default sale al 3,3% – Il Sole 24 Ore
2. Gucci acquired three tanneries in Tuscany – NSS Magazine
3. Italian manufacturing is in crisis, Italian fashion more so – NSS Magazine
4. Moda, Urso: massimo sforzo per rilancio, 250 milioni per le imprese nel 2025 – MIMIT
5. Italian government allocated 250 million euros for Made in Italy – NSS Magazine
6. Il settore Moda tra sfide e opportunità: quale futuro attende il Made in Italy? – La Fondazione CDP
7. Shein, Temu e il loro impatto sulla filiera della moda in Italia – FACGB
8. เครดิตรูปภาพประกอบ Photo by Artificial Photography on Unsplash

thThai