สหรัฐฯ เลื่อนการเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดาออกไปก่อน

หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนาม executive order เรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก ร้อยละ 25 และจีน ร้อยละ 10 ให้มีผลวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 โดยจะขึ้นภาษีนำเข้าร้อยละ 25 กับสินค้าทุกชนิดจากแคนาดา ยกเว้นพลังงาน (ร้อยละ 10) ล่าสุด หลังการเจรจากับนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 สหรัฐฯ ได้ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีออกไปอีก 1 เดือน (ให้มีผลในวันที่ 1 มีนาคม 2568)

โดยนอกเหนือจากแผนการใช้งบประมาณ 1.3 พันล้านเหรียญแคนาดา ใน 6 ปี เพื่อควบคุมการข้ามแดนผิดกฎหมายและการลักลอบนำเข้ายาเสพติดที่แคนาดาประกาศไปก่อนหน้านี้ แคนาดาได้ตกลงตั้งตำแหน่ง Fentanyl Czar กำกับสารเสพติด รวมไปถึงความร่วมมือในการปราบองค์กรอาชญากร และการฟอกเงิน ที่จะใช้งบประมาณ 200 ล้านเหรียญแคนาดา

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์อ้างการขึ้นภาษีเนื่องจากยังไม่พอใจกับการดำเนินการเพื่อป้องกันการข้ามแดนผิดกฎหมาย และการลักลอบขน fentanyl ข้ามแดน ของแคนาดา รวมทั้งย้ำหลายครั้งว่าสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับแคนาดาจำนวนมาก (แคนาดาได้ดุลการค้าสหรัฐประมาณ 100 พันล้านเหรียญแคนาดาต่อปี (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมัน เนื่องจากสหรัฐนำเข้าน้ำมันจากแคนาดา ร้อยละ 60 ของการนำเข้าทั้งหมด) นอกจากนี้ ทรัมป์เคยยกประเด็นว่าแคนาดาปิดกั้นการทำธุรกิจธนาคารของสหรัฐฯ ในแคนาดา จึงต้องการให้แคนาดาเปิดเสรีในธุรกิจธนาคารมากขึ้น (ตัวแทนจากสมาคมธนาคารแคนาดา ให้ข้อมูลว่าทุกวันนี้ธนาคารสหรัฐฯ มีการเปิดธนาคารสาขาลูกในแคนาดากว่า 16 ธนาคาร มีการถือครอบครองสินทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 113 พันล้านเหรียญแคนาดา สามารถทำธุรกิจธนาคารที่เกือบครบวงจร ตั้งแต่การปล่อยสินเชื่อธุรกิจ การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล การให้บริการบัตรเครดิต การปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์)

ก่อนจะสามารถตกลงเลื่อนการขึ้นภาษี แคนาดาประกาศว่าจะตอบโต้สหรัฐฯ โดยการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากสหรัฐ ร้อยละ 25 ในสินค้าหลายรายการ โดยคิดเป็นมูลค่ารวม 155 พันล้านเหรียญแคนาดา ซึ่งในรอบแรกจะครอบคลุมมูลค่าประมาณ 30 พันล้านเหรียญแคนาดา โดยเลือกสินค้าที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจแคนาดาน้อยที่สุด และในขั้นต่อไปจะตอบโต้ให้ครอบคลุมมูลค่าการนำเข้าจากสหรัฐอีก 125 พันล้านเหรียญแคนาดา ซึ่งรายการสินค้า อาทิ ไวน์ เบียร์ เหล้าเบอร์เบิน ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ รวมถึง น้ำส้ม เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์กีฬา น้ำหอม เสื้อผ้า รองเท้า ไม้ซุง พลาสติก นอกจากนี้ รัฐบาลแคนาดาอยู่ระหว่างพิจารณาใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี เช่น การจำกัดความร่วมมือหรือโครงการจัดซื้อ critical mineral และพลังงาน เป็นต้น

แคนาดาได้พิจารณาแนวทางการตอบโต้การขึ้นภาษีกับสหรัฐฯ โดยจะเลือกเจาะจงขึ้นภาษีนำเข้ากับรัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ (พรรค Republican) อาทิ สินค้าส้มและผลไม้จากรัฐ Floria สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (Household Appliance) จากรัฐ South Carolina และรัฐ Ohio และสินค้ามอเตอร์ไซต์และกาแฟ จากรัฐ Pennsylvania สินค้า พลังงาน เคมีภัณฑ์ อะไหล่ยานยนต์ เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ จากรัฐ Texas ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ที่สุดของรัฐ Republican โดยคาดหวังจะบีบให้รัฐบาลทรัมป์ผ่อนปรนท่าทีกับแคนาดา

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากสหรัฐฯ ดำเนินการขึ้นภาษีกับแคนาดาจริงและแคนาดามีการตอบโต้ จากการคาดการณ์เบื้องต้นของหอการค้าแคนาดา ประเมินว่า GDP ของแคนาดาจะหดตัวร้อยละ 2.6 หรือประมาณ 78 พันล้านเหรียญแคนาดา กระทบกับการจ้างงานในแคนาดา ทำให้ชาวแคนาดามีรายได้ลดลงประมาณ 1,900 เหรียญแคนาดาต่อคนต่อปี ขณะที่ GDP ของสหรัฐเองประเมินว่าลดลง ร้อยละ 1.6 หรือ 466 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้รายได้ชาวอเมริกันลดลงประมาณ 1300 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี

แม้การขึ้นภาษีระหว่างกันจะเลื่อนไปก่อน แต่ความไม่แน่นอนส่งกระแส Wake Up Call ที่ทำให้ภาคเอกชนแคนาดาต้องเร่งหาทางออกในเรื่องการสร้างแหล่งห่วงโซ่อุปทานใหม่ หรือแหล่งสินค้าสำรอง รวมถึงการหาตลาดส่งออกทดแทน (สหรัฐฯ) เพื่อกระจายความเสี่ยง ลดกระทบต่อธุรกิจ

 

กระแสสังคมในแคนาดาได้เริ่มประท้วง ต่อต้านสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยร้าน LCBO (ร้านจำหน่ายเครื่องแอลกอฮอล์ในรัฐออนแทริโอ) จะหยุดจำหน่ายเครื่องดื่มไวน์ และแอลกอฮอล์ที่นำเข้าจากสหรัฐฯ (ประมาณ 3,600 รายการ มูลค่าเกือบ 1พันล้านเหรียญแคนาดา) หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีกับแคนาดา และหลายรัฐในแคนาดา ก็มีแผนจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

 

ความเห็น สคต.

การรับมือต่อสถานการณ์สงครามการค้าครั้งนี้ระหว่างแคนาดา-สหรัฐฯ เริ่มส่งกระแส Wake Up Call ที่ทำให้ภาคเอกชนแคนาดาต้องเร่งหาทางออกในเรื่องการสร้างแหล่งห่วงโซ่อุปทานใหม่ หรือแหล่งสำรอง การหาตลาดส่งออกทดแทน (สหรัฐฯ) เพื่อลดกระทบต่อธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งด้านการค้าครั้งนี้ อาจสร้างโอกาสให้กับผู้ส่งออกไทย เนื่องจากผู้นำเข้าแคนาดาต้องเริ่มหาแหล่งนำเข้าสินค้าแหล่งทดแทนจากสหรัฐฯ โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพ ได้แก่ กลุ่มสินค้าอาหาร อาทิ ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว ปลาทูน่ากระป๋อง ไก่ปรุงสุก อาหารสัตว์เลี้ยง ซอส อาหารพร้อมรับประทาน และสินค้าอื่นๆ ที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับต้นๆ ของแคนาดาแข่งขันกับสหรัฐ เช่น ยางรถยนต์ ยางแผ่นรมควัน อาหารสัตว์เลี้ยง ถุงมือยาง เครื่องประดับเงิน อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็กและผลิตภัณฑ์ แผงวงจร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)

——————————————————————-

thThai