เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในยุโรปโดยการนำซอฟท์พาวเวอร์ไทยอย่าง “สาโท” ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเองโดย Sip Song Bar (สิบสองบาร์) บาร์ไทยสุดฮิปกลางกรุงเวียนนาและใช้ชื่อว่า “สาโท Sip Song” since 2024 เสิร์ฟลูกค้าเป็นแห่งแรกในประเทศออสเตรีย พร้อมมุ่งสานฝันสยายปีกไปยังหัวเมืองยุโรปอื่นๆ
“สาโท Sip Song” since 2024 ใช้ข้าวหอมมะลิจากแหล่งผลิตชั้นเลิศทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ดเป็นวัตถุดิบหลักและนำมาหมักบ่มกับน้ำแร่ธรรมชาติคุณภาพสูงแห่งเทือกเขาแอลป์ประเทศออสเตรีย ออกมาเป็นสาโทชั้นยอดที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่นจากผู้บริโภคและนักวิจารณ์ผู้มีอิทธิพลในวงการอาหารออสเตรีย ตลอดจนสื่อมวลชนทั้งในออสเตรียและสื่ออื่นในยุโรปต่างให้ความสนใจขอเข้าสัมภาษณ์พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับนวัตกรรมและวัฒนธรรมการกินดื่มของไทยในครั้งนี้
“You can eat rice. You can drink it as well”. แปลว่า “คุณสามารถรับประทานข้าวได้ คุณก็ดื่มข้าวได้เช่นกัน” ซึ่งข้าวอย่างหลังหมายถึงสาโท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ทำจากข้าวโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เป็นประโยคที่ออกจากปากของคุณสุพัณณดา พลับทอง หรือเปียโน อดีตศิลปินนักร้องชื่อดังวงสามพี่น้อง The Sis ซึ่งได้ผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งโจทย์สำคัญในการยกระดับอาหารไทยให้เป็นสากลและมีความพรีเมี่ยมนั่นคือเครื่องดื่มประเภทใดจึงจะเข้ากันได้ดีกับอาหารไทยที่มีรสจัดจ้านเผ็ดร้อน และเหตุใดที่ผ่านมาอาหารไทยจึงยังไม่มีเครื่องดื่มที่เข้าคู่กัน เฉกเช่นการจับคู่ไวน์กับอาหารตะวันตกหรือสาเกคู่กับอาหารญี่ปุ่น จึงเกิดเป็นแรงผลักดันให้เจ้าของร้านอาหาร Mamamon Thai Eatery และ Sip Song Bar รายนี้ เสาะหา ค้นคว้า ทดลอง และสั่งสมประสบการณ์ จนกระทั่งได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้ไปเรียนรู้วิธีการทำสาเกที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งประสบการณ์ในครั้งนั้นได้ตอกย้ำว่าเครื่องดื่มที่ตามหาอยู่นั้นไม่ใช่อะไรที่ไหนไกล แต่คือสาโท (Sato) นั่นเอง
ขณะที่สาเกของญี่ปุ่น ซึ่งถูกผลิตโดยใช้ข้าวเหนียวจากประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลก สาโทของไทยกลับกลายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกจำกัดและยังไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาเพื่อนำมาสร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยความซาบซึ้งในคุณค่าและอัตตลักษณ์ของข้วหอมมะลิไทยจากทุ่งกุลาร้องไห้ คุณเปียโนจึงพยายามพัฒนาสาโทที่ทำจากข้าวเจ้าชนิดนี้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยและยังเป็นสินค้าเกษตรชนิดแรก
ของไทยและอาเซียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป (Protected
Geographical Identification) ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเครื่องรับประกันคุณภาพและแหล่งกำเนิดของสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมอาชีพชาวนา คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมอันทรงคุณค่าให้ยังคงได้รับการสืบทอดต่อไปอีกด้วย
นางสาวอรอนุช ผดุงวิถี ผอ. สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา ในฐานะผู้ผลักดันนโยบายส่งเสริมข้าวหอมมะลิไทยด้วยการเพิ่มมูลค่ามาโดยตลอด เผยว่าวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวยุโรปไม่ได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ดังนั้น การแปรรูปสินค้าให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญ และหากสาโท Sip Song ได้รับความนิยมในการบริโภคอย่างแพร่หลาย ไทยก็จะสามารถส่งออกข้าวเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้มากขึ้น สิ่งนี้ยังถือได้ว่าเป็นส่วนต่อขยายของยุทธศาสตร์ “เวียนนา (ค้าข้าว) โมเดล” ซึ่งได้รับการพัฒนาจนประสบความสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งที่ผ่านมา สคต. ณ กรุงเวียนนา ได้ทดลองนำสาโทเข้าเสิร์ฟในงานเลี้ยงรับรอง Vienna Fashion Week 2024 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับที่น่าสนใจ “เมื่อผู้ประกอบการพร้อม เราก็พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่”
สำหรับความมุ่งมั่นในการยกระดับอาหารไทยผ่านเครื่องดื่มซอฟท์พาวเวอร์อย่างสาโทของไทยถือเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีและการได้สัมผัสถึงความเป็นไทยอย่างลึกซึ้งของผู้บริโภคผ่านร้านอาหารไทยที่คู่ควร สคต. ณ กรุงเวียนนา จึงได้จับมือบูรณาการกับ สคต. ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ร่วมกันส่งเสริมผู้ประกอบการหาช่องทางการเจาะตลาดสาโท Sip Song ในโปแลนด์ผ่านร้านอาหารไทยแนวสตรีทฟู้ดที่มีความสนใจ โดยมีนางเมทินี ศิริสวัสดิ์ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงวอร์ซอ เป็นแม่งานในการจับคู่เจรจาธุรกิจให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ศักยภาพในเมืองหลักอย่างกรุงวอร์ซอ และเมืองคาคุฟ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นที่น่าพอใจ โดยคาดว่าจะมีฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร เป็นประเทศเป้าหมายต่อไป