ภาพรวมเศรษฐกิจ
- เศรษฐกิจของประเทศชิลีประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 ในภาพรวม GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 2.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้แรงสนับสนุนจากภาคการค้าที่เพิ่มขึ้น 4.8% การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมปรับตัวดีขึ้นที่ 9.1% ภาคการลงทุนของชิลียังคงมีแนวโน้มหดตัว อัตราว่างงานลดลงต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือนโดยอยู่ที่ 8.2% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงอยู่ที่ 4.2% การนำเข้าโดยรวมของชิลีลดลง -2.9% ส่วนภาคการส่งออกของชิลีโดยรวมเพิ่มขึ้น 4.7% โดยมีสินแร่และทองแดงเป็นสินค้าส่งออกหลัก ระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2567 ชิลีส่งออกสินแร่และทองแดงรวมมูลค่ากว่า 52,280 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
- ในส่วนของรายละเอียดในแต่ละด้านประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 สคต. ณ กรุงซันติอาโก ขอสรุปรายละเอียด ดังนี้
1. การบริโภคภาคเอกชน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี )
การบริโภคภาคเอกชนของชิลีประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 ในภาพรวมขยายตัวขึ้น 9.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเป็นช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ บรรดาห้างร้านต่างจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย จากพฤติกรรมผู้บริโภคของชาวชิลีที่นิยมเตรียมซื้อของขวัญไว้ล่วงหน้า โดยสินค้าที่มีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มมากขึ้นสูงที่สุด ได้แก่ หมวดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หมวดสินค้าเบ็ดเตล็ด (ของเล่น ของแต่งบ้าน ฯลฯ) หมวดเครื่องสำอาง-ยารักษาโรค และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า-สินค้าเทคโนโลยี โดยเพิ่มขึ้น 12.7%, 8.7%, 7.6%, และ 5.5%, ตามลำดับ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 ปรับระดับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากที่ระดับ 43.0 มาอยู่ที่ 41.9 ลดลง -2.7%
2.การลงทุน (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี https://www.bcentral.cl/)
บรรยากาศการลงทุนในภาครัฐและเอกชนของชิลีประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 ในภาพรวมปรับตัวลดลง สะท้อนจากตัวเลขการขออนุญาตก่อสร้าง (คิดเป็นตารางเมตร) ลดลง จาก 0.9 ล้านตรม. มาอยู่ที่ 0.7 ล้านตรม. ลดลง -18.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การลงทุนจากต่างประเทศมีมูลค่ารวม 1.4 หมื่นล้านเหรียญลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของชิลีที่ลดลง 8.1% เนื่องจากนักลงทุนแสดงความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา หลังทรัมป์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤศจิกายน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจโดยรวมประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 ปรับระดับลดลงจากระดับ 42.7 มาอยู่ที่ 41.9 ลดลง 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาคธุรกิจที่มีดัชนีความเชื่อมั่นสูงที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ (1) ภาคการค้า (2) ภาคภาคการผลิต (3) ธุรกิจเหมืองแร่ โดยอยู่ที่ 48.7, 43.8 และ 40.5 ตามลำดับ ภาคการก่อสร้างยังคงมีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำที่สุดที่ 30.1
3. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (ข้อมูลจากธนาคารกลางชิลี https://si3.bcentral.cl และสำนักงานสถิติแห่งชาติของชิลี https://www.ine.gob.cl)
อัตราการว่างงานของประเทศชิลีในเดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน โดยอยู่ที่ 8.2% ของจำนวนผู้ใช้แรงงานทั้งหมดในประเทศ หากพิจารณาแยกตามเขตการปกครอง แคว้นที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือ แคว้นอาเราคาเนีย ที่ 10.2% และแคว้นที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดคือ แคว้นมากายาเนส ที่ 3.8%
อัตราเงินเฟ้อของประเทศชิลีในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.2% โดยสินค้า 3 หมวดแรก ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 3 เดือนนี้ ได้แก่ (1) หมวดที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค (2) หมวดร้านอาหารและโรงแรม และ (3) หมวดประกันและบริการทางการเงิน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 10.2%, 7.5% และ 6.3% ตามลำดับ
4. การส่งออก-นำเข้า (ข้อมูลจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของชิลี SUBREI – www.subrei.gob.cl)
การส่งออกสินค้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 มีมูลค่ารวมที่ 90,741 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่
สินค้า | ม.ค.-พ.ย. (ล้านเหรียญสหรัฐ) | ขยายตัว
(66/67) |
|
ปี 2566 | ปี 2567 | ||
สินแร่ | 47,741 | 52,280 | 9.5% |
ผลไม้ | 5,790 | 6,968 | 20.4% |
เคมีภัณฑ์ | 9,426 | 7,233 | -23.3% |
ปลาแซลมอน | 5,620 | 5,470 | -2.7% |
เยื่อกระดาษ | 3,048 | 3,642 | 19.5% |
เฟอร์นิเจอร์จากไม้ | 2,078 | 2,122 | 2.1% |
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ | 1,979 | 2,064 | 4.3% |
การนำเข้าของชิลีระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 มีมูลค่ารวมที่ 70,994 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -2.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่
สินค้า | ม.ค.-พ.ย. (ล้านเหรียญสหรัฐ) | ขยายตัว
(66/67) |
|
ปี 2566 | ปี 2567 | ||
สินค้าหมวดพลังงาน | 42,508 | 40,886 | -3.8% |
สินค้าอุปโภคบริโภค | 20,249 | 20,723 | 2.3% |
สินค้าทุน | 15,962 | 14,961 | -6.3% |
-รถยนต์เชิงพาณิชย์ | 2,184 | 2,034 | -6.9% |
-เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมก่อสร้าง | 1,230 | 1,048 | -14.8% |
จากตัวเลขการส่งออกของชิลีที่สูงกว่าตัวเลขการนำเข้า ทำให้ชิลีได้ดุลการค้า จำนวน 19,747 ล้านเหรียญสหรัฐ
5. การค้าของชิลีกับไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน (ข้อมูลสถิติทางการค้าจาก Global Trade Atlas)
ชิลีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 มูลค่ารวม 541.46 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 4.21% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งสินค้าที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- รถยนต์และส่วนประกอบ (13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.04%)
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (100.59 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.76%)
- ปลากระป๋อง (45.65 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -14.95%)
- เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (84 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.55%)
- ไข่มุกและอัญมณี (59 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.80%)
สำหรับตัวเลขการนำเข้าของชิลีจากกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่
- ชิลีนำเข้าจากเวียดนาม 1,090.84 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 3.83%)
- ชิลีนำเข้าจากไทย 541.46 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 4.21%)
- ชิลีนำเข้าจากอินโดนีเซีย 360.71 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 20.68%)
- ชิลีนำเข้าจากมาเลเซีย 193.53 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 24.46%)
- ชิลีนำเข้าจากสิงคโปร์ 94.20 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 35.29%)
ชิลีส่งออกสินค้าไปยังประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 มูลค่ารวม 623.65 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 4.15% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- ทองแดง (95 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -0.24%)
- เยื่อกระดาษ (69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39.94%)
- แซลมอนและอาหารทะเล (41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -8.70%)
- สินแร่อื่น ๆ (50.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.28%)
- ผลไม้และผลิตภัณฑ์ธัญพืช (156 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง -25.43%)
สำหรับตัวเลขการส่งออกของชิลีไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนใน 5 อันดับแรก ได้แก่
- ชิลีส่งออกไปยังไทย 623.65 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 4.15%)
- ชิลีส่งออกไปยังเวียดนาม 262.71 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -12.10%)
- ชิลีส่งออกไปยังฟิลิปินส์ 260.39 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 371.35%)
- ชิลีส่งออกไปยังมาเลเซีย 178.89 ล้านเหรียญสหรัฐ (ลดลง -44.58%)
- ชิลีส่งออกไปยังสิงคโปร์ 103.51 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 37.98%)
มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-ชิลี ระหว่างเดือนมกราคม – เดือนพฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ 1,165.11 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 4.18%) โดยชิลีส่งออกสินค้าไปยังไทยมากกว่านำเข้าจากไทย ทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าที่ 82.19 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มกราคม 2568