ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองครั้งสำคัญปลายปี 2024 นี้ ผู้บริโภคฝรั่งเศสยังคงต้องจ่ายค่าอาหารเพิ่มสูงขึ้น แต่ต่ำกว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงในปีก่อนหน้านี้ ข่าวดีส่วนหนึ่งสำหรับผู้บริโภคในปีนี้ ได้แก่สินค้าอาหารหลายรายการที่เป็นที่นิยมในช่วงเทศกาลมีราคาปรับลดลงจากปีที่แล้ว ดังเช่น
- ฟัวร์กราส์ และราคาเนื้อสัตว์ปีกที่วางขายในห้างค้าปลีกลดลงประมาณร้อยละ 5 เนื่องมาจากการฉีดวัคซีนยับยั้งการเกิดโรคไข้หวัดนกในปีนี้ทำได้อย่างทันท่วงที ช่วยให้มีผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดในปริมาณที่เพียงพอ
- อาหารทานเล่นแช่แข็ง ปรับราคาลดลงร้อยละ 5 ผลต่อเนื่องจากการปรับลดราคาพลังงานช่วยลดราคาต้นทุนการผลิต
ถึงแม้ว่าราคาสินค้าอาหารหลายรายการดังเช่นที่กล่าวมาแล้วจะปรับลดลง แต่ยังคงไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ผู้บริโภคปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับมื้ออาหารเพื่อการเฉลิมฉลองปลายปีได้เท่าที่ควร เนื่องจากสินค้าอาหารรายการอื่นๆที่เป็นที่นิยมยังคงมีการปรับขึ้นราคาจากปี 2023 ดังเช่น ปลาแซลมอน, เห็ด Cep ,แชมเปญ (+ร้อยละ 4.5), ช็อคโกแลต (+ร้อยละ 3.5) หรือหอยทากอบแช่แข็ง (+ร้อยละ 5.3) ส่งผลให้งบประมาณสำหรับมื้ออาหารในปีนี้ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 123 ยูโร (+ร้อยละ 2.2 จากปีที่แล้ว ) แต่ยังคงต่ำกว่าระดับที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.5 จากปี 2022 บริษัท Circana กล่าวสรุปว่า หากนับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมาราคามื้ออาหารสำหรับเทศกาลเฉลิมฉลองได้มีการปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.4 แล้วจนถึงปัจจุบัน
นาง Emily Mayer ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัท Circana กล่าวว่าราคาสินค้าอาหารหลายรายการเริ่มมีการปรับลดราคาลงตั้งแต่ในช่วงเจ็ดเดือนที่ผ่านมา ในเดือนพฤศจิกายนเพียงอย่างเดียวราคาปรับลดลงร้อยละ 0.8 แต่เนื่องจากยังคงมีสินค้าอีกหลายรายการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง จึงส่งผลให้งบประมาณโดยรวมในการจับจ่ายสำหรับมื้ออาหารในช่วงเวลาเทศกาลนี้จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-3 อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายโดยจัดทำรายการซื้อสินค้าที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแตกต่างไปจากในปี 2022 ที่ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นโดยฉับพลันและผู้บริโภคยังไม่มีประสบการณ์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคในช่วงเทศกาลในปีนั้นลดลงถึงร้อยละ 10 และปี 2023 ร้อยละ 5 แต่การปรับราคาในปีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของคนฝรั่งเศสในช่วงเทศกาลปีนี้
นอกจากผู้บริโภคที่จำเป็นต้องปรับตัวแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการค้าปลีกเองก็เช่นกัน ดังเช่น ห้างค้าปลีก Carrefour ใช้กลยุทธ์การลดราคาสินค้า ซึ่งได้แนวความคิดมาจากเทศกาลลดราคา Black Friday ที่สามารถกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี นำมาใช้กับการลดราคาสินค้าอาหารบางรายการเพื่อกระตุ้นการบริโภค เช่น ช็อคโกแลตส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งกลยุทธ์การปรับลดราคาของห้างค้าปลีกในช่วงเทศกาลสามารถช่วยกระตุ้นให้สัดส่วนของผลประกอบการขายสินค้าอาหารในช่วงปลายปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 20 ของผลประกอบการโดยรวมตลอดทั้งปี
ตัวแทนของห้างค้าปลีก Intermarché กล่าวถึงบรรยากาศการจับจ่ายสินค้าในช่วงเทศกาลนี้ไว้ว่า ผู้บริโภคฝรั่งเศสยังคงรักษาความระมัดระวังในการใช้จ่ายเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากความไม่แน่นอนทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เนื่องมาจากประสบการณ์การบริโภคตั้งแต่ปี 2021 ที่ราคาสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ช่วยให้ผู้บริโภคฝรั่งเศสสามารถปรับแนวทางในการบริโภคได้ดียิ่งขึ้น ตั้งแต่การเลือกซื้อสินค้าอาหารของ House Brand จนถึงการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารในช่วงเทศกาล ด้วยการลดเมนูที่มีราคาสูงเป็นเมนูอาหารที่มีราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่า ดังเช่น
- เลือกมันฝรั่งทอดหรือชีสเป็นเมนูอาหารทานเล่น หรือ เมนู Raclette (ชีสย่างบนหม้อร้อนให้ละลายทานกับมันฝรั่งและแฮม) ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในปี 2023 ระหว่างช่วงเทศกาลส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
- ผู้บริโภคเลือกเครื่องดื่มที่มีราคาถูกลง ดังเช่น SPARKLING WINE ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เนื่องจากมีราคาถูกกว่าแชมเปญถึงร้อยละ 80
- ยอดขายไอศกรีมแบบธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 แทนที่การบริโภค Ice Cream cake ที่มีราคาสูงกว่า
งานเฉลิมฉลองเทศกาลปลายปีสำหรับผู้บริโภคฝรั่งเศสยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นสำหรับผู้บริโภคการปรับตัวด้วยการปรับลดค่าใช้จ่าย แต่ยังช่วยให้ได้เฉลิมฉลองร่วมกันกับครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
ความคิดเห็น สคต.
นอกเหนือจากสินค้าอาหารที่กล่าวมาในเบื้องต้นแล้ว ผลไม้ที่จัดว่าเป็นผลไม้ exotic ตัวอย่างเช่น ลิ้นจี่ แก้วมังกร เสาวรส เคปกูสเบอรี่ ส้มจี๊ด มะม่วง เป็นต้น ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นกันในช่วงเทศกาลปลายปี การนำเสนอผลไม้ไทย รวมถึงสินค้าอาหารไทยให้กับผู้บริโภคฝรั่งเศสในช่วงเทศกาลปลายปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมาผู้บริโภคฝรั่งเศสจะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย แต่หากผู้ประกอบการสินค้าอาหารไทยเตรียมวางแผน ด้านการส่งสินค้า การทำการโฆษณา การทำการตลาดดังเช่นนโยบายลดราคาสำหรับช่วงเทศกาลปลายปีโดยเฉพาะ หรือทำความร่วมมือกับห้างค้าปลีกจะสามารถช่วยให้ผู้บริโภคฝรั่งเศสหันมาซื้อสินค้าอาหารและผลไม้ไทยได้เพิ่มมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน
ที่มาของข่าว
Dominique Chapuis, Philippe Bertrand
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Les Echos
https://www.lesechos.fr/industrie-services/conso-distribution/repas-de-noel-les-prix-augmentent-moins-vite-quen-2023-2138643