เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ขยายตัว 0.8% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ (CBS) รายงานประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบริโภคภาครัฐและการบริโภคภาคครัวเรือนเป็นหลัก การบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกับเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน และพลังงาน ส่วนการบริโภคภาครัฐก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.8% เช่นกัน โดยรัฐบาลมีการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและด้านการบริหารสาธารณะเพิ่มมากขึ้น การลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.7% เป็นผลมาจากการซื้อเครื่องจักรและสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายด้านทุนสำหรับซอฟท์แวร์และฐานข้อมูล และการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนในที่อยู่อาศัยก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน การส่งออกสินค้าและบริการของเนเธอร์แลนด์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ 0.6% ทำให้ดุลการค้าลดลง

 

และเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรปซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% นับว่าเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ยังคงมีความแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปโดยรวม รวมถึงแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศสซึ่งขยายตัวเพียง 0.4% และเบลเยี่ยมและเยอรมนีที่ขยายตัวเพียง 0.2% หรือแม้แต่ประเทศคู่ค้าที่สำคัญและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัว 0.7%

 

หากเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีก่อนหน้า เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ขยายตัวที่ 1.7% โดยมีการบริโภคภาครัฐและการบริโภคครัวเรือน ภาคการค้าและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่พักและธุรกิจบริการด้านอาหาร การขนส่งและการจัดเก็บ/คลังสินค้า การบริการภาครัฐและภาคธุรกิจที่มีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจมากที่สุด

 

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

 

เศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 ปี 2024 แสดงถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์เมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายประเทศและเศรษฐกิจสหภาพยุโรปโดยรวม รวมถึงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกา การบริโภคภายในประเทศทั้งการบริโภคภาครัฐและภาคครัวเรือนยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจัยบวกหลักคือการเพิ่มขึ้นของอำนาจในการซื้อของผู้บริโภคจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น 6.4% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ (HICP) เพิ่มขึ้นเพียง 3.4% ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีและเป็นโอกาสทางการค้าที่ไทยจะสามารถส่งออกสินค้ามายังเนเธอร์แลนด์ได้มากขึ้น

 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ในไตรมาส 3 จะแสดงให้เห็นสัญญาณในเชิงบวกหลายประการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแนวโน้มในอีกไม่กี่ไตรมาสข้างหน้าจะสดใสต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีสัญญาณเชิงลบใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากภาคการผลิต จากการสำรวจของคณะกรรมาธิการยุโรปแสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมมีมุมมองในเชิงลบมากขึ้นในเดือนตุลาคมเกี่ยวกับราคาขายสินค้าที่คาดหวังและการผลิตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งมุมมองเชิงลบนี้ไม่ส่งผลดีต่อการส่งออก การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวม ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ หลายฝ่ายจึงมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ในไตรมาสถัดไปอาจมีการชะลอตัวลง ทั้งนี้ เราคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้า สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการทางการค้าต่างๆ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ต่อไป

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

thThai