ข้อมูลจาก International Wine and Spirits Research (IWSR) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลที่เชี่ยวชาญในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วโลก ระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดไวน์ในสหรัฐฯ เผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยการคาดการณ์บ่งชี้ว่า ปริมาณยอดขายไวน์ในสหรัฐฯ จะลดลงที่อัตราเฉลี่ยปีละ -2% ระหว่างปี 2022 ถึง 2027 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นจากการลดลงที่ -1% ในช่วงปี 2017-2022 และในปี 2022 เพียงปีเดียว ปริมาณยอดขายไวน์ลดลงถึง -3%

        ประเภทของไวน์ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

  1. ไวน์แดง (Red Wine): ไวน์ที่ทำจากองุ่นแดง ซึ่งมีรสชาติและกลิ่นที่หลาก

หลายจากการหมักเปลือกองุ่นร่วมกับน้ำองุ่น

  1. ไวน์ขาว (White Wine): ไวน์ที่ทำจากองุ่นขาว หรือบางครั้งอาจทำจากองุ่น

แดงที่ไม่มีเปลือก ซึ่งมีรสชาติที่สดชื่นและเบากว่า

  1. ไวน์โรส (Rosé Wine): ไวน์ที่ทำจากองุ่นแดงแต่มีการหมักกับเปลือกองุ่นใน

ระยะเวลาสั้น ๆ จึงได้สีและรสชาติที่อ่อนกว่าไวน์แดง

  1. ไวน์สปาร์คกลิ้ง (Sparkling Wine): ไวน์ที่มีการคาร์บอเนต (ฟอง) เช่น แชมเปญ หรือ โปรเซ็คโค
  2. ไวน์หวาน (Dessert Wine): ไวน์ที่มีระดับความหวานสูง มักใช้ในมื้อขนมหวานหรือตอนท้ายมื้ออาหาร

ช่องทางการจำหน่าย: ยอดขายไวน์จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขาย

ไวน์ เพื่อนำไปบริโภคที่บ้านในปี 2024 คาดว่าจะมีมูลค่า 5,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยอดขายไวน์ในร้านอาหาร บาร์ หรือ สถานที่บริการต่าง ๆ คาดว่าจะอยู่ที่ 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยอดขายรวมจากทั้งสองช่องทาง คาดว่าในปี 2024 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบทั่วโลก สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีสัดส่วนยอดขายไวน์จากการซื้อไวน์และนำไปบริโภคที่บ้านสูงสุด โดยในปี 2024 มีมูลค่าอยู่ที่ 5,736 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการซื้อไวน์เฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 16.78 เหรียญสหรัฐฯ

แหล่งผลิต: ไวน์ท้องถิ่น (Domestic Wine) ไวน์ที่ผลิตในสหรัฐฯ จากองุ่นที่ปลูกในประเทศ และ

ไวน์นำเข้า (Imported Wine) ไวน์ที่นำเข้าจากประเทศอื่น เช่น ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, ออสเตรเลีย ฯลฯ

จากข้อมูลของ IWSR กลุ่มไวน์ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในสหรัฐฯ คือ สปาร์คกลิ้งไวน์ Sparkling Wine ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 85 แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประชากรปัจจุบันที่ส่งผลให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ให้ความสนใจใน สปาร์คกลิ้งไวน์ (Sparkling Wine) มากขึ้น แม้ว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไวน์จะมีการชะลอตัวของอัตราการเติบโตของตลาดโดยรวม แต่ตลาดสปาร์คกลิ้งไวน์ในสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยผู้บริโภคยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีความต้องการซื้อสปาร์คกลิ้งไวน์อย่างต่อเนื่อง

จากรายงานของ IWSR ยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยหันมาชื่นชอบสปาร์คกลิ้งไวน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสปาร์คกลิ้งไวน์ที่มีรสชาติสดชื่น หรือสปาร์คกลิ้งไวน์ที่เหมาะสำหรับการดื่มในโอกาสต่างๆ ซึ่งปัจจุบันไวน์สปาร์คกลิ้งได้กลายเป็นเทรนด์ในตลาดสหรัฐฯ อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งทำให้โอกาสในการขยายตัวของสปาร์คกลิ้งไวน์ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาวมีแนวโน้มนิยม สปาร์คกลิ้งไวน์มากขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่นี้ได้เริ่มทดลองและเลือกดื่มไวน์ประเภทนี้บ่อยขึ้น โดยสาเหตุหลักอาจมาจากการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ที่คนกลุ่มนี้มักแสวงหาความหลากหลายในการดื่มและมีความต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคมที่สนับสนุนการดื่มไวน์

ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคทั่วไปก็เริ่มหันมามองหาเครื่องดื่มสไตล์ใหม่ ๆ โดยสปาร์คกลิ้งไวน์ส่วนใหญ่เป็นไวน์ที่มีรสชาติหรือกลิ่นที่มีความแตกต่างออกไป และมักมีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด จึงทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ากำลังสัมผัสกับสิ่งที่สดใหม่และน่าตื่นเต้น ซึ่งการมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เหล่านี้ช่วยผลักดันให้ตลาด สปาร์คกลิ้งไวน์มีแนวโน้มที่จะยังคงเติบโตต่อไป

ตลาดสปาร์คกลิ้งไวน์ยังคงมีแนวโน้มดี

การเติบโตของหมวดสปาร์คกลิ้งไวน์ในสหรัฐฯ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ โดยประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในสหรัฐฯ เลือกบริโภคสปาร์คกลิ้งไวน์ ซึ่งตั้งแต่ปี 2019 ประชากรที่มีอายุ 18 ปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 10 ล้านคน

ระหว่างปี 2017 ถึง 2022 สปาร์คกลิ้งไวน์ มีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 6 ขณะที่ไวน์ประเภทอื่น ๆ กลับมีการลดลงที่ร้อยละ -1 ทำให้สปาร์คกลิ้งไวน์ มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 12 ของตลาดไวน์โดยรวม และคาดว่าสัดส่วนนี้จะยังคงเติบโตต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 มีปริมาณการบริโภคที่ลดลงร้อยละ 3ซึ่งข้อมูลจาก IWSR คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) จะเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1 ระหว่างปี 2022  ถึง 2027

โปรเซกโก (Prosecco) เป็นประเภทหนึ่งของสปาร์คกลิ้งไวน์ (sparkling wine) ซึ่งผลิตจากองุ่น Glera ในประเทศอิตาลี ยังคงรักษาโมเมนตัมได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2023 ยังมียอดขายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้    โปรเซกโกยังมีตัวเลือกหลากหลายตั้งแต่ราคาย่อมเยาจนถึงหรูหรา ทำให้ผู้คนสามารถเลือกดื่มได้ตามงบประมาณ รวมทั้ง โปรเซกโก้ยังได้รับความนิยมจากการใช้ทำค็อกเทล Aperol Spritz

ในทางกลับกัน แชมเปญ (Champagne) เป็นประเภทหนึ่งของสปาร์คกลิ้งไวน์ (sparkling wine) ที่ผลิตเฉพาะในภูมิภาค Champagne ของประเทศฝรั่งเศส แม้ว่าในปีที่ 2021 แชมเปญมียอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากอย่างไรก็ดี แชมเปญกลับกำลังเผชิญกับความท้าทายในช่วงปี 2022 จนถึงปี 2023 ซึ่งคาดว่าการรักษาการเติบโตนั้นอาจเป็นเรื่องยาก

ปัจจุบันผู้บริโภคสปาร์คกลิ้ง มีความนิยมในการดื่มสปาร์คกลิ้งไวน์บ่อยขึ้น โดยร้อยละ 38 ของผู้ดื่มสปาร์คกลิ้งไวน์ ดื่มอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019 ซึ่งมีเพียงร้อยละ 22 เท่านั้นที่ดื่มไวน์สปาร์คกลิ้งน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์

 

อัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

อัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้นได้เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสปาร์คกลิ้งไวน์ sparkling wine โดยไม่ถือว่าเป็นเพียงเครื่องดื่มสำหรับงานแต่งงาน ปาร์ตี้ หรือการเฉลิมฉลองอีกต่อไป แต่สามารถดื่มในโอกาสทั่วไปได้ เช่น ในการพบปะสังสรรค์กับเพื่อนหรือการดื่มที่บ้านในชีวิตประจำวัน

นาย Richard Halstead ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของฝ่ายวิจัยผู้บริโภค (Consumer Research) จาก IWSR กล่าวว่า ผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ชายอายุต่ำกว่า 55 ปี กำลังมีความสนใจในการลองสปาร์คกลิ้งไวน์มากขึ้น โดยเกือบร้อยละ 45 ต้องการลองสปาร์คกลิ้งไวน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แทนที่จะยึดติดกับไวน์ที่เคยรู้จัก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38 ในปี 2019 และขณะเดียวกัน ผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญต่อแบรนด์ลดลง และเปิดใจในการลองไวน์แบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้น พฤติกรรมเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อแบรนด์ที่มีอยู่ในตลาด

 

 

ความสำเร็จของสปาร์คกลิ้งไวน์จากอิตาลี

ในปี 2023 สปาร์คกลิ้งไวน์จากอิตาลีมีบทบาทสำคัญในตลาดสหรัฐฯ โดยผู้บริโภคชาวอเมริกันเป็นร้อยละ 48 สามารถระบุหรือจำชื่อแบรนด์ได้ ซึ่งมากกว่าสปาร์คกลิ้งไวน์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันจำชื่อแบรนด์ได้มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 37 โดยสปาร์คกลิ้งไวน์จากอิตาลีในสหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2017 ถึง 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ10 ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไวน์จากอิตาลีในการเข้าถึงและขยายตลาดในสหรัฐฯ

Prosecco (โปรเซกโก) ยังคงครองส่วนแบ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์ไวน์จากอิตาลีที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาลองสปาร์คกลิ้งไวน์ที่มีรสชาติสดชื่นและราคาย่อมเยา เมื่อเทียบกับสปาร์คกลิ้งไวน์ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีอัตราการบริโภคไวน์โปรเซกโก เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในปี 2019 เป็นร้อยละ 42 ในปี 2023 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งในความนิยมของไวน์ชนิดนี้ ซึ่งทำให้ไวน์โปรเซกโก กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของความสำเร็จของตลาดไวน์อิตาลีในสหรัฐฯ

ตลาดไวน์ไทยในสหรัฐฯ

ตลาดไวน์ไทยในสหรัฐฯ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและมีการเติบโตที่ช้าเมื่อเทียบกับไวน์จากประเทศอื่นๆ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส หรือสเปน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีหลังๆ การรับรู้และความสนใจในไวน์จากเอเชีย รวมถึง ไวน์จากประเทศไทย เริ่มมีการขยายตัวบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือชอบลองสิ่งใหม่ๆ

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของไวน์ไทยในสหรัฐฯ

  1. เอกลักษณ์ของไวน์ไทย ไวน์จากไทยมีลักษณะเฉพาะที่อาจไม่เหมือนกับไวน์จากประเทศยุโรป ไวน์จากจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย หรือจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือของไทยเริ่มได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ยังคงต้องใช้เวลาในการสร้างชื่อเสียงในตลาดต่างประเทศ
  2. การส่งออกและการตลาด การส่งออกไวน์ไทยไปยังสหรัฐฯ ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ การเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถในด้านกลยุทธ์การตลาดและการจัดจำหน่าย ทั้งในเชิงการสร้างเครือข่ายธุรกิจ  และการสร้างแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
  3. ความนิยมของผลิตภัณฑ์จากเอเชีย ไวน์จากประเทศในเอเชียเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เริ่มได้รับความสนใจในตลาดสหรัฐฯ และหากประเทศไทยสามารถยกระดับผลิตภัณฑ์และทำการตลาดได้ดี โดยเฉพาะสปาร์คกลิ้งไวน์ที่ยังมีโอกาสในการขยายตลาด อาจสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้
  4. เทรนด์การบริโภคไวน์ในสหรัฐฯ การที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน รวมทั้ง การเปิดกว้างย้อมรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความแตกต่างจากเดิม อาจเป็นโอกาสสำหรับไวน์จากประเทศไทย โดยเฉพาะไร่องุ่นในไทยที่เน้นการผลิตแบบออร์แกนิก และการใช้วิธีการเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อม

อุปสรรคที่ต้องเผชิญ

ปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาดไวน์ไทยในสหรัฐฯ คือ ความคุ้นเคยของผู้บริโภค ที่ส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับไวน์จากประเทศในยุโรปและออสเตรเลียมากกว่า ทำให้ไวน์จากไทยยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และ ต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สูง ซึ่งอาจทำให้ราคาไวน์จากไทยไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่มีการกำหนดราคาไม่สูง

ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

หากมีการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์ในประเทศไทย รวมถึงการสร้างแบรนด์ที่ชัดเจนและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมทั้งการพัฒนากลยุทธ์การตลาดที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น จะช่วยเปิดโอกาสในการเติบโตของไวน์ไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ในระยะยาว แม้ว่าตลาดไวน์ไทยในสหรัฐฯ ในปัจจุบันยังคงมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับไวน์จากประเทศอื่นๆ เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส หรือสเปน แต่แนวโน้มในการเติบโตยังคงมีความเป็นไปได้หากมีการพัฒนาและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง มีการสร้างการรับรู้ในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น การเข้าถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม และการทำการตลาดที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวของไวน์ไทยในตลาดสหรัฐฯ และทั่วโลกได้ในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิงจาก:

  1. https://www.theiwsr.com/where-next-for-the-us-sparkling-wine-market/
  2. https://www.ohbev.com/blog/us-wine-market-2024—trends-and-opportunities-and-beyond#market-overview
  3. https://www.statista.com/outlook/cmo/alcoholic-drinks/wine/sparkling-wine/united-states

 

สคต. นิวยอร์ก เดือนพฤศจิกายน 2567

thThai