สัปดาห์นี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะมีกำหนดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยการเลือกตั้งดังกล่าวเป็นที่สนใจและจับตามองทั้งสำหรับกลุ่มชาวอเมริกันรวมถึงประเทศทั่วโลกว่าผู้สมัครจากพรรคใดจะได้รับชัยชนะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ระหว่างอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน และรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต เนื่องจากผู้สมัครแต่ละพรรคต่างมีแนวนโนบายในการบริหารประเทศที่แตกต่างกันซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ การเมือง การค้า และการลงทุนทั้งในสหรัฐฯ เองรวมถึงประเทศคู่ค้าในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
ทั้งนี้ สามารถพิจารณาเปรียบเทียบนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในอนาคตได้ ดังนี้
1. นโยบายการค้าและภาษีนำเข้า
แฮร์ริส: เสนอแผนดำเนินนโนบายตามรัฐบาลก่อนหน้านี้ในการตอบโต้ทางการค้าจีนด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรายการเดิมรวมถึงกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่งประกาศเพิ่มในช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในกรณีความขัดแย้งกับประเทศคู่ค้าในกลุ่มสินค้าเหล็กและเครื่องบินพาณิชย์ อีกทั้ง ยังไม่ให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าแบบดั้งเดิม (Traditional Trade Deals) กับประเทศคู่ค้ามากนัก นอกจากนี้ ยังจะใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าในรูปของภาษีนำเข้าเพื่อสนับสนุนการจ้างงานสำหรับแรงงานชาวอเมริกันอีกด้วย
ทรัมป์: มีนโยบายกดดันการค้าระหว่างประเทศกับจีนที่เข้มข้นมากขึ้นต่อเนื่องจากสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเสนอให้สหรัฐฯ เพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นอัตราร้อยละ 60 และสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นในอัตราร้อยละ 10 – 20 อีกทั้ง ยังสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศเป็นระบบต่างตอบแทน (Reciprocity) โดยให้ใช้อัตราภาษีระดับเดียวกันกับที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังเสนอให้ถอดถอนสถานะการค้าปกติ (Permanent Normal Trade Relations หรือ PNTR) กับจีน ซึ่งสถานะดังกล่าวเป็นประโยชน์สำหรับจีนในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) อย่างไรก็ตาม การพิจารณาถอดถอนดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่ออัตราภาษีนำเข้าสินค้าเป็นการถาวร
2. นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม
แฮร์ริส: มีนโยบายให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม น้ำ และอากาศ ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (The Climate Crisis) นอกจากนี้ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดียังได้มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาผ่านร่างรัฐบัญญัติ The Inflation Reduction Act (IRA) ซึ่งสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และลดการใช้พลังงานฟอสซิลเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในรูปของเงินทุน เงินกู้ยืม และภาษีส่วนลด อีกทั้ง ยังเคยมีนโยบายคัดค้านการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซปิโตเลียมด้วยวิธีการ Fracking ที่ส่งผลกระทบทำให้ชั้นหินแตกตัวซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
ทรัมป์: เชื่อว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหลอกลวง โดยเสนอให้ยกเลิกการให้ภาษีส่วนลดสำหรับการซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และยกเลิกรัฐบัญญัติ IRA ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เช่น โรงงานไฟฟ้าจากพลังงานลม โรงงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงงานผลิตแบตเตอรี (สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า) เป็นต้น รวมถึงยกเลิกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหินในโรงงานผลิตพลังงาน การปล่อยก๊าซของเสียรถยนต์ และการปล่อยก๊าซมีเทนในอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียม เป็นต้น
3. นโยบายความสัมพันธ์จีน
แฮรริส: มีนโยบายสานต่อรัฐบาลปัจจุบันในการเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในเขตแปซิฟิกเพื่อคานอำนาจจีน และมีนโยบายสนับสนุนไต้หวันในการปกป้องอธิปไตยต่อกรณีการรุกรานของจีน
ทรัมป์: ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนทั้งด้านการค้าและการทหาร โดยเสนอเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราสูงเพื่อลดมูลค่าการขาดดุลการค้าจีน นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะแต่งตั้ง Mr. Robert Lighthizer ให้กลับมาดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวนโยบายในการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน ระงับการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ และห้ามใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์จีน เพื่อลดมูลค่าการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีน
4. นโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯ
แฮร์ริส: ไม่มีนโยบายแทรกแซงนโยบายรวมถึงการแต่งตั้งประธานธนาคากลางสหรัฐฯ (Federal Reserve Bank หรือ FED) โดยสนับสนุนการควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยกลยุทธ์การควบคุมราคาสินค้าเนื่องจากเห็นว่าปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากความโลภของกลุ่มธุรกิจในช่วงที่เกิดปัญหาการแพร่ระบาด
ทรัมป์: ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินนโนบายด้านอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ ปัจจุบัน และเห็นว่ามีมาตรการอื่นที่สามารถเลือกใช้เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อในตลาดได้
5. นโยบายภาษีธุรกิจ
แฮรริส: มีนโยบายปรับอัตราภาษีธุรกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 28 และเพิ่มภาษีรายได้ธุรกิจที่มีแหล่งรายได้จากต่างประเทศ อีกทั้ง ยังมีแผนปรับเพิ่มอัตราภาษีทางเลือกขั้นต่ำสำหรับธุรกิจ (Corporate Alternative Minimum Tax หรือ CAMT) สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่รายได้เกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐติดต่อกันอย่างน้อยสามปีจากอัตราร้อยละ 15 เป็นอัตราร้อยละ 21 นอกจากนี้ ยังเสนอปรับเพิ่มอัตราภาษีซื้อคืนหุ้นจากเดิมร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 4 และกำหนดเพดานการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารบริษัทด้วย
ทรัมป์: มีนโยบายปรับลดอัตราภาษีธุรกิจลงระหว่างร้อยละ 15 – 20 จากเดิมอัตราร้อยละ 21 ที่ได้ปรับลดจากร้อยละ 34 ในสมัยที่เคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการใช้จ่ายตามรัฐบัญญัติ IRA ในกลุ่มสินค้ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าและกลุ่มพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายภาษีเงินได้บุคคลของสองผู้ท้าชิงมีแนวทางที่คล้ายคลึงกัน โดยเน้นการปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลและปรับเพิ่มส่วนลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีบุตร อย่างไรก็ตาม นางแฮรริสมีนโยบายปรับเพิ่มอัตราภาษีสำหรับกำไรส่วนต่างจากการขายสินทรัพย์ (Capital Gain Tax หรือ CGT) จากเดิมอัตราร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 28
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากทั้งสองพรรคมีแนวนโยบายในการบริหารประเทศที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นด้านนโยบายภาษี นโยบายด้านการค้าและภาษี นโยบายความสัมพันธ์จีน และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นผู้ใดย่อมจะส่งผลต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออกที่สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศคู่ค้าที่นำเข้าจากไทยมากที่สุด โดยในระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2567 สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่าสูงถึง 4.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮรริสเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทิศทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยและสหรัฐฯ น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักกล่าว คือ สหรัฐฯ ยังคงมีนโยบายเรียกเก็บภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มความสามารถในการเข่งขันในตลาด รวมถึงโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์และยางรถยนต์ของผู้ประกอบการไทยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้จากปัจจัยด้านอัตราภาษีที่ปรับตัวลดลง รวมถึงปัจจัยด้านนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล อีกทั้ง ยังน่าจะเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสินค้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น สินค้ากลุ่มแผงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้กลับมาดำเนินมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การหลีกเลี่ยงภาษีทุ่มตลาด (Anti-Circumvention Duty) สินค้าดังกล่าวที่นำเข้าจากไทยเมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ นโยบายการปรับเพิ่มภาษีธุรกิจอาจจะส่งผลทำให้กลุ่มผู้ประกอบการในสหรัฐฯ พิจารณาปรับลดงบประมาณการลงทุนเพื่อชดเชยมูลค่าภาษีที่เพิ่มขึ้นจึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการบริโภคในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม หากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับชัยชนะเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้ว่านโยบายการตอบโต้ทางการค้าจีนจะเข้มข้นมากขึ้น แต่ไทยซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเกินดุลสหรัฐฯ สูงก็อาจจะเป็นเป้าหมายในการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ได้ในอนาคต ดังที่สหรัฐฯ ได้เคยดำเนินมาตรการกดดันไทย โดยไทยเคยเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศที่สหรัฐฯ เปิดการไต่ส่วนประเด็นการค้าเกินดุลสหรัฐฯ สูง รวมถึงเคยถูกระงับสิทธิ์ GSP สินค้าไทยทั้งสิ้น 573 รายการในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนี้ นโยบายการไม่สนันสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและการรักษาสิ่งแวดล้อมยังอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทยได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านเศรษฐกิจในการปรับลดภาษีบุคคลและธุรกิจ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในตลาด แม้ว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง การดำเนินมาตรการตอบโต้การค้าจีนที่รุนแรงควบคู่กันอาจจะส่งผลทำให้ราคาสินค้าและบริการในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงและอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งอาจจะลุกลามไปถึงขั้นก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในอนาคต
แหล่งที่มา: How Trump and Harris Compare on Key Policy Issues
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก