โปรตีนหมักกำลังกลายเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 สิงคโปร์จึงทุ่มทรัพยากรเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยี Precision Fermentation มากขึ้น
กระบวนการหมักแบบดั้งเดิมมีมานานแล้ว แต่เทคโนโลยีการหมักแบบใหม่สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ 1) Biomass Fermentation เป็นกระบวนการทางชีวภาพที่ใช้จุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ยีสต์ หรือเชื้อราเพื่อเพิ่มปริมาณเซลล์ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแหล่งโปรตีนหรือสารอาหารได้ โดยปกติบริษัทสตาร์ทอัพกลุ่มนี้จะได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวนมาก และ 2) Precision Fermentation เป็นกระบวนการทางชีววิทยาที่ปรับแต่งจุลินทรีย์ เช่น ยีสต์ แบคทีเรีย เพื่อผลิตสารประกอบเฉพาะที่ต้องการ โดยผ่านการปรับแต่งทางพันธุกรรมของจุลินทรีย์เหล่านี้ เพื่อสร้างโปรตีนหรือสารที่เหมือนกับสิ่งที่พบในธรรมชาติ กระบวนการนี้มีการควบคุมอย่างแม่นยำเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ทั้งสองกระบวนการนี้ต่างเป็นวิธีการผลิตโปรตีนและส่วนผสมอาหารอื่น ๆ ที่ยั่งยืนมากขึ้น
จากรายงานของสถาบันวิจัยโปรตีนทางเลือก Good Food Institute (GFI) ระบุว่า ตลอดปี 2566 บริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีการหมักได้รับเงินลงทุน 443 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทเหล่านี้ได้รับเงินลงทุนไปถึง 398 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่เทคโนโลยีเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง และโปรตีนจากพืชได้รับเงินลงทุนอยู่ที่ 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 138 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนทั่วโลกในสตาร์ทอัพด้าน Precision Fermentation ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเกือบจะเท่ากับเงินทุนทั้งหมดที่จัดสรรให้กับบริษัทการหมักชีวมวลในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีมูลค่า 103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ขนาดตลาดโดยรวมสำหรับเทคโนโลยีการหมักทั้งสองประเภทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น สิงคโปร์ ยังคงมีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับยุโรปและสหรัฐอเมริกา
Mirte Gosker กรรมการผู้จัดการ GFI Asia-Pacific (APAC) กล่าวว่า บริษัทเทคโนโลยีการหมักเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการขยายการผลิตและต้องการเงินทุนมากขึ้นเพื่อดำเนินการ เมื่อเทียบกับบริษัทโปรตีนจากพืชที่อยู่ในตลาดนานกว่า บริษัทข้ามชาติ เช่น Unilever และ Danone ก็กำลังมองหาช่องทางในการเข้าสู่ Precision Fermentation เช่นกัน โดยบริษัทเหล่านี้จะจัดสรรทรัพยากรด้านการวิจัยและพัฒนาจำนวนมาก หากเทคโนโลยีอาหารนี้มีศักยภาพในการปรับขยายได้สูง
เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 การเปิดตัวศูนย์ Bezos Centre for Sustainable Protein ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุน 39 ล้านเหรียญสิงคโปร์จาก Bezos Earth Fund ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จะเข้ามาช่วยในการศึกษาปรับปรุงรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการในส่วนผสมอาหารในเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงและเนื้อสัตว์จากพืช เพื่อสามารถนำผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มนี้จำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์
ในเดือนมิถุนายน 2567 มูลนิธิวิจัยแห่งชาติสิงคโปร์ (The National Research Foundation : NRF) ได้อัดฉีดเงินประมาณ 14.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่ศูนย์ Precision Fermentation and Sustainability แห่งใหม่ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตแบบ Precision Fermentation และเพิ่มขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค ศาสตราจารย์ Subodh Mhaisalkar ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยวิชาการของ NRF กล่าวว่า การวิจัยจะช่วยเพิ่มกลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถด้าน Precision Fermentation และทำให้สิงคโปร์สามารถควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความต้องการของอาหารกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับความมั่นคงทางอาหารของโลก
สตาร์ทอัพเทคโนโลยีการหมักที่ได้รับอนุญาตจากการกำกับดูแลของสำนักอาหารสิงคโปร์ (Singapore Food Agency :SFA) ได้ให้ความสำคัญในการเปิดตัวสินค้ากลุ่มนี้กับตลาดต่างประเทศก่อน เช่น บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสิงคโปร์ TurtleTree ซึ่งดำเนินกิจการในสิงคโปร์และสหรัฐฯ กำลังให้ความสำคัญกับตลาดสหรัฐฯ เพื่อนำแลคโตเฟอร์รินซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่พบในน้ำนมแม่ที่ผลิตโดยใช้กระบวนการ Precision Fermentation ออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ หรือบริษัทหมักเบียร์ของเนเธอร์แลนด์ The Protein Brewery ที่ได้รับการอนุมัติจาก SFA ให้จำหน่ายส่วนผสมโปรตีนจากเชื้อราในสิงคโปร์ในเดือนมีนาคม 2567 ยังให้ความสำคัญกับการขยายกิจการเพิ่มเติมในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปอีกด้วย
Yip Hon Mun นักลงทุนด้านเทคโนโลยีอาหาร กล่าวว่า บริษัทต่างๆ มักสนใจสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยของสิงคโปร์มาโดยตลอด แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงการเติบโตขั้นต่อไป บริษัทจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น ขนาดตลาดที่เล็กลง กำลังการผลิตที่จำกัด และระบบนิเวศที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่
บริษัทผลิตโปรตีนจากนมที่ปราศจากสัตว์ Perfect Day ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ในด้าน Precision Fermentation ได้ยุติการดำเนินธุรกิจในสิงคโปร์ในช่วงปลายปี 2566 และหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นม Very Dairy และไอศกรีม Coolhaus ที่ทำจากโปรตีนเวย์หมักในซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567
บริษัทสหรัฐฯ Nature’s Fynd ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นม เช่น โยเกิร์ตและครีมชีส ที่ปราศจากนม โดยใช้โปรตีนจากเชื้อราที่ผ่านการหมัก มีแผนจะเปิดโรงงานผลิตในสิงคโปร์ภายในปี 2565 หรือ 2566 หลังจากได้รับการอนุมัติจาก SFA แต่ในขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลความคืบหน้าใด
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
Precision Fermentation เป็นหนึ่งในเทคโนโลยี ซึ่งกำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารโลก เทคโนโลยีนี้สามารถตอบสนองความต้องการด้านความมั่นคงทางอาหาร และสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดในหลายประเทศ ส่งผลให้สิงคโปร์ได้ลงทุนด้านวิจัยเพื่อพัฒนาและส่งเสริม Precision Fermentation เพื่อขับเคลื่อนตลาดผลิตภัณฑ์ทางเลือกอย่างยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นทรัพยากรสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐด้านนโยบายและนวัตกรรม โดยไทยสามารถใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และการพัฒนาเทคโนโลยี Precision Fermentation เพื่อที่จะขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ทางเลือกไปยังกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคสนใจด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ :
https://www.straitstimes.com/singapore/st-explains-different-types-of-fermentation-tech-and-their-nutritional-benefits
https://www.straitstimes.com/singapore/s-pore-research-institutes-pump-resources-into-fermentation-tech-amid-surge-in-global-interest