ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นภัยคุกคามผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ ซึ่งมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากมาย ด้วยเหตุนี้เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกจึงพยายามหาทางออกในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังคุกคามสุขภาพของชาวเมือง การใช้รถยนต์เป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 และควันพิษที่สำคัญ โดยเฉพาะรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่มีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา กรุงวอร์ซอเริ่มนำร่องใช้มาตรการจำกัดรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศบริเวณใจกลางเมือง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบทางลบของการระบายไอเสียของรถยนต์ต่อสุขภาพของประชาชนและบรรยากาศภายในเมือง ซึ่งทางการโปแลนด์หวังว่า จะช่วยลดมลพิษทางอากาศ ทั้งในส่วนของไนโตรเจนไดออกไซด์ และ PM ลงไปได้ หากดำเนินการเป็นไปตามแผนอย่างจริงจัง โปแลนด์จะสามารถลดไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ลงไปถึงร้อยละ 80 และลดฝุ่น PM ลงไปได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2575
เขตควบคุมคุณภาพอากาศ หรือ Clean Transport Zone (Strefa Czystego Transportu : SCT) ครอบคลุมพื้นที่ชั้นในเพียง 37 ตารางกิโลเมตร หรือราว 7% ของพื้นที่กรุงวอร์ซอโดยรวม โดยรถยนต์เบนซินรุ่นเก่าอายุเกิน 27 ปี หรือรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 18 ปี ที่ได้ชื่อว่าก่อมลพิษมากที่สุด เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จะถูกห้ามขับเข้าไปในเขตควบคุม ขณะที่รถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์ EV ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะสามารถสัญจรได้เสรี
ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อคิดเห็นของสคต.
การส่งเสริมการท่องเที่ยวมีส่วนทำให้ความหนาแน่นของการจราจรภายในเมืองหลักเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มลพิษทางอากาศจากการจราจรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย หากสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานก็จะกระทบต่อสุขภาพของชุมชนในเมือง เกิดภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพจำนวนมหาศาลในแต่ละปี สหภาพยุโรปจึงทยอยออกกฎระเบียบและมาตรการสําคัญๆ ที่เกี่ยวกับการปกป้องและคุ้มครองสุขอนามัยของประชาชนพลเมืองอย่างต่อเนื่อง และจะทวีความเข้มข้นขึ้นไปจนถึงการห้ามใช้รถยนต์สันดาปในสหภาพยุโรปภายในปี 2578 (2035)
ที่มา: Poland Weekly + July-August 2024