สตท. ณ เมืองฮิโรชิมา
กว่า 10 ปีที่ผ่านมาไอศกรีมในญี่ปุ่นเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มการจำหน่ายขยายตัวอย่างโดดเด่น ในปัจจุบันตลาดไอศกรีมในญี่ปุ่นก็ยังแสดงแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ในปีงบประมาณ 2023 ของญี่ปุ่น (เมย.23–มีค.24) การจำหน่ายสินค้าประเภทไอศกรีมในญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่ารวม 6.08 แสนล้านเยน (1.7 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งมีมูลค่า 5.53 แสนล้านเยน คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 9.9
สถานะการจำหน่ายไอศกรีมในญี่ปุ่นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) จากสถิติอุณหภูมิในประเทศญี่ปุ่น พบว่าในช่วงระยะ 100 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโดยเฉลี่ยในญี่ปุ่นได้เพิ่มสูงขึ้น 1.35 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมาพบว่าปีที่มีอากาศร้อนจัดในญี่ปุ่นมีบ่อยครั้งขึ้น ในปี 2023 อุณหภูมิโดยเฉลี่ยได้เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณภาคเหนือ ตะวันออกและตะวันตก มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้แต่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็มีฝนน้อย มีวันอากาศแจ่มใสมากอย่างไม่เคยเป็นมา จึงส่งผลให้ในปี 2023 สินค้าไอศกรีมจำหน่ายได้ดียิ่งทำลายสถิติยอดการจำหน่ายที่ผ่านมา อีกทั้งเนื่องจากในปีดังกล่าว ราคาวัตถุดิบ การขนส่ง ค่าแรงงาน ฯลฯ ได้ขยับสูงขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้ผู้ค้าจำต้องมีการปรับราคาสินค้าถึงสองครั้งในช่วงปี ดังนั้น จึงส่งผลให้ตัวเลขมูลค่าการจำหน่ายเพิ่มขึ้นสูงสุดในประวัติการณ์ นอกจากนั้น ผู้ผลิตไอศกรีมแต่ละรายในญี่ปุ่นได้ใช้กลยุทธ์ในการมุ่งลงทุนหรือปรับปรุงเครื่องจักรอุปกรณ์และสินค้าตัวชูโรงของบริษัท ในขณะเดียวกันก็พัฒนาสินค้าใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อยกระดับคุณค่าของไอศกรีมให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าการบริโภคไอศกรีมให้ความสุขและเป็นความฟุ่มเฟือยเล็กๆน้อยที่ให้กับตนเอง สิ่งเหล่านี้ได้ช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ในช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการจำหน่ายในปี 2004 ซึ่งอยู่ในระดับ 3.54 แสนล้านเยน (ราว 1 แสนล้านบาท) กับมูลค่าจำหน่ายในปี 2023 ปรากฏว่าได้เพิ่มขึ้นถึง 2.54 แสนล้านเยน (ราว 7.1 หมื่นล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 71.7 นอกจากนั้น ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการจำหน่ายไอศกรีมมีอัตราขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.9 ต่อปี ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายมีอัตราการขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่า คือโดยเฉลี่ยร้อยละ 0.9 แสดงให้เห็นว่าราคาต่อหน่วยของสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะในปี 2023
บริษัท Report Ocean ได้ประมาณการตลาดไอศกรีมของญี่ปุ่นว่า ในระหว่างปี 2023-2032 จะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.96 ต่อปี จึงกล่าวได้ว่าเป็นตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวที่คาดหวังได้ในระยะยาวด้วย
พฤติกรรมผู้บริโภคเกี่ยวกับไอศกรีม
สมาคมไอศกรีมแห่งญี่ปุ่น มีการสำรวจความเห็นผู้บริโภคเกี่ยวกับไอศกรีมเป็นประจำทุกปี โดยแสดงผลที่น่าสนใจดังนี้
1.การใช้จ่ายสำหรับไอศกรีมต่อปี ในปี 2023 (ตาราง 1) โดยเฉลี่ย คือ 11,580 เยน (ประมาณ 3,300 บาท)ต่อคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ของค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารโดยรวม และจะเห็นได้ว่า ทั้งยอดรายจ่ายสำหรับไอศครีมและสัดส่วนของไอศครีมในค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2014
2.ผู้บริโภคที่คิดว่าไอศกรีมเป็นขนมหวานที่นิยมมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งมีร้อยละ 48 และผู้ที่คิดว่าเป็นหนึ่งในสามอันดับแรกของขนมหวานที่นิยมมีถึงร้อยละ 82
3.ผู้ที่ซื้อไอศกรีมบริโภคเองเกินกว่าหนึ่งครั้งในสัปดาห์มีร้อยละ 1 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริโภค และที่บริโภคแทบทุกวันมีร้อยละ 7.8
4.เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในปี 2023 มีผู้ที่คิดว่าซื้อไอศกรีมเพิ่มขึ้น มีร้อยละ 4 คิดว่าซื้อน้อยลง ร้อยละ 11.3 และผู้ที่คิดว่าซื้อไม่ได้ต่างกับปีก่อนหน้า
5.ผู้ที่ซื้อไอศกรีมเก็บตุนไว้ที่บ้านมีร้อยละ 8 หรือประมาณ 1 คนใน 3 คน ถ้ารวมผู้ที่ซื้อตุนไว้แล้วแต่ฤดูกาล และผู้ที่ซื้อตุนไว้เป็นบางครั้ง มีถึงร้อยละ 86.3
6.เหตุผลที่รับประทานไอศกรีม ร้อยละ 2 ตอบว่าเพื่อความอร่อยและเพลิดเพลิน ร้อยละ 39.5 ตอบว่าเพื่อความสุข นอกนั้นมีคำตอบเช่น เพื่อตอบแทนความขยันของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อให้มีพลังทำสิ่งต่างๆ
7.ผู้ทีคิดว่าไอศกรีมมีคุณค่าเกินกว่าราคาที่จ่ายมีถึงร้อยละ 83 ในขณะที่ผู้ที่คิดว่ามีคุณค่าไม่สมกับราคามีเพียงร้อยละ 6
8.สำหรับข่าวสารเกี่ยวกับไอศกรีม ผู้บริโภคร้อยละ 4 ได้รับผ่านการโฆษณาทางโทรทัศน์ ร้อยละ 38.1 จากการที่ได้เห็นสินค้าในร้าน และอีกร้อยละ 20.7 ผ่านช่องทาง SNS (เครือข่ายโซเชียล) โดยเฉพาะผู้บริโภคในวัย 10-30 ปี ได้รับข่าวสารผ่าน SNS ถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ผู้บริโภคที่อายุสูงกว่า 40 ได้รับข่าวสารจากร้านค้าเป็นส่วนใหญ่
9.เวลาที่เลือกซื้อไอศกรีม ร้อยละ 9 ของผู้บริโภคจะเลือกแบรนด์ที่เคยซื้อประจำ และหากรวมกลุ่มที่มักจะซื้อ แบรนด์ประจำ มีถึงเกือบร้อยละ 80 มีเพียงร้อยละ 20 ที่ลองซื้อไอศกรีมแบรนด์อื่นๆ
10.เวลาที่ซื้อไอศกรีมที่ร้านค้าหรือร้านสะดวกซื้อ ผู้บริโภคร้อยละ 4 เลือกที่รสชาติเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ แบรนด์หรือสินค้าที่ชอบ และ ดีไซน์ของบรรจุภัณฑ์ที่ดูแล้วเป็นไอศกรีมอร่อย ตามลำดับ
11.เวลาซื้อไอศกรีม ผู้บริโภคร้อยละ 8 หรือเกือบครึ่งจะดูป้ายราคาก่อนเสมอ หากรวมกลุ่มที่มักจะดูป้ายราคา มีเป็นร้อยละ 80.6 โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงและระดับอายุ 40-50 ปี ที่มีสัดส่วนสูง ซึ่งแสดงว่าผู้บริโภคให้ความใส่ใจกับราคาด้วย
12.สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากนี้ว่าต้องการไอศกรีมแบบใด เกือบร้อยละ 30 ของผู้บริโภคต้องการไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ ตามด้วย ไอศกรีมแคลลอรี่/น้ำตาลต่ำ ไอศกรีมที่จำหน่ายพิเศษเฉพาะพื้นที่หรือช่วงเวลา และไอศกรีมแบบโบราณที่เรียบง่าย สำหรับกลุ่มผู้บริโภคหญิง สัดส่วนของผู้ที่ต้องการไอศกรีมแคลลอรี่/น้ำตาลต่ำมีมากกว่าในกลุ่มผู้บริโภคชาย ในขณะทีกลุ่มผู้บริโภคชายมีสัดส่วนมากกว่ากลุ่มผู้บริโภคหญิง ในเรื่องของความต้องการไอศกรีมที่มีขนาดใหญ่ตอบสนองความรู้สึกตอนอยากกินมากๆ ไอศกรีมที่มีวิตามินหรือสารบำรุงร่างกาย ไอศกรีมที่เข้ากับสุรา
การพัฒนาสินค้าไอศกรีมในตลาดญี่ปุ่น
ดังที่กล่าวข้างต้น สภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลอย่างมากต่อการบริโภคไอศกรีมในตลาดญี่ปุ่น แต่ก็มิใช่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ตลาดไอศกรีมขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน การพัฒนาสินค้าและเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าโดยบริษัทผู้ผลิตไอศกรีมของญี่ปุ่นก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญของการขยายตัวด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น การทำการตลาดโดยผ่านทาง SNS (เครือข่ายโซเชียล) ก็เป็นตัวช่วยที่สำคัญ ด้วยปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้แม้ว่าไอศกรีมจะไม่ได้เป็นสินค้าอาหารจำเป็น แต่ปรากฏว่าผู้บริโภคญี่ปุ่นมิได้ชะลอการบริโภคแม้ในช่วงที่ราคาสินค้าอาหารโดยรวมในญี่ปุ่นจะสูงขึ้นก็ตาม การพัฒนาสินค้าไอศกรีมที่มีมูลค่าเพิ่มในญี่ปุ่น ปัจจุบันมักมุ่งเป้าสำหรับผู้บริโภคซึ่งมีแนวโน้มให้ความใส่ใจกับสุขภาพกันมากยิ่งขึ้นและผู้บริโภคที่มีความตระหนักเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม ตัวอย่าง เช่น
บริษัท Your Meal (https://yourmeal.jp/) ผู้ผลิตสินค้าอาหารกล่องปรุงสดเพื่อสุขภาพ ได้ออกวางจำหน่าย “Mona-Oh x Muscle Deli Vanilla” ซึ่งเป็นขนมหวานใส่ไส้ไอศกรีมวานิลา โดยเป็นสินค้าที่ร่วมกันพัฒนากับบริษัท Lotte ผู้ผลิตสินค้าไอศกรีมยอดนิยม Monaka Ice โดยเป็นสินค้าใหม่ที่เปลี่ยนแนวความคิดดั้งเดิมที่ว่าไอศกรีมทำให้อ้วน ด้วยการนำเสนอการกินไอศกรีมหลังการออกกำลังกาย บริษัทฯ ได้เพิ่มปริมาณโปรตีนในทุกส่วนผสมของวัตถุดิบทำให้ผู้บริโภคได้รับปริมาณโปรตีน 10 กรัมต่อหนึ่งชิ้นการบริโภค จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ บริษัทฯ ได้ใช้เวลาถึง 2 ปีเต็มในการวิจัยพัฒนาสินค้าดังกล่าว เพื่อลดกลิ่นเฉพาะของโปรตีนในซ็อสโปรตีนนม(Milk Protein)ที่ใส่อยู่ในไอศกรีม ทำให้สามารถคงรสชาติและกลิ่นหอมหวานแบบดั้งเดิมของ Monaka Iceได้
บริษัท Glico Co.,Ltd (https://www.glico.com/jp/) ผู้ผลิตไอศกรีมรายใหญ่ของญี่ปุ่น ได้ผลิตไอศกรีมที่ดีต่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ SUNAO ซึ่งลดระดับความหวานเหลือเพียง 9.9 กรัม แต่ยังให้ความหวานอร่อยเช่นเดียวกับไอศกรีมปกติ และยังมีส่วนผสมและรสชาติต่างๆหลากหลายให้เลือก เช่น สตอเบอรี่และราสเบอรี่เหล้ารัมผสมลูกเกด (Ram Raisin) ถั่วแมคาเดเมียและอัลมอนด์ เป็นต้น
บริษัท Yotsuba Milk Products Co.,Ltd (https://www.yotsuba.co.jp/) ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัด ฮอกไกโด ผลิตไอศกรีมระดับพรีเมี่ยม “Hokkaido Ice Cream” ซึ่งใช้วัตถุดิบเกรดพรีเมียม และได้วางจำหน่ายสินค้าใหม่ “Hokkaido Ice Cream Dolce”ที่มีความหวานมันของครีมนม มีรสชาติต่างๆ ได้แก่ รสถั่วพิสตาซิโอคั่วผสมราสเบอรี่ รสสตอเบอรี่และแรร์ชีส” (Rare-cheese) และรสกาแฟลาเต้ซึ่งผสมกาแฟเอสเพรสโซ โดยมุ่งเป้ากลุ่มผู้บริโภคผู้ใหญ่
บรรจุภัณฑ์ของไอศกรีม ก็ได้มีการพัฒนาโดยใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัท Glico Co., Ltd มีการตั้งเป้าหมายการใช้วัสดุสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่เป็น Sustainable Packaging ซึ่งตั้งเป้าในปี 2030 ว่าจะลดการใช้วัสดุพลาสติกลงร้อยละ 25 จากปี 2024 และใช้วัสดุที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% แทน รวมทั้งใช้วัสดุกระดาษทั้งหมดจากป่าไม้ที่ได้รับการรับรอง จากนั้นในปี 2050 บรรจุภัณฑ์ของสินค้าทั้งหมดของบริษัทจะใช้วัสดุรีไซเคิลได้ 100%
การนำเข้าไอศกรีมของญี่ปุ่น
ในปี 2023 ญี่ปุ่นนำเข้าไอศกรีมทั้งสิ้นเป็นมูลค่า 28.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (970.4 ล้านบาท) ปริมาณ 6,864 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.05 และ 3.06 ตามลำดับ ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าใหญ่ที่สุดยังคงเป็น นิวซีแลนด์ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 55.3 และ 66.0 ของมูลค่าและปริมาณนำเข้าทั้งสิ้น รองลงมาในด้านมูลค่าคือ อิตาลี มีสัดส่วนร้อยละ 18.9 ในขณะที่ในด้านปริมาณอยู่ในอันดับสาม สัดส่วนร้อยละ 10.0 การนำเข้าอันดับสามในด้านมูลค่าคือ เบลเยี่ยม(ร้อยละ 9.1) แต่เป็นอันดับสองในด้านปริมาณ (ร้อยละ 11.2) อันดับที่สี่ ได้แก่ เกาหลีใต้ (ร้อยละ 8.4 และ 6.3 ของมูลค่าและปริมาณนำเข้ารวมตามลำดับ) อันดับที่ห้าในด้านมูลค่า คือ ฝรั่งเศส (ร้อยละ 2.6)แต่เป็นอันดับ 7 ในด้านปริมาณ (ร้อยละ 1.1)
สำหรับการนำเข้าจากไทย ในปี 2023 อยู่ในอันดับ 10 ทั้งด้านมูลค่าและปริมาณ โดยมีมูลค่า 5.5 หมื่นเหรียญฯ (ประมาณ 1.9 ล้านบาท) ปริมาณ 4.1 ตัน ทั้งนี้ อันดับของไทยได้ค่อยๆขยับขึ้นเรื่อยมาตามลำดับจากประมาณอันดับที่ 14 เมื่อปี 2019 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงสามปีทีผ่านมาทั้งมูลค่าและปริมาณได้ลดลงเรื่อยมา โดยในปี 2023 ได้ลดลงจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 9.7 ในด้านมูลค่าและร้อยละ 36.5 ในด้านปริมาณ
บทสรุปและข้อคิดเห็น
ตลาดสินค้าไอศกรีมในญี่ปุ่น ยังคงเป็นตลาดที่มีแนวโน้มดี เนื่องจากการขยายตัวของความต้องการโดยผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้ว่าไอศกรีมเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคยังคงต้องการบริโภค แม้ว่ามักจะคำนึงถึงราคาก่อนซื้อหรือจะมีการผันแปรของราคาก็ตาม เนื่องจากการได้รับความสุขจากการบริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อน และในปัจจุบันก็เริ่มมีความนิยมบริโภคในช่วงฤดูหนาวอีกด้วย จากผลสำรวจความเห็นผู้บริโภคแสดงให้ทราบถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในญี่ปุ่นว่า แม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะซื้อไอศกรีมที่ซื้ออยู่เป็นประจำ แต่ก็มีความต้องการไอศกรีมรสชาติใหม่ๆ และไอศกรีมที่ดีต่อสุขภาพ ในด้านผู้ผลิตไอศกรีมในญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้ามาอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค โดยการผลิตจำหน่ายสินค้าใหม่ๆ และมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสุขภาพซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเลือกคัดสรรวัตถุดิบที่มีประโยชน์ ลดไขมันและความหวาน ซึ่งเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย
ไอศกรีมของไทยก็ยังมีโอกาสในการขยายตลาดในญี่ปุ่นได้ โดยผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจำต้องพัฒนาสินค้าที่มีความแปลกใหม่ เช่น ในด้านรสชาติและใช้วัตถุดิบที่เน้นด้านสุขภาพเป็นสำคัญ นอกจากนั้นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จะช่วยเพิ่มความสนใจของผู้บริโภคญี่ปุ่น ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นสินค้าประเภทอาหาร จึงต้องให้ความระวังด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามกฎระเบียบของญี่ปุ่น นอกจากนั้น อาจใช้สื่อโฆษณาผ่านเครือข่ายโซเชียลเพื่อมุ่งกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภควัยรุ่น ในการแนะนำสินค้าไอศกรีมของไทยซึ่งอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดญี่ปุ่น หรืออาจอาศัยนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกับการมาเยือนไทยเป็นตัวช่วยในการกระจายข่าวสารผ่านเครือข่ายโซเชียล
กันยายน 2567
………………………………………………………..
ที่มาข้อมูล
1.เวปไซต์ของ Japan Ice Cream Association (https://www.icecream.or.jp/)
2.รายงานเรื่อง “Special Edition on Ice Cream : High increase to 600 Billion Yen” (アイスクリーム特集:6000億円市場へ意気軒高 ) โดย Japan Food Journal 25 มีค. 2024 (https://news.nissyoku.co.jp/news/ozawa20240317093946434)
3.รายงานเรื่อง “Reaching over 600 billion Yen for the first time, increasing ice cream consumption of ice cream expanded in hot weather” (初の6,000億円超え、猛暑に伸びるアイスクリーム(2024年)) โดย J-Marketing Net 5 กค. 2024 (https://www.jmrlsi.co.jp/trend/data/03-foods/03-55.html)
4.รายงานเรื่อง “Ice cream market reached the record high for three years consecutively. Even the increase of price, the sales volume is higher than previous year” (アイスクリーム市場3年連続で過去最高更新、過去最高更新、値上げ後も販売 物量は前年上回る ) โดย Shokuhin Sangyou Shinbunsha Co., Ltd. 9 มิย. 2023 (https://www.ssnp.co.jp/milk/512656/)
5.รายงานเรื่อง “Ice cream market, the adjustment of prices and the record-high hot temperature has pushed the market increase to the highest level in 23 years” (アイスクリーム市場、価格改定と記録的な猛暑で23年は過去最高を更新 โดย Diamond chain store online 9 กค. 2024 (https://diamond-rm.net/sales-promotion/product-strategy/489170/