ปัจจุบันอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของเยอรมนีมูลค่าทางธุรกิจสูงถึง 46,000 ล้านยูโร กำลังประสบการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ เพราะชาวเยอรมันบริโภคเนื้อสัตว์ลดลง โดยจำนวนสุกรที่เลี้ยงลดลง โรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่มีงานไม่พอทำ ส่งผลให้หลายแห่งต้องปิดกิจการลง และปัญหารุนแรงถึงขนาดที่ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ต้องถอนตัวบอกลาเยอรมนีกันเป็นแถว ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Vion โรงฆ่าสัตว์จากเนเธอร์แลนด์กำลังมองหาผู้ซื้อโรงฆ่าสัตว์ทั้ง 11 แห่ง ทั่วเยอรมนี ถึงแม้ว่าเยอรมนีจะเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันก็ตาม ด้านนาย Ronald Lotgerink ผู้บริหารของ Vion เปิดเผยว่า “แผนการทำงานของเราขณะนี้ คือ เน้นผลิตในภูมิภาคเบเนลักซ์แทน (เบเนลักซ์เป็นกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปตะวันตกของสามประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก)” สำหรับ ในเยอรมนี Vion ถือเป็นโรงฆ่าสัตว์ (โค) รายใหญ่ที่สุด และเมื่อพูดถึงเนื้อสุกรแล้ว Vion รั้งอันดับ 3 ตามหลังบริษัท Tönnies และ Westfleisch การถอนตัวของหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ออกจากเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้เกิดการปรับโครงสร้างองค์กรของอุตสาหกรรมโรงฆ่าสัตว์ในเยอรมนีอย่างเป็นรูปธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด คาดว่า มีแนวโน้มที่จะมีการปิดโรงฆ่าสัตว์ในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเกษตรกรและสวัสดิภาพสัตว์ (เพราะต้องถูกขนส่งนานขึ้นกว่าจะถึงโรงฆ่าสัตว์) ในช่วงฤดูร้อนปี 2023 Vion ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า “การถอนตัวออกจากเยอรมนีเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้” เพราะตอนนั้นบริษัทจากเนเธอร์แลนด์เริ่มทยอยปิดโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ลงไปทีละแห่ง หลังจากที่บริษัทปิดโรงฆ่าโคที่สำคัญที่สุดของเยอรมนีตอนเหนือในเมือง Bad Bramstedt ลง Vion ก็ได้ปิดโรงฆ่าสุกรที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในเมือง Emstek รัฐ Niedersachsen ในฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา โรงฆ่าสัตว์ทั้ง 4 แห่ง ถูกปิดตัวลง บริษัท Vion ขาย 2 โรงฆ่าสัตว์ให้กับบริษัท Tönnies คู่แข่ง และอีกโรงหนึ่งให้กับบริษัทโรงฆ่าสัตว์ Uhlen โดยคนในวงการมองว่า การถอนตัวของ Vion จากเยอรมนีเป็น “การขายเพราะจำเป็น” ในปี 2022 บริษัท Vion ทำยอดจำหน่ายรวม 5.3 พันล้านยูโร ผลขาดทุนประจำปีเพิ่มขึ้นจาก 29 ล้านยูโร เป็น 108 ล้านยูโร โดย Vion อ้างถึงวิกฤตเนื้อสุกรในเยอรมนีเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทขาดทุนขนาดนี้ โดยโรงฆ่าสัตว์ของบริษัท Vion คิดเป็นสัดส่วน 17% ของโรงฆ่าสัตว์ทั้งประเทศ
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว Vion ได้เข้ามาควบรวบกิจการโรงฆ่าสัตว์จำนวนมากในเยอรมนี พวกเขาเข้ามาซื้อโรงฆ่าสัตว์อย่างบริษัท Moksel, Nordfleisch และ Südfleisch หลังจากนั้นไม่นาน Vion ก็สามารถต่อสู้กับบริษัท Westfleisch เพื่อชิงอันดับที่ 2 ตามหลังบริษัท Tönnies บริษัทฆ่าสุกรชั้นนำได้ คงต้องยอมรับว่าเยอรมนีเป็นตลาดที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้บริหารโรงฆ่าสัตว์จากต่างประเทศ บ่อยครั้งที่พนักงานงานชั่วคราวที่ถูกจ้างงานผ่านผู้รับเหมาช่วงต้องทำงานแบบไม่เป็นธรรมทำให้ค่าการผลิตถูกมาก ในเวลานั้นแม้แต่บริษัท Danish Crown บริษัทโรงฆ่าสัตว์จากเดนมาร์กก็มองเห็นโอกาส และกลายเป็นบริษัทโรงฆ่าสุกรใหญ่เป็นอันดับ 4 ในเยอรมนี จากการรวบซื้อกิจการโรงฆ่าสัตว์อื่น ๆ ปัจจุบันธุรกิจโรงฆ่าสัตว์ในเยอรมนีแทบจะไม่คุ้มทุนเลย โดยมีสาเหตุมาจาก (1) การบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ตามตัวเลขของกระทรวงเกษตรแห่งสหพันธรัฐเยอรมนีแจ้งให้ทราบว่า ในปี 2023 ชาวเยอรมันรับประทานเนื้อสุกรโดยเฉลี่ยที่ 27.5 กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าปี 2013 เกือบ 10 กิโลกรัม สำหรับเนื้อวัวตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาการบริโภคต่อหัวลดลงหนึ่งกิโลกรัมโดยประมาณเหลือ 8.9 กิโลกรัม (2) ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงลดการบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อ สวัสดิภาพสัตว์ เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของตน นอกจากนั้น (3) อัตราเงินเฟ้อก็ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์อีกด้วย นาย Klaus-Martin Fischer หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษา Ebner Stolz กล่าว “เนื้อสัตว์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไวต่อราคาเป็นอย่างมาก” เป็นเวลานานแล้วที่ราคาเนื้อสุกรมีราคาถูก ชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่างเช่น หู ที่ปกติแล้วมักจะถูกนำไปผลิตอาหารสัตว์ในประเทศนี้ ถูกจำหน่ายโดยผู้ผลิตและชำแหละเนื้อสัตว์ไปยังลูกค้าในทวีปเอเชีย เพราะในภูมิภาคดังกล่าวถือว่า หูเป็นอาหารที่อร่อย การส่งออกเนื้อสัตว์ไปยังเอเชียนี้เองเปรียบเสมือนเงินอุดหนุนเนื้อแดงชิ้นสำหรับผู้บริโภคชาวเยอรมัน (ทำให้เนื้อแดงมีราคาถูกลง) แต่ด้วยการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF – African swine fever virus) ในเยอรมนีในปี 2020 ส่งผลให้หลายประเทศโดยเฉพาะจีนออกคำสั่งห้ามนำเข้าสินค้าเหล่านี้ การหารือระหว่างภาคการเมืองเกี่ยวกับการผ่อนปรนข้อจำกัดต่าง ๆ ประสบความล้มเหลวร้ายแรงติดต่อกัน สัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากปัญหา ASF ทำให้โรงฆ่าสัตว์ที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่ง ในภาคตะวันออกของเยอรมนีต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว โรงฆ่าสัตว์ในเมือง Weißenfels ของ Tönnies และโรงฆ่าสัตว์ในเมือง Perleberg ของบริษัท Uhlen ทั้ง 2 โรงฆ่าสัตว์ดังกล่าวได้รับสุกรจากฟาร์มที่ติดเชื้อจากรัฐ Mecklenburg-Vorpommern โดยนอกจากการสูญเสียกำไรจากการส่งออกในเอเชียแล้ว การห้ามพนักงานงานชั่วคราวที่ถูกจ้างงานผ่านผู้รับเหมาตั้งแต่ปี 2021 ยังทำให้ต้นทุนของโรงฆ่าสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างถาวร ขณะเดียวกันราคาสุกรก็เพิ่มขึ้นอย่างมากปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 2.20 ยูโรต่อน้ำหนักการฆ่า 1 กิโลกรัม
นอกจากนี้เกษตรกรลดการเลี้ยงสุกรขุนลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการเนื้อสุกรที่ลดน้อยลง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนสุกรลดลงเกือบ 1 ใน 4 เหลือเพียง 21 ล้านตัว ในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนฟาร์มเลี้ยงสุกรก็ลดลง 42% เหลือ 16,000 แห่ง (โดยประมาณ) บริษัทจำนวนมากยอมแพ้กับการส่งมอบธุรกิจต่อเพราะขาดผู้สืบทอดและแนวโน้มของจำนวนลูกค้าที่ลดลง นอกจากนี้รัฐบาลเองก็ต้องการให้มีการลดการเลี้ยงสัตว์ลงอย่างมากด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับผู้ค้าปลีกจำนวนมากที่เรียกร้องให้สวัสดิภาพของสัตว์ที่ดีขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ในการเลี้ยงสัตว์ บริษัท Aldi ผู้นำวงการ Discounter ในเยอรมนีก็เป็นผู้นำภายใต้สโลแกน “การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ” (Haltungswechsel เป็นการเล่นคำ Haltung แปลว่า ทัศนคติ และคอกสัตว์ ก็ได้) ภายในปี 2030 เนื้อสดและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แช่เย็นของ Aldi ควรได้รับการเปลี่ยนไปสู่ระดับการเลี้ยงที่ดีขึ้น เป็นระดับ 3 และ 4 (ระดับ 3 การเลี้ยงแบบคอกเปิดกว้างกลางแจ้งมีพื้นที่วิ่งเล่น และระดับ 4 เป็นการเลี้ยงแบบออร์แกนิก) อย่างไรก็ตามราคาสินค้าที่สูงขึ้นกลายเป็นอุปสรรคสำหรับผู้บริโภคจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงคอกแบบใหม่ที่มีราคาแพง เหตุผลเหล่านี้ทำให้สัตว์ที่ส่งไปชำแหละ ณ โรงฆ่าสัตว์ลดลงอย่างกะทันหัน โรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาเพื่อชำแหละเนื้อสัตว์จำนวนมากจึงไม่สามารถปฏิบัติงานให้คุ้มทุนได้ วงการโรงฆ่าสัตว์แจ้งว่า ในปัจจุบันโรงฆ่าสัตว์เกือบทั้งหมดประกอบธุรกิจแบบขาดทุน มีการคาดการณ์ว่า โรงฆ่าสัตว์สูญเสียเงินระหว่าง 6 – 8 ยูโรต่อการชำแหละสัตว์หนึ่งตัว ในธุรกิจชำแหละเนื้อวัวก็ไม่ได้ดูดีกว่าแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าใครต้องการเข้าซื้อโรงฆ่าสัตว์ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเยอรมนีต่อจากบริษัท Vion หลายต่อหลายคนในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ต่างก็ถามว่า “ทำไมใครจะต้องเข้ามาซื้อโรงฆ่าสัตว์ในเยอรมันในเมื่อสัตว์ที่นำมาชำแหละมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ” สมาคมผู้ผลิตเนื้อสุกรบาวาเรียตอนใต้ (Erzeugerverband Südbayern) ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น 49% อยู่แล้วมีความประสงค์ที่จะเข้ามาควบคุมดูแลโรงฆ่าสัตว์ของ Vion ในเมือง Vilshofen และ Landshut แทน โดยนาย Erwin Hochecker ประธานสมาคมผู้ผลิตฯ กล่าวว่า “เรามีความรับผิดชอบต่อภูมิภาค โดยต้องฆ่าสุกร 5,000 ตัวทุกวัน” เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์รายอื่น ๆ กังวลว่า ธุรกิจของบริษัท Vion อาจตกเป็นของโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่จากต่างประเทศที่ต้องการตั้งหลักในยุโรปรายอื่น นาย Franz Eder จากกลุ่มผู้ผลิตในเมือง Traunstein กล่าวว่า “การที่จะต้องพึ่งพาธุรกิจต่างประเทศเป็นเรื่องที่แย่ ปัญหานี้แสดงให้เห็นจากการส่งออกไปยังเอเชีย” บริษัท Vion เองก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขายธุรกิจออกไป สำหรับนักลงทุนแล้ว ธุรกิจ food service ถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่จัดส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่อย่างเช่น Burger King และ Ikea เป็นต้น ในเวลานี้เห็นได้ชัดว่า บริษัท Cremonini Group จากเมือง Modena ในประเทศอิตาลีมีความสนใจที่จะเข้ามาซื้อกิจการต่อ บริษัทจากอิตาลีนี้เป็นผู้เล่นหลักในยุโรปอยู่แล้ว โดยมียอดจำหน่ายประมาณ 5 พันล้านยูโร แต่จนถึงขณะนี้บริษัทก็ยังไม่มีที่ตั้งในประเทศเยอรมนีเลย บริษัท Cremonini ดำเนินกิจการโรงฆ่าสัตว์ 28 แห่งและร้านอาหารกว่า 280 แห่ง นอกจากนี้กล่าวกันว่า บริษัท OSI บริษัทผู้จัดส่งสินค้าให้กับบริษัทของแมคโดนัลด์ซึ่งมีฐานหลักอยู่ในประเทศอเมริกาได้ถอนตัวออกไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้จากแวดวงธุรกิจก็เป็นไปได้ที่บริษัท Tönnies อาจสนใจธุรกิจ food service อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารโรงฆ่าสัตว์จากตอนเหนือก็ไม่ค่อยสนใจที่จะขยายธุรกิจในภาคใต้ให้แข็งแกร่งขึ้นมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเนื้อวัวที่ในขณะนี้ไม่น่าสนใจที่จะขยายกำลังการผลิต เนื่องจากกลุ่มผู้ค้าปลีกกดดันราคาอย่างหนัก โดยทั่วแล้วไปสหกรณ์ Westfleisch ก็น่าที่จะสนใจที่จะซื้อกิจการต่อจากบริษัท Vion ตามคำแถลงของบริษัทแจ้งให้ทราบว่า บริษัทต้องการ “ใช้ประโยชน์ของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการรวมอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด” สหกรณ์ Westfleisch ไม่แสดงความคิดเห็นว่า บริษัท Vion จะรวมอยู่ในการประมูลหรือไม่ บริษัทโรงฆ่าสัตว์รายอื่น ๆ ในประเทศไม่ต้องพูดถึงเพราะพวกเขาขาดทุนทรัพย์ในการซื้อกิจการขนาดใหญ่ขนาดนี้ โดยบริษัท Vion ต้องการให้กระบวนการขายโรงฆ๋าสัตว์ในเยอรมนีเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และเน้นย้ำว่า บริษัท “ไม่มีการวางแผนการที่จะปิดโรงงาน” อย่างไรก็ตาม นาย Fischer ผู้เชี่ยวชาญผู้ให้คำแนะนำบริษัทจากประเทศเนเธอร์แลนด์เกี่ยวกับการขายโรงงานต่าง ๆ ก่อนหน้านี้กล่าวว่า “การปิดโรงฆ่าสัตว์เพิ่มเติมจะทำให้ตลาดผ่อนคลายจากความตึงเครียดลง” อย่างไรก็ระยะทางในการขนส่งสัตว์จะยาวขึ้นและมีราคาสูงขึ้น นาย Eder จากเมือง Traunstein กล่าวว่า “โรงฆ่าสัตว์จำนวนน้อยลงส่งผลเสียต่อสวัสดิภาพสัตว์และเกษตรกรอย่างพวกเรา” โดยเหล่าคนวงในต่างก็คาดหวังว่า บริษัท Danish Crown ก็ควรที่จะลาออกจากตลาดเยอรมันด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามโฆษกของบริษัทชี้แจงว่า “คู่แข่งต้องการแบบนั้น แต่เราไม่ยอมออกจากตลาดเยอรมนีง่าย ๆ แน่นอน” อย่างไรก็ตาม มีหลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงกับบริษัทจากประเทศเดนมาร์กบริษัทนี้ โดยในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้พวกเขาจะนำเสนอกลยุทธ์ใหม่ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการประกาศว่า กำลังมองหาผู้สืบทอดตำแหน่ง CEO ต่อจากนาย Jais Valeur ในปี 2023 บริษัท Danish Crown ลดการฆ่าสัตว์ในเยอรมนีลงอย่างมากมากกว่า 30% บริษัท Danish Crown อธิบายว่า “มีสัตว์ให้ฆ่าลดลงเรื่อย ๆ” ในเวลาอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ยังคงอยู่ในกระบวนการกการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง บริษัท Vion กล่าวว่า “กระบวนการรวมธุรกิจในเยอรมนีของเรายังไม่เสร็จสมบูรณ์”
จาก Handelsblatt 5 กรกฎาคม 2567