งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ Food&Hotel Asia (FHA) 2024 ที่จัดไประหว่างวันที่ 23-26 เมษายน 2567 ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าที่ใส่ใจความยั่งยืน ในขณะเดียวกันสินค้ายังต้องให้ความสะดวกสบายให้แก่ผู้ซื้อ และสินค้าเกือบทุกหมวดหมู่ ตั้งแต่อาหารแช่แข็ง เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ไปจนถึงของขบเคี้ยวได้นำเสนอสินค้ากลุ่มพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งจะยังคงเป็นแนวโน้มที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมนี้ โดยเทรนด์ดังกล่าวสรุปได้ดังต่อไปนี้

เทรนด์ F&B ยอดนิยมจากงาน FHA ในสิงคโปร์ปี 67

  1. สินค้าเนื้อสัตว์จากพืชจะตอบโจทย์ด้านรสชาติและนำเสนอในรูปแบบที่สะดวกต่อการบริโภคมากขึ้น (Plant-Based Meat gets more flavor and convenience) จำนวนแบรนด์ สินค้าเนื้อสัตว์จากพืช และเนื้อสัตว์ทางเลือกทั้งจากในสิงคโปร์และต่างประเทศที่เข้าร่วมงาน FHA ในปีนี้ลดน้อยลงอย่างมาก เนื่องจากในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่ยากลำบากสำหรับธุรกิจกลุ่มนี้ ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ได้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง

แบรนด์เนื้อสัตว์จากพืชอย่างแบรนด์ Thoughful Food และ Zac Meat ได้เปลี่ยนมามุ่งเน้นรสชาติที่คนท้องถิ่นคุ้นเคย และรสชาติใหม่ ๆ รวมถึงสินค้ากลุ่มพร้อมบริโภค (Ready to Eat) เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่มองหาความสะดวกสบาย ซึ่งการผลิตสินค้ากลุ่มนี้จะช่วยแบรนด์ได้ขยายฐานสินค้าไปยังผู้บริโภคในวงกว้างมากขึ้น โดยแบรนด์ ZAC Meat หนึ่งในแบรนด์ไส้กรอก
ฮาลาล และโคลด์คัทชั้นนำของสิงคโปร์ ได้ขยายไลน์สินค้าพร้อมรับประทาน 11 รายการ โดยเป็นสินค้าจากพืชที่ทำจากถั่วเหลืองเป็นหลักห้ารายการ

  1. สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มแบบปราศจากน้ำตาล เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Zero Sugar Everywhere) โดยพบในสินค้ากลุ่มช็อกโกแลต ของขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่ม หรือซอส/ผลิตภัณฑ์ปรุงอาหาร นอกจากนี้ยังมีการนำน้ำตาลทางเลือกต่าง ๆ มาใช้มากมาย ตั้งแต่น้ำตาลธรรมชาติไปจนถึงน้ำตาลสังเคราะห์ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการถกเถียงกันว่าตัวเลือกน้ำตาลบางชนิดเหล่านี้ดีต่อสุขภาพแค่ไหน

เทรนด์ F&B ยอดนิยมจากงาน FHA ในสิงคโปร์ปี 67

3. การปฏิวัติเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง (The Non-Alcoholic Revolution continues)

แบรนด์ใหม่ หรือแบรนด์เครื่องดื่มที่มีอยู่ในตลาดได้หันมาลงทุนในสินค้าทางเลือกกลุ่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น สินค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างหลากหลาย และมีตัวเลือกตามโอกาสการใช้งาน เช่น แบรนด์ Eclor ได้พัฒนาเครื่องดื่มกลุ่ม Ciders ไร้แอลกอฮอล์ แบรนด์ Sobah ได้ผลิตเบียร์ และ Spritzers ไร้แอลกอฮอล์ และแบรนด์ Gryphon Tea Co. ได้ผลิตค็อกเทลไร้แอลกอฮอล์ และยังรวมไปถึงสินค้าไวน์ไร้แอลกอฮอล์ต่าง ๆ ที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกในตลาดเครื่องดื่ม

เทรนด์ F&B ยอดนิยมจากงาน FHA ในสิงคโปร์ปี 67

  1. การเข้ามามีบทบาทของแบรนด์ F&B จีนสู่ตลาดโลก(Chinese F&B Brand Presence) มีสินค้าจีนจำนวนมากตั้งแต่กลุ่มไร้น้ำตาล และผลิตภัณฑ์ Clean Label[1] ที่ออกสู่ตลาด และส่งออกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แบรนด์เครื่องดื่มที่เติบโตเร็วที่สุดในจีน แบรนด์ Genki Forest ได้ออกสินค้าเครื่องดื่มแคลอรี่และน้ำตาลต่ำ และกำลังขยายไปยัง 40 ประเทศทั่วโลก รวมถึงญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไทย และตลาดอื่น ๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอีกหลาย ๆ แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มจีนจะออกสินค้าดีต่อสุขภาพและขยายธุรกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลกมากขึ้น
  2. ความยั่งยืนในเชิงปฏิบัติ (Practical Sustainability) ในปีที่ผ่านมา หลาย ๆ แบรนด์ต่างพยายามที่จะไม่กล่าวอ้างถึงเรื่องส่งเสริมความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ เพราะอาจก่อให้เกิดการฟอกเขียวทางธุรกิจ (Greenwashing)[2] และก่อให้เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ของผลิตภัณฑ์/ แบรนด์ที่ยั่งยืน

ความยั่งยืนในเชิงปฏิบัตินั้นจะต้องเกิดจากการที่แบรนด์ต่าง จัดหาแหล่งวัตถุดิบอย่างมีจริยธรรม การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน รวมไปถึงการจัดการของเสียที่เกิดจากการผลิต เครื่องมือติดตามผลการก่อให้เกิดคาร์บอน และการใช้พลังงาน อีกทั้งยังต้องแสดงผลประโยชน์ที่ยั่งยืนและจับต้องได้ต่อลูกค้า แทนที่จะให้คำสัญญาเกินจริง

เทรนด์ F&B ยอดนิยมจากงาน FHA ในสิงคโปร์ปี 67

  1. การดูแลสุขภาพดีแบบองค์รวม (Functional Wellness) สินค้าที่ช่วยฟื้นฟูและป้องกันสุขภาพ ได้แก่ วิตามิน อาหารเสริม สารเพิ่มพลังงาน และสินค้าที่ให้ประโยชน์ด้านสุขภาพและความงามไปพร้อมกัน โดยเป็นเทรนด์ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น แบรนด์ของว่างบำรุงสุขภาพสำหรับเด็กจากออสเตรเลีย Mood Food และแบรนด์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงามของไทย Well’logy จากบริษัท Synova

เทรนด์ F&B ยอดนิยมจากงาน FHA ในสิงคโปร์ปี 67

7. เห็ดจะเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น (Mushroom) เพื่อตอบ สนองการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหารและความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลให้หลาย ๆ บริษัทสิงคโปร์ เช่น บริษัท Spore Gardens ต้องการจัดหาและเพาะปลูกเห็ดในประเทศ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการเติบโตของฟาร์มไฮโดรโปนิก และ Aeroponics[3] ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น

เทรนด์ F&B ยอดนิยมจากงาน FHA ในสิงคโปร์ปี 67

8. การใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ด (Autonomous fast food kiosk) บริษัท Rolo Robotics ได้เปิดตัว Maya ระบบเครื่องทำอาหารอัตโนมัติแบบครบวงจรระบบแรกของโลก โดยใช้ระบบผสมผสาน AI และการทำงานแบบหุ่นยนต์เข้าด้วยกันในการเตรียมทอดอาหารและเสิร์ฟให้กับผู้บริโภคได้ทั้งอาหารหลัก เครื่องเคียง และเครื่องดื่ม นอกจากนี้ Maya ยังสามารถจัดการหลายคำสั่งได้ในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังมีสามารถปรับแต่งตามความต้องการได้ เช่น การปรุงรสชาติ เลือกซอสที่ต้องการ ระดับความกรอบ และ Maya ยังมีเทคโนโลยีทำความสะอาดตัวเองและได้รับการออกแบบให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันโดยไม่ต้องมีผู้ดูแล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในงานบริการ และระบบอัตโนมัติมีแนวโน้มที่จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหากระบวนการต่างๆ มากขึ้น

9. การเพาะเลี้ยงกุ้งน้ำจืดแบบไร้ก๊าซคาร์บอน (Carbon Neutral Prawns) บริษัทมาเลเซีย Sento Biotech ได้ออกแบบนวัตกรรมทางเลือกอาหารสัตว์น้ำที่มีความยั่งยืนมากขึ้นโดยใช้ส่วนผสมจากพืชและหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) โดยทั่วไปอาหารสัตว์น้ำจะทำจากปลาป่นและน้ำมันปลา ซึ่งการผลิตดังกล่าวก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก บริษัทได้ให้สารอาหารตั้งต้นอย่างดอกโสน และใบฮัมมิ่งเบริ์ดให้กับหนอนแมลงวันลาย การใช้ดอกโสนจะช่วยแก้ไขปัญหาที่มาของสารตั้งต้นในการให้อาหาร สุขอนามัย และความมั่นคงทางอาหาร อีกทั้งยังสามารถช่วยลดราคาอาหารสัตว์ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

     ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ รวมถึงความก้าวหน้าทางนวัตกรรมเทคโนโลยี ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพได้เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก รวมถึงในสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคไม่ได้แค่บริโภคเพื่อสุขภาพ แต่ยังให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของแหล่งที่มา ส่วนประกอบ กระบวนการผลิต และสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น นอกจากการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพแล้ว ผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไทยอาจจะเพิ่มความแนวความคิดด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในสินค้ามากขึ้น เช่น การลดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เพิ่มการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ลดการใช้สิ่งสังเคราะห์ในกระบวนการผลิต เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ส่งออก ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอาจจะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการจัดการบริหาร หรือคิดค้นนวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป

 

แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://marketshake.gourmetpro.co/p/fha-singapore-2024

[1] สินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์และจะต้องแสดงฉลากอย่างชัดเจนโปร่งใส

[2] การเปิดเผยข้อมูลหรือข้อความที่แสดงความเป็นมิตรต่อสังคมและ/หรือสิ่งแวดล้อมของธุรกิจที่เกินความเป็นจริง เพื่อหวังจะให้ธุรกิจสามารถขายของหรือสร้างกำไรบนความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

[3] การปลูกพืชโดยให้รากแขวนอยู่ในอากาศ แล้วปล่อยละอองสารอาหารให้พืชเจริญเติบโต

thThai