สถาบันวิจัยทางการตลาด Gfk ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคกาแฟในประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,008 ราย พบว่าผู้ดื่มกาแฟในประเทศออสเตรียดื่มกาแฟเฉลี่ย 2.48 แก้วต่อวัน (เพศชาย 2.83 แก้ว และเพศหญิง 2.48 แก้ว) กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.4 ดื่มกาแฟเป็นประจำทุกวัน และร้อยละ 45.9 ดื่มกาแฟมากกว่าหนึ่งแก้วต่อวัน ผู้มีอายุระหว่าง 50-59 ปีดื่มปริมาณสูงสุด (31.6 แก้ว) รองลงมา ได้แก่ 40-49 ปี (2.92 แก้ว) 60-69 ปี (2.75 แก้ว) 30-39 ปี (2.54 แก้ว) ผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไป (2.40 แก้ว) และกลุ่มที่ดื่มกาแฟน้อยที่สุด คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15-29 ปี (2.12 แก้ว)
ช่วงเวลาที่นิยมดื่มกาแฟสูงสุด ได้แก่ หลังจากตื่นนอนตอนเช้า (เพศชาย ร้อยละ 74.8 และเพศหญิง ร้อยละ 71.2) รูปแบบกาแฟที่ได้รับความนิยมสูงสุด (เลือกได้มากกว่าหนึ่งตัวเลือก) ได้แก่ เอสเปรสโซ (ร้อยละ 30) ตามมาด้วยกาแฟดำ (ร้อยละ 29.2) กาแฟใส่นม (ร้อยละ 29.0) คาปูชิโน่ (ร้อยละ 22.4) กาแฟฟิลเตอร์ (ร้อยละ 15.6) ลาเต้มาคิอาโต (ร้อยละ 12.0) กาแฟผง (ร้อยละ 8.4) กาแฟสำเร็จรูปแช่เย็น (ร้อยละ 5.9) กาแฟปลอดคาเฟอีน (ร้อยละ 4.0) แฟลตไวท์ (ร้อยละ 1.3) และโคลด์บรูว์ (ร้อยละ 0.2)
ครัวเรือนนิยมชงกาแฟโดยเครื่องบดชงกาแฟอัตโนมัติ (ร้อยละ 52.7) เครื่องเนสเปรสโซ (ร้อยละ 28.6) เครื่องชงกาแฟฟิลเตอร์ไฟฟ้า (ร้อยละ 16.7) กาต้มเอสเปรสโซ (ร้อยละ 13.0) และวิธีอื่นๆ ซึ่งแหล่งซื้อหาเมล็ดกาแฟที่นิยมสูงสุด ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ต (ร้อยละ 78.2) รองลงมา ได้แก่ ร้านค้าของผู้ผลิตกาแฟ (ร้อยละ 23.7) ร้านค้าออนไลน์ (ร้อยละ 11.6) และโรงคั่วเมล็ดกาแฟรวมถึงร้านขนาดเล็ก (ร้อยละ 7.5) โดยส่วนใหญ่ไม่ต้องการซื้อกาแฟในราคาสูงกว่า 12.99 ยูโรต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ดี มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.8 พร้อมจ่ายเงินซื้อกาแฟในราคาไม่เกิน 20 ยูโรต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ปัจจัยอันดับหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อกาแฟ ได้แก่ รสชาติ (ร้อยละ 78.2) รองลงมา ได้แก่ ราคา (ร้อยละ 39.0) และปัจจัยอื่นๆ อาทิ วิธีการชง ยี่ห้อ และมาตรฐานในการเพาะปลูก
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ
ออสเตรียมีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟมายาวนาน ปัจจุบันกาแฟยังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างสูง แม้ว่าในกลุ่มวัยรุ่นจะดื่มกาแฟน้อยลงก็ตาม แนวโน้มความต้องการของตลาด ได้แก่ เมล็ดกาแฟคุณภาพสูง โดยเฉพาะจากแหล่งใหม่ๆ อย่างประเทศไทย มีกระบวนการปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นธรรมต่อแรงงาน และหากใช้กรรมวิธีเกษตรอินทรีย์จะยิ่งดีมาก ทั้งนี้ ต้องมีเครื่องหมายรับรองคุณภาพระดับสากลที่จำเป็น อาทิ Rainforest Alliance, UTZ, Fairtrade และ Bio-EU นอกจากนี้ หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ในสหภาพยุโรป จะยิ่งเปิดโอกาสให้กับสินค้ามากขึ้นและจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น