ธนาคารโลก (World Bank) ออกรายงาน ‘Global Economic Prospects’ โดยเนื้อหาของรายงานฉบับนี้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือยูเออีจะขยายตัว 3.9% ในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ได้คาดการณ์เดิมไว้เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ร้อยละ 3.7 และ GDP ปี 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.1% โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่จะผลักดันให้ GDP ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว ลงทุนเอกชน เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าภูมิภาคอื่นของโลก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.8% ในปีนี้ และเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 4.2% ในปี 2568 ส่วนเศรษฐกิจของประเทศที่นำเข้าน้ำมันคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.9 ในปี 2567 และร้อยละ 4 ในปี 2568 และคาดเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ว่าจะแข็งแกร่งขึ้น โดยในปี 2567 การเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.8 และร้อยละ 4.7 ในปี 2568
ภูมิภาค MENA สามารถคงอัตราการเติบโตได้ด้วยการดําเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ เร่งเปิดโอกาสให้มีการลงทุนในภาคเอกชน การแก้ปัญหาในภาคการเงิน การส่งเสริมผลิตภาพให้เพิ่มสูงขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิรูปการศึกษาจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคได้ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของกลุ่ม MENA ได้แก่
- ผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดในช่วงที่ผ่านมาทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการลดขนาดงบดุลในบางประเทศ การดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับสูงขึ้น มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ปรับเข้มงวดขึ้นตามความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น
- ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ วิกฤตทะเลแดงส่งผลให้อุปทานชะงัก (Supply chain disruption) และเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน ตลอดจนส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวนได้
- หนี้ภาครัฐที่อยู่ในระดับสูงรัฐบาลหลายประเทศ อาทิ โอมาน บาห์เรน อิยิปต์ และประเทศผู้นำเข้าน้ำมันต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการคลังที่เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้สูง การป้องกันประเทศที่มากขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ความสามารถในการสนับสนุนเศรษฐกิจและรับมือกับความไม่แน่นอนต่างๆ ปรับลดลง
การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแต่เป็นไปอย่างเชื่องช้า
ตามรายงานเดียวกัน การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปี 2567 คาดว่าจะยังคงทรงตัวที่ร้อยละ 2.6 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 2.7 ในปี 2568 และ ปี 2569 อย่างไรก็ตาม การเติบโตในระดับนี้ ต่ำกว่าระดับร้อยละ 3.1 ซึ่งยังคงต่ำกว่าอัตราการเติบโตของช่วงก่อนโควิดระบาด
แม้ว่าการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะทรงตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ในปี 2567 แต่รายงานระบุว่าระดับการเติบโตจะค่อนข้างอ่อนแอเมื่อเทียบกับมาตรฐานในอดีตที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่อาจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
การค้าของไทยกับกลุ่ม MENA
ช่วง 4 เดือนเเรกของปี 2567 มูลค่าการค้ารวมระหว่างประเทศไทยกับกลุ่ม MENA (20 ประเทศ) 12,830.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 7.06% โดยไทยส่งออกมูลค่า 3,765.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 1.97% เเละมีการนำเข้าสินค้ามาประเทศไทยเป็นจำนวนเงิน 9,065.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -10.36% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ามูลค่า -5,299.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้น 17.5%
โดยเมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนเเรกของปี 2566 สินค้าที่ไทยส่งออกมูลค่ามาก 10 อันดับแรกไป MENA มีอัตราขยายตัวได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (+5.6%) ข้าว ( +2.5%) ปลากระป๋อง ( +21.9%) เครื่องประดับอัญมณี (+4.6%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+0.8%) เครื่องจักรและส่วนประกอบ (+10.4 %) คอมพิวเตอร์ (+87.9 %) ตู้เย็น/ตู้แช่ (+18.1%) สินค้าที่มูลค่าส่งออกหดตัวได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไม้ (-19.1 %) และเครื่องปรับอากาศ (-25.4%)
ประเทศสมาชิก MENA ที่ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (+4.0%)
ซาอุดีอาระเบีย(+11.7%) กาตาร์ (+30.4 %) เยเมน (+60.1%) ลิเบีย (+3.3%) บาห์เรน (+27.1%) โมร็อกโก (+49.0%) เลบานอน (+14.3%) ตูนิเซีย (+25.1%) และแอลจีเรีย (+116.7%)
ประเทศส่งออกมูลค่าลดลง ได้แก่ อิรัก (-7.1%) อิสราเอล(-7.7%) อียิปต์ (-21.5%) โอมาน (-12.6%) คูเวต (-6.1%) อิหร่าน (-9.1%) จอร์แดน (-57.5%) จิบูตี (-41.5%) ซีเรีย (-72.3%)
สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าคือ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป สัดส่วนรวมกัน 85% ของการนำเข้าทั้งสิ้น นอกจากนั้นเป็นสินค้า ปุ๋ย เคมีภัณฑ์ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์เหล็ก
โดยนำเข้าจากประเทศต่างๆตามลำดับมูลค่าและอัตราขยายตัวมากน้อย ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (+3.1%) ซาอุดีอาระเบีย (-27.9%) กาตาร์ (-0.8%) โอมาน (-37.2%) คูเวต (-14.8%) ลิเบีย (-67.2%) อิสราเอล (+21.1%) บาห์เรน (+5.0%) แอลจีเรีย (-33.4%) โมร็อกโก (-14.4%) จอร์แดน (+28.1%) อียิปต์ (+90.4%) ตูนิเซีย (+10.3%) เยเมน (-40.1%) อิรัก (+38455.7%) อิหร่าน ( -21.7%) เลบานอน (+23.1%) ซีเรีย (+ 59.7%) และปาเลสไตน์ (0.0%)
การส่งออกจากไทยไปตะวันออกกลางอาจขยายตัวได้ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศนี้ มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว ปลากระป๋อง เครื่องประดับอัญมณี และผลิตภัณฑ์ยาง ทำให้ตลาดตะวันออกกลางจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย และมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในระยะปานกลาง
————————————-