“โปรตีนจากแมลง” เป็นวัตถุดิบที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์น้ำ โดยใช้ผสมกับปลาป่นเพื่อลดต้นทุน ขณะที่ยังคงมีสารอาหารจากโปรตีน และมีราคาถูกทำให้ลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงได้

ปัจจุบัน อาหารสัตว์น้ำส่วนใหญ่ คือ ปลาป่นที่มีปลากะตักและปลาอื่น ๆ เป็นวัตถุดิบ โดยปลากะตักส่วนใหญ่นำเข้าจากเปรู แต่มักพบปัญหาด้านปริมาณอุปทานไม่คงที่ ส่งผลให้ให้ควบคุมต้นทุนยาก ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเริ่มหันมาใช้ โปรตีนทางเลือกที่มีอุปทานต่อเนื่องและมีราคาถูก เช่น เศษชิ้นส่วนของ   สัตว์ปีกและกากถั่วเหลือง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา “แมลง” เป็นแหล่งวัตถุดิบทดแทนที่มีศักยภาพ มหาวิทยาลัยเอฮิเมะ[1] นำ “หนอนนก” (ตัวอ่อนของแมลงปีกแข็งในสกุลด้วงแรด) มาบดเป็นผง และผสมกับอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งทำให้ลดปริมาณการใช้วัตถุดิบปลาป่นเหลือเพียง ร้อยละ 30 และตั้งเป้าให้ลดเหลือ ร้อยละ 20 ต่อไป

ในปี 2566 จังหวัดเอฮิเมะ ซึ่งเป็นแหล่งการผลิตปลากะพงแดง (ปลาไท) ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยเอฮิเมะ ได้ร่วมมือกับบริษัทท้องถิ่น ทดลองใช้อาหารปลาที่มีส่วนผสมจากแมลงครั้งแรก โดยใช้ในการเพาะเลี้ยงปลากะพงแดงประมาณ 8,000 ตัว ซึ่งได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี ในปีนี้ จึงจะทำการเพาะเลี้ยงปลากะพงแดง จำนวน 13,000 ตัว สำหรับจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “เอฮิเมะไท” ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

สถาบันวิจัย Yano คาดว่าภายในปี 2570 มูลค่าการค้าแมลงสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ในญี่ปุ่น จะสูงถึง 492 ล้านเยน และมูลค่าตลาดอาหารสัตว์ที่มีสัดส่วนวัตถุดิบจากแมลงมากกว่าปลาป่น จะมีมูลค่า 66,412 ล้านเยน เพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 70 เทียบกับเมื่อปี 2565 ตามอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากจำนวนประชากรโลกและความต้องการอาหารทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ตามข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า ร้อยละ 58 ของอาหารทะเลทั่วโลกมาจากการเพาะเลี้ยง โดยในส่วนของญี่ปุ่นอยู่ที่ ร้อยละ 22.8 ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งนับว่ายังมีโอกาสสำหรับการขยายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอาจทำให้บทบาทของอาหารสัตว์ที่ใช้โปรตีนจากแมลงมีเพิ่มขึ้น

ที่มาข่าว :

https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUB117NV0R10C24A3000000/

https://www.yano.co.jp/press-release/show/press_id/3325

 

ความเห็น สคต.

โปรตีนจากแมลง เป็นวัตถุดิบที่ได้รับความนิยมในวงการ “อาหารแห่งอนาคต” จากการที่ในกระบวนการผลิตสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า การผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ด้านอุปทานมีความคงที่ และมีราคาที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนมากยังมีทัศนคติเชิงลบต่อ “แมลง” ทำให้ตลาดอาหารแมลงสำหรับการบริโภค ยังไม่แพร่หลายในวงกว้าง

ขณะเดียวกัน การใช้แมลงเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งในอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและสัตว์น้ำ ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่มีความพร้อมทั้งในด้านแหล่งวัตถุดิบ ไปจนถึงด้านการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา

 

[1] ศาสตราจารย์ทาเคชิ มิอุระ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ)

thThai