หนังสือพิมพ์ออนไลน์ Trade Arabia เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าโลกประสบกับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกะทันหันและปัจจัยอื่นๆ อาจทําลายความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานโลกที่ละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบต่อราคาและความมั่นคงทางอาหารของโลก อย่างไรก็ตามคาดว่าอุปทานของสินค้าอาหารที่สําคัญของโลกจะเพียงพอในปี 2567/68
จากรายงาน Food Outlook เกี่ยวกับแนวโน้มอาหารของ FAO ฉบับล่าสุด คาดการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับการผลิต การค้า การใช้ประโยชน์จากอาหารอย่างเหมาะสม และสินค้า คงคลังของอาหารที่บริโภคหลักของโลก โดยในด้านการผลิตได้ประเมินผลผลิตข้าว และเมล็ดพืชน้ำมัน (oilseeds) ของโลกจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ผลผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย และได้มีการประเมินตลาดของสินค้า ข้าวสาลี ธัญพืช พืชน้ำมัน น้ำตาล เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และผลิตภัณฑ์ประมง ด้วย
ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ FAO ยังได้ประมาณการเบื้องต้นเกี่ยวกับการนําเข้าอาหารทั่วโลกในปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 หรือมูลค่าเกินกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ($2 trillion) อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ มหภาคที่ค่อนข้างเอื้ออำนวย รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพ ในขณะที่ราคาสินค้าอาหารลดลง
ในขณะเดียวกันได้กล่าวถึงผลกระทบแบบไดนามิกของต้นทุนการขนส่งที่มีต่อราคาการนําเข้าอาหาร โดยพิจารณาจากความผันผวนที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนของเส้นทางขนส่งในทะเลดํา วิกฤตทะเลแดง และผลกระทบความแห้งแล้งของคลองปานามา จากการวิเคราะห์พบว่า ผลกระทบเหล่านี้ส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกในระยะสั้น และส่งผลกระทบด้านลบต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อาศัยการนำเข้าอาหาร
การประเมินล่าสุด
สถานการณ์อาหารและธัญพืชสำคัญบางชนิด FAO สรุปไว้ดังนี้
ข้าวสาลี
คาดว่าตลาดข้าวสาลีโลกจะหดตัวในปี 2567/68 เนื่องจากการผลิต ใช้ประโยชน์ การค้า และ สต๊อกข้าวสาลีทั่วโลกจะลดลงจากระดับปี 2566-2567 อย่างไรก็ตาม อุปทานที่เพียงพอ ความต้องการอาหารสัตว์และการ ใช้งานอื่นๆทั่วโลกลดลง อาจรักษาความสมดุลของตลาดข้าวสาลีโลก
ธัญพืชเม็ดหยาบ (Coarse grains)
แนวโน้มของตลาดธัญพืชเม็ดหยาบของโลกแสดงให้เห็นว่ามีอุปทานเพียงพอ และสินค้าคงคลังจะแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560-2561 การค้าธัญพืชเม็ดหยาบระหว่างประเทศมีแนวโน้มลดลงในปี 2567/68 คาดว่าปริมาณการส่งออกของบราซิลและยูเครนจะลดลงอีกทั้งความต้องการนำเข้าของจีนจะลดลงด้วย
ข้าว
ราคาข้าวในตลาดโลกยังคงปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางการควบคุมการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกข้าว และการซื้อข้าวปริมาณมากของผู้นำเข้าในเอเชียบางประเทศ การคาดการณ์แนวโน้มในช่วงต้นปี 2567/68 ชี้ว่าการผลิตทั่วโลกจะมีปริมาณสูง ซึ่งอาจมาจากการเติบโตของการบริโภคข้าว และผลักดันปริมาณสำรองข้าวสูงเป็นประวัติการณ์
เนื้อสัตว์
แม้ว่าเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง การแพร่กระจายของโรคสัตว์ และอัตรากําไรที่น้อยมาก อาจส่งผลกระทบเชิงลบ แต่คาดว่าการผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2567 โดยได้รับแรงหนุนจากการผลิตเนื้อสัตว์ปีกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การค้าเนื้อสัตว์โลกมีแนวโน้มฟื้นตัว เพราะคาดว่าความต้องการในประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์รายใหญ่จะมีมากกว่าอุปทานในประเทศ
น้ำตาล
แนวโน้มอุปทานโลกปรับตัวดีขึ้นในปี 2566-2567 ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยคาดว่าแนวโน้มปริมาณการบริโภคและการค้าน้ำตาลทั่วโลกจะขยายตัว โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำตาลที่ลดลง เนื่องจากการส่งออกที่เพียงพอและความต้องการนำเข้าทั่วโลกมีความแข็งแกร่ง
พืชน้ำมัน
การคาดการณ์ปริมาณการผลิตเมล็ดพืชน้ำมัน ทั่วโลกปี 2566/67 สูงเป็นประวัติการณ์ คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการเก็บสต๊อกเพิ่มขึ้น ในขณะที่การเติบโตของผลผลิตน้ำมัน/ไขมัน เช่น น้ำมันปาล์ม ที่ต่ำกว่าต่ำกว่าความต้องการบริโภค ซึ่งจะส่งผลให้สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันพืชทั่วโลกตึงตัว
การประมง
ในปี 2567 คาดว่าการทำประมงธรรมชาติเสริมด้วยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในฟาร์มที่กำลังขยายตัว อุปทานสัตว์น้ำบางชนิดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดลดลง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซายังคงเป็นความท้าทาย
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
การส่งออกอาหารของไทยไปตะวันออกกลาง
กลุ่มประเทศตะวันออกกลางส่วนใหญ่มีความสามารถในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรต่ำ ส่งผลให้ภูมิภาคนี้ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ด้วยสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ขาดแคลนแหล่งน้ำใต้ดิน ประกอบกับพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรที่มีอยู่น้อยมาก ทำให้ภูมิภาคนี้ ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ GCC อาศัยการนำเข้าอาหารสัดส่วนร้อยละ 70-80 ของความต้องการบริโภคทั้งหมดภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว เนื้อสัตว์ ธัญพืช
ประเทศไทยส่งออกอาหารและเครื่องดื่มไปกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 15 ประเทศ (อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี เยเมน อิหร่าน กาตาร์ คูเวต เลบานอน โอมาน จอร์แดน บาห์เรน ซีเรีย และปาเลสไตน์) ในปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) มูลค่ารวม 739.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สินค้าที่ส่งออกมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ สินค้ากสิกรรม (ข้าว) ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี โดยส่งออกมูลค่ามากไป 10 ประเทศแรก มีสัดส่วนตลาดดังนี้ ประเทศอิรัก สัดส่วน 27.5% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 18.4% อิสราเอล 13.2% ซาอุดีอาระเบีย 11.2% ตุรกี 10.8% เยเมน 6.6% อิหร่าน 2.7% กาตาร์ 2.2% คูเวต 2.0% และเลบานอน 1.7%
กระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยได้วางแนวทางผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่มีศักยภาพออกสู่ตลาดโลก ผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในงานแสดงสินค้า Gulfood ในรัฐดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง และสินค้าอาหาร ของไทยได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้นำเข้าและผู้กระจายสินค้า คาดว่าการส่งออกจากไทยไปตะวันออกกลางอาจขยายตัวได้ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่มประเทศนี้มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าเศรษฐกิจโลก และตลาดตะวันออกกลางจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย และมีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนการส่งออกของไทยต่อไป
——————————–