ปัจจุบันการขนส่งผลไม้เมืองร้อนไม่ว่าจะเป็นกล้วย สับปะรด อะโวคาโด มะม่วง ในอิตาลีมีความหนาแน่น เนื่องจากอิตาลีมีการนำเข้าและผลิตผลไม้เมืองร้อนเพิ่มขึ้น โดยสมาคมธุรกิจผักและผลไม้ (Fruitimprese) เปิดเผยว่า ในปี 2566 อิตาลีสามารถรักษาปริมาณผลไม้สดที่จำหน่ายในตลาดต่างประเทศให้คงที่อยู่ที่ 3.4 ล้านตัน (-0.9% เมื่อเทียบกับปี 2565) ในขณะที่ การส่งออกผลไม้ดั้งเดิมของอิตาลี ได้แก่ แอปเปิ้ล องุ่น และลูกแพร์ กลับมีปริมาณลดลง อันมีผลมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ แต่กลับพบว่า ผลไม้รสเปรี้ยว ขยายตัวเพิ่มขึ้น +9.9% และกีวี ขยายตัวเพิ่มขึ้น +13.2% ในขณะที่ แนวโน้มการส่งออกผลไม้เมืองร้อนของอิตาลีกลับมีสัญญาณเป็นบวกเพิ่มมากขึ้น ขยายตัวเพิ่มขึ้น +20.9% หรือคิดเป็นปริมาณ 147,000 ตัน
ในปี 2566 มูลค่าการส่งออกผลไม้เมืองร้อนของอิตาลี มีมูลค่า 143 ล้านยูโร ซึ่งถือว่ามีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกผลไม้แห้ง (มูลค่า 415 ล้าน) และผลไม้รสเปรี้ยว (มูลค่า 284 ล้าน) แต่ก็ถือว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้เมืองร้อนของอิตาลี มีการเติบโตที่รวดเร็ว โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น +22.4% และมีปริมาณการส่งออก ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับปี 2565 ทั้งนี้ ผลไม้เมืองร้อนที่อิตาลีนำเข้ามาทั้งหมดนั้น ประมาณ 13.5% จะถูกส่งออก (re-export) ไปยังประเทศอื่น ๆ (ปี 2565 ผลไม้เมืองร้อนที่อิตาลีนำเข้า ถูกส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ 12%)
Mr. Pietro Mauro ผู้อำนวยการสมาคมธุรกิจผักและผลไม้ ให้ข้อมูลว่า อิตาลีมีการนำเข้าผลไม้เมืองร้อนขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าที่ท่าเรือเจโนวา (Genova) และท่าเรือลิวอร์โน (Livorno) อันเนื่องมาจากความต้องการของผู้ประกอบการ/ผู้จัดจำหน่ายสินค้าผลไม้เมืองร้อนในอิตาลีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการ/ผู้จัดจำหน่ายดังกล่าวมีศักยภาพ และต้องการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าผลไม้เมืองร้อนในยุโรป และแนวโน้มความต้องการบริโภคผลไม้เมืองร้อนภายในประเทศมีกระแสตอบรับที่ดีมาก โดยท่าเรือเจโนวา หรือที่เรียกว่าท่าเรือเจนัวถือเป็นท่าเรือด้านการค้าระหว่างประเทศของอิตาลีที่มีความสำคัญที่สุด สามารถรองรับปริมาณตู้คอนเทนเนอร์จากทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี ซึ่งใกล้กับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ มีเส้นทางขนส่งเชื่อมต่อที่สะดวกและรวดเร็วไปยังประเทศในแถบตอนกลางของยุโรป โดยเฉพาะสวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส และสโลวีเนีย ในขณะที่ ท่าเรือลิวอร์โนถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอิตาลี และเป็นหนึ่งในท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งอยู่ใกล้ทางตอนกลางอิตาลี โดยสามารถรองรับการขนส่งสินค้าประมาณ 30 ล้านตัน/ปี และจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต (TEU) 700,000 ตู้คอนเทนเนอร์
โดยผลไม้เมืองร้อนที่ผู้ประกอบการในอิตาลีจำหน่ายในตลาดต่างประเทศมากที่สุด คือ กล้วย โดยปี 2566 อิตาลีนำเข้ากล้วยสูงสุดเป็นประวัติการณ์มีปริมาณ 800,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 550 ล้านยูโร และสับปะรด ซึ่งมีปริมาณนำเข้าคงที่เหมือนปี 2565 รวมถึงมีการขยายการนำเข้าผลไม้เมืองร้อนอื่น ๆ เช่น อะโวคาโด มะม่วง และมะพร้าว ซึ่งผลไม้เมืองร้อนเหล่านี้ถูกจำหน่ายไปยังตลาดในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย เป็นต้น และยุโรปตะวันออก สำหรับด้านการค้าผลไม้เมืองร้อนมีแนวโน้มไปตามความต้องการของตลาดในยุโรปที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีผู้ประกอบการหลายรายในภาคอุตสาหกรรมผลไม้เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมผลไม้ เช่น บริษัท Orsero (ตั้งอยู่ในแคว้นลิกูเรีย Liguria) บริษัท Abc (ตั้งอยู่ในกรุงโรม) ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 100 ปีก่อน บริษัท Mcgarlet (ตั้งอยู่ในเมืองแบร์กาโม) บริษัทที่นำเข้าผลไม้เมืองร้อนจาก 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงนำเข้าจากประเทศไทย โดย Ms. Sandra Garletti ผู้บริหาร บริษัท Mcgarlet ให้ข้อมูลว่า บริษัทมุ่งเน้นที่คุณภาพและบริการสำหรับลูกค้ามาโดยตลอด แต่เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น (โดยเฉพาะค่าแรง) ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในระดับสากลลดลง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บริษัทเลือกที่จะมุ่งดำเนินธุรกิจในตลาดผลไม้ในอิตาลี ซึ่งถือเป็นตลาดผลไม้ที่เปิดกว้าง
จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของตลาด (GfK) พบว่า ตั้งแต่ปี 2560 ปริมาณการจำหน่ายผลไม้เมืองร้อนในอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้น +30% ได้แก่ มะม่วง และอะโวคาโด ซึ่งครอบคลุม 68% ของตลาดผักและผลไม้ทั้งหมดในอิตาลี จากข้อมูลของศูนย์บริการผักและผลไม้ (Centro Servizi Ortofrutticoli) พบว่า กล้วยได้กลายเป็นผลไม้ที่แพร่หลายมากที่สุด และเป็นผลไม้ที่มีการบริโภคมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากแอปเปิ้ล รวมถึง อะโวคาโด ซึ่งมีการเติบโตเป็นเลขสองหลักปีต่อปี เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลไม้เมืองร้อนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดในอิตาลี ปัจจุบันครอบครัวชาวอิตาลีมีการซื้อผลไม้เมืองร้อน มีสัดส่วนถึง 48% และผลไม้เมืองร้อนมีวางจำหน่ายตลอดทั้งปีในอิตาลี โดยในอดีตมีการวางจำหน่ายในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาสเท่านั้น
Ms. Cristina Bambini ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ของบริษัท Dole Italia ซึ่งจำหน่ายสินค้าผลไม้สดที่สำคัญในอิตาลี ให้ข้อมูลว่า บริษัทเพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ผลไม้เมืองร้อนใหม่ จำนวน 6 รายการ ได้แก่ อะโวคาโด มะม่วง มะละกอ เสาวรส มะนาว และขิง โดยจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของบริษัท บริษัทมองว่าปัจจุบันการค้าปลีกขนาดใหญ่มีบทบาทสำคัญในการชี้ขาดด้านธุรกิจ เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์กับผลไม้เมืองร้อนตลอดทั้งปี ส่งผลให้ภาคส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเติบโตทั้งในด้านการผลิตและการบริโภค ทำให้ปัจจุบันอิตาลีกลายเป็นประเทศที่มีความเหมาะสมในการดำเนินธุรกิจของสินค้าผลไม้เมืองร้อน ซึ่งช่วยยกระดับชั้นวางจำหน่ายผลไม้เมืองร้อนให้ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้นจากผู้บริโภคในอิตาลี
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1. ปัจจุบันพบว่าผลไม้เมืองร้อนมีวางจำหน่ายในอิตาลีเพิ่มมากขึ้น ไม่เฉพาะในร้านค้าเอเชียเท่านั้น แต่พบว่าในซูเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์ซูเปอร์มาร์เก็ต มีการจำหน่ายผลไม้เมืองร้อนเพิ่มขึ้นเช่นกัน อาทิ มะม่วง ลิ้นจี่ สับปะรด มะขาม มะละกอ แก้วมังกร เสาวรส อะโวคาโด เป็นต้น โดยการบริโภคผลไม้เมืองร้อนในอิตาลีส่วนใหญ่มาจากชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอิตาลี ชาวอิตาเลียนที่เคยเดินทางไปประเทศไทย กลุ่มวัยรุ่นในอิตาลีที่เปิดกว้างให้กับสินค้าจากต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรทางตอนใต้ของอิตาลี เริ่มหันมาเพาะปลูกผลไม้เมืองร้อนเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากทางตอนใต้ของอิตาลีมีภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกับประเทศในเขตเมืองร้อนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมาจากสาเหตุภาวะโลกร้อน ประกอบกับความต้องการบริโภคผลไม้เมืองร้อนในอิตาลีขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากผู้บริโภคสามารถหาซื้อบริโภคได้ตลอดทั้งปี และทดแทนการบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล แต่ทั้งนี้ ผลไม้เมืองร้อนที่เพาะปลูกได้อิตาลี จะมีราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูงกว่าเมื่อเทียบกับผลไม้เมืองร้อนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อจำกัดในขนาดพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเหมาะสม โดยพื้นที่ที่นิยมเพาะปลูกผลไม้เมืองร้อนในอิตาลี คือ แคว้นซิซิลี (Sicily) (มีขนาดพื้นที่ 25,711 ตารางกิโลโมตร) นิยมเพาะปลูกลิ้นจี่ มะม่วง และเสาวรส การที่อิตาลีกลายเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าผลไม้เมืองร้อนในยุโรป อาจทำให้การบริโภคและการนำเข้าผลไม้เมืองร้อนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
2. ปี 2566 ไทยส่งออกผลไม้สดมายังอิตาลี ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง +40.02% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผลไม้สดที่ไทยส่งออกมาอิตาลีมากที่สุด ได้แก่ มะขาม แก้วมังกร ทุเรียน มะม่วง และมังคุด แต่ในขณะที่ ปี 2567 (มกราคม – เมษายน) ไทยส่งออกผลไม้สดมายังอิตาลี ลดลง -32.11% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.8 แสนเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผลไม้สดไทยที่ลดลงดังกล่าว เป็นผลมาจากยังไม่มีคำสั่งซื้อหรือนำเข้ามะพร้าวอ่อนและมะขามจากไทย (ปี 2566 ไทยส่งออกมะขามมายังอิตาลี ปริมาณ 46.46 ตัน มูลค่า 4.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ 4 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกมะขามมายังอิตาลีมีปริมาณเพียง 3 กิโลกรัม มูลค่า 743 เหรียญสหรัฐ) ในขณะที่ การส่งออกมะม่วงสดมายังอิตาลี ยังขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ไทยส่งออกมะม่วงสดมายังอิตาลี ปริมาณ 2 ตัน มูลค่า 0.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว +113.95%
3. สคต. ณ เมืองมิลาน เห็นว่า เพื่อให้การส่งออกผลไม้สดของไทยมายังอิตาลีสามารถกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งได้นั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในด้านคุณภาพ การแข่งขันด้านราคา และระยะเวลาการส่งมอบสินค้า ซึ่งระยะเวลาการส่งมอบสินค้ามีผลต่อการตัดสินใจของผู้นำเข้าค่อนข้างสูง เนื่องจากผลไม้สดถือเป็นสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษา (Shelf life) ที่สั้นมาก รวมถึงจำนวนผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกผลไม้สดมายังอิตาลี/ยุโรป มีจำนวนค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการส่งออกสินค้ามายังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป จะต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่เข้มงวด ขั้นตอนการขออนุญาติต่าง ๆ ที่ค่อนข้างซับซ้อน และใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยที่มีสินค้าที่มีคุณภาพ แต่ยังขาดความพร้อมในด้านการส่งออก เสียโอกาสทางการค้าในตลาดผลไม้สดในอิตาลี/ยุโรปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาช่วงฤดูกาลผลไม้ตามฤดูกาลที่วางจำหน่ายในอิตาลี เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการส่งออกผลไม้สดไทยมาทดแทนผลไม้ตามฤดูกาล
4. เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และช่วยลดภาษีนำเข้าผลไม้เมืองร้อนจากไทย เนื่องด้วยสหภายยุโรป/อิตาลี มี FTA กับหลายประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ และรวมถึงมีการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาที่เป็นแหล่งนำเข้าผลไม้เมืองร้อน
——————————————————————-
ที่มา: 1. https://www.ilsole24ore.com/art/frutta-tropicale-cosi-l-italia-diventa-hub-la-distribuzione-europa-AGwg8IH
2. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
563 ถนน นนทบุรี ตำบล บางกระสอ
อำเภอเมืองนนทบุรี นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-507-7999
สายตรงการค้าระหว่างประเทศ: 1169
ผู้ใช้ที่กำลังออนไลน์ : 1 คน | จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : 6054038 คน
สงวนลิขสิทธิ์ © 2023 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ