นโยบายการแยกตัว (Isolation Policy) ของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อจีนได้สร้างความกดดันให้กับสหภาพยุโรป (EU) อย่างหนัก ถึงขนาดที่นักเศรษฐศาสตร์และตัวแทนภาคธุรกิจออกมาเตือนถึง “ภาวะจีนช็อกโลก (China Shock)” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมวิศวกรรมเครื่องกลผู้ผลิตกังหันลม และอุตสาหกรรมยานยนต์ เหล่านี้ล้วนเป็นธุรกิจหลักที่ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมากเป็นพิเศษ นาย Moritz Schularick ประธานสถาบันเศรษฐกิจโลก (Ifw – Institut für Weltwirtschaft) ได้กล่าวต่อหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า “ภาวะจีนช็อกโลกได้คืบคลานเข้าใกล้บางธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ และในบางธุรกิจก็เริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว” เหตุผลก็คือ จีนมีกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมหลัก (Key Technology) สูงมาก ซึ่งสหรัฐฯ ไม่พร้อมที่จะรับสินค้าที่ผู้ผลิตในจีนผลิตจนล้นตลาดได้อีกต่อไป นาย Joe Biden ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศว่า จะขึ้นภาษีสินค้าจีนจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น อัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 100% ซึ่งประเด็นได้สร้างแรงกดดันต่อคณะกรรมาธิการ EU ในการปกป้องตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นด้วย คณะกรรมาธิการฯ ได้เริ่มตรวจสอบการต่อต้านนโยบายเงินอุดหนุนจากประเทศที่สามในภาคส่วนธุรกิจต่าง ๆ แล้ว ซึ่งในกรณีรถ EV จากจีน คาดว่า คณะกรรมาธิการEU จะออกมาประกาศผลการตัดสินภายใน 6 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่า อัตราภาษีในอนาคตของรถ EV จากจีนน่าอยู่ระหว่าง 25-40% ภาคเอกชนของเยอรมันได้ออกมาผลักดันให้มีการคุ้มครองบริษัทในท้องถิ่นอีกด้วย โดยนาย Karl Haeusgen ประธานสมาคมผู้สร้างเครื่องจักรและโรงงานเยอรมนี (VDMA -Verband Deutscher Maschinen- und Anlagenbau) ได้เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า “นี่เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ซึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจจะมีผู้ผลิตจากจีนเพียงเจ้าเดียวในด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ เช่น การผลิตพลังงาน และอาจจะไม่มีผู้ผลิตในยุโรปอีกต่อไปเลยก็ได้”

 

ในช่วงต้นทศวรรษปี 2000 สหรัฐฯ ได้ประสบกับสถานการณ์ “China Shock” หลังจากที่จีนได้เข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้มีสินค้าราคาถูกของจีนจำนวนมากไหลเทไปสู่สหรัฐฯ จนทำให้บริษัทหลายแห่งในสหรัฐฯ ไม่สามารถรักษาระดับราคาไว้ได้ ส่งผลให้ต้องประกาศล้มละลายไปตาม ๆ กัน สูญเสียตำแหน่งการจ้างงานไปหลายล้านตำแหน่ง ผลที่ตามมาก็คือ สหรัฐฯ ประสบปัญหาการหดตัวในภาคอุตสาหกรรม (Deindustrialization) ซึ่งผล กระทบดังกล่าวได้ส่งผลให้เห็นได้ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ค่าความนิยมของนักการเมืองแบบ America First” อย่างนาย Donald Trump เป็นต้น เนื่องจากกำลังการผลิตที่จีนสร้างขึ้นจนล้นตลาดเกินความต้องการจำนวนมหาศาล ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ จึงกลับมากลัวที่จะเกิด “China shock 2.0” ขึ้นอีกครั้ง นาง Janet Yellen รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้กล่าวในระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งครั้งล่าสุดว่า “เราเคยประสบกับปัญหานี้มาก่อน ซึ่งทั้งประธานาธิบดีและกระผมก็ไม่ต้องการที่จะให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง” ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Biden จากพรรคเดโมแครตและนาย Trump ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกันกำลังแข่งขันกันด้านนโยบายที่เป็นประโยชน์กับแรงงานในประเทศ นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลสหรัฐฯ จึงวางแผนที่จะปรับภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แน่นอนที่นโยบายเหล่านี่จะส่งผลโดยตรงต่อ EU นาย Bernd Lange สังกัดพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) ประธานคณะกรรมการด้านการค้าในรัฐสภาสหภาพยุโรปกล่าวว่า “การเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้า 100% เป็นเพียงการกีดกันทางการค้าเท่านั้น” นโยบายการแยกตัวของตลาดอเมริกาจะเพิ่มแรงกดดันต่อบริษัทในยุโรปขึ้นไปอีก นาย Haeusgen ประธาน VDMA ยังเตือนด้วยว่า มีความเสี่ยงที่จีนจะเปลี่ยนเส้นทางการบุกตลาดจากสหรัฐอเมริกาไปยังยุโรปแทน

 

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดคือ สาเหตุที่ว่า ทำไมยุโรปจึงมีความกังวลใจมากขึ้น ในการพบปะกับนายสี จิ้น ผิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรุงปารีส ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นาย Olaf Scholz นายกรัฐมนตรีเยอรมันและหัวหน้าพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) พร้อมกับนาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และนาย Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้กล่าวถึงปัญหานี้อย่างเร่งด่วน แต่นาย สี จิ้นผิง เพิกเฉยต่อข้อกังวลของ EU และได้กล่าวในการพบปะกับนาย Macron และนาง ฟอน von der Leyen ที่กรุงปารีสว่า ในมุมมองของจีนแล้วความสำเร็จในการส่งออกของประเทศเป็นผลมาจากความแข็งแกร่งทางด้านการแข่งขันของบริษัทในประเทศจีน ที่มีความเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง และจีนไม่มีปัญหาเรื่องกำลังการผลิตจนล้นตลาด โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกร้องให้สหรัฐฯ “ปฏิบัติตามกฎของ WTO ยกเลิกภาษีเพิ่มเติมทั้งหมดต่อจีน และไม่กำหนดอัตราภาษีใหม่” โดยเขากล่าวเสริมว่า “แน่นอนที่จีนจะใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตน”

 

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกำลังละอุขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นช่วงสงครามที่เข้ามาซ้ำเติมยุโรปที่กำลังดิ้นรนอย่างหนักอยู่แล้ว โดยทิศทางการค้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่เส้นทางที่จะสามารถสร้างความเสียหายให้กับสหภาพยุโรปมากกว่าที่จะสร้างประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเยอรมนีได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้หนักเป็นพิเศษ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทประกันภัย Allianz ได้ออกมาโต้แย้งผ่านรายงานการวิจัย โดยรายงานฉบับนี้ได้รับความสนใจอย่างมากในสภายุโรปในกรุงบรัสเซลส์ โดยในรายงานดังกล่าวเขียนไว้ว่า “ในขณะที่ทั้ง 2 ประเทศเคยเป็นหุ้นส่วนที่เกื้อกูลกันอย่างแข็งแกร่งมาโดยตลอด การแข่งขันทางอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นนี้กำลังคุกคามภาคการผลิตของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ครั้งหนึ่งเยอรมนีเคยดำรงตำแหน่งผู้นำมาโดยตลอด” นาย Ludovic Subran หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Allianz กล่าว ส่วนแบ่งการส่งออกทั่วโลกของจีนในอุตสาหกรรมที่สำคัญ (key technology) เช่น เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ปัจจุบันจีนมีส่วนแบ่งการส่งออกสินค้าดังกล่าวมากกว่าของเยอรมนีแล้ว จนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจเยอรมนีประสบความสำเร็จกับความเจริญรุ่งเรืองของจีน (China Boom) แต่ตอนนี้ก็กำลังถูกคุกคามจาก China shock เช่นกัน

 

จาก Handelsblatt 14 มิถุนายน 2567

thThai